"นิกร" ขอ "กกต." แบ่งเขตเลือกตั้งมีจำนวนราษฎรห่างไม่เกิน10%

"นิกร" ขอ "กกต." แบ่งเขตเลือกตั้งมีจำนวนราษฎรห่างไม่เกิน10%

"นิกร" เชื่อ "กกต." คลอดโมเดลแบ่งเขตเลือกตั้ง-ฟังเสียงพรรคการเมือง พร้อมวอนให้ฟังข้อเสนอกมธ.ทำกฎหมายลูก เสนอแบ่งเขต มีจำนวนราษฎรห่างกันไม่เกิน10%

         นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีการเผยแพร่ตารางคำนวณส.ส.ตามรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2564 ตามฐานข้อมูลราษฎร 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 400 เขต ว่า ตนเชื่อว่าข้อมูลดังกล่าวจะเป็นฐานที่ คณะกรรมการการเลือกกตั้ง (กกต.) นำไปกำหนดเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งในแต่ละพื้นที่  เพราะเมื่อทราบถึงข้อมูลจำนวนประชากร ที่ชัดเจนตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยแล้ว จึงนำไปคำนวณตามจำนวนเขตที่มี คือ 400 เขต เท่ากับว่าในแต่ละเขตจะมีจำนวนประชากรเท่ากับ 1.65 แสนคน หลังจากนี้เชื่อว่ากกต.จะออกแบบเขตเลือกตั้ง และถามความเห็นจากพรรคการเมือง

 

         นายนิกร กล่าวอีกว่า ตนเชื่อว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งจะทำได้เร็ว และไม่มีปัญหา และคาดหวังว่า กกต.​จะรับฟังและนำข้อสังเกต ของอดีตคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ซึ่งกมธ.คณะดังกล่าวมีผู้แทนของสำนักงานกกต. ร่วมเป็นกมธ.ด้วย ที่เคยกำหนดไว้ในร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 6 ซึ่งแก้ไขมาตรา 26(5) ว่า  การแบ่งเขตเลือกตั้งต้องแบ่งพื้นที่ให้มีเขตติดต่อกันและจำนวนราษฎรแต่ละเขตใกล้เคียงกัน โดยกำหนดให้ผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งไม่เกิน  10%  แม้ว่าร่างกฎหมายลูกของกมธ.จะไม่ผ่านชั้นพิจารณาของสภาฯ ก็ตาม

         “ผมเชื่อว่ากกต.มีบทเรียนจากการแบ่งเขตเลือกตั้งเมื่อปี 2562 และทราบถึงปัญหาที่กมธ.วิสามัญซึ่งประกอบด้วยทุกพรรคการเมืองและส.ว.สะท้อนในชั้นกมธ.แล้ว จึงเชื่อว่าในทางพฤตินัย กกต.จะรับฟังและนำไปปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา เช่นการฟ้องร้องกกต. เป็นต้น” นายนิกร กล่าว

         นายนิกร กล่าวด้วยว่านอกจกากนั้นยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับประเด็นการจัดทำบัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขต  ของกมธ. ระบุว่า หมายเลขประจำตัวผู้สมัครและช่องทำเครื่องหมายต้องแบ่งเป็น 2 แถวหรือ 3แถวในแนวตั้ง แล้วแต่จำนวนผู้สมัคร โดยต้องทำให้ผู้ใช้สิทธิไม่สับสนในการทำเครื่องหมายลงคะแนน ว่าเป็นช่องลงคะแนนหรือช่องหมายเลขผู้สมัคร.