"ชลน่าน" จี้ "สธ." แก้ปัญหาชะลอจ่ายงบ "สปสช." ชี้กระทบปชช.13.5ล้านคน
"เพื่อไทย" ค้านมติบอร์ด สปสช.ชะลอจ่ายงบสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค กลุ่มประกันสังคม สิทธิข้าราชการ-รัฐวิสาหกิจ กระทบคนไทย 13.5 ล้าน ‘ชลน่าน’ ชี้เร่งหาทางออก จ่อนำประเด็นอภิปรายทั่วไป หากไม่แก้ไข
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงที่พรรคเพื่อไทย ต่อกรณีมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ชะลอการจ่ายเงินงบประมาณสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในส่วนของประชาชนที่ไม่ใช่สิทธิบัตรทอง เนื่องจากมีข้อทักท้วงทางกฎหมาย เมื่อ 14 ธันวาคม 2565 ว่า กรณีดังกล่าวทำให้เกิดผลกระทบกับงบประมาณสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค งบป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี งบประมาณระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง และกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่เฉพาะส่วนของผู้ที่ไม่ได้ใช้สิทธิบัตรทองถูกชะลอไม่มีกำหนด ทั้งการฉีดวัคซีนที่จำเป็นและสำคัญในเด็ก, การให้ยาป้องกันในกลุ่มผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี, การให้ยายุติการตั้งครรภ์ และการให้ถุงยางอนามัย
"หาก สปสช.กังวลเรื่อง ข้อทักท้วงทางกฎหมาย ก็ควรทำให้เกิดความชัดเจน แต่ต้องไม่สร้างผลกระทบต่อคนจำนวนมากมายเช่นนี้ โดยจัดให้บริการไปพลางก่อนเหมือนที่ได้ปฏิบัติมาเป็นเวลา 10 กว่าปี ระหว่างรอการพิจารณาทางกฎหมาย" นพ.ชลน่านกล่าว
นพ.ชลน่าน ยังเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. รีบจัดสรรงบไปยังสถานบริการให้เร็วที่สุดตามขั้นตอนและวิธีการเดิมไปก่อน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชน รวมถึงเร่งพิจารณาข้อกฎหมาย โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาต้องรีบชี้ชัดในข้อกฎหมายโดยเร็ว พร้อมกับให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพิจารณาว่าการชะลอการจ่ายเงินส่วนนี้เป็นการละเมิด พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 หรือไม่
“การชะลอจ่ายประมาณส่วนนี้ไป รวมแล้ว 514 ล้านบาท กระทบกับพี่น้องประชาชน 13.5 ล้านคน สิ่งที่เกิดขึ้นจากการตีความของคณะที่ปรึกษาทางกฎหมายที่มีข้อสังเกตจึงส่งไปให้คณะกฤษฎีกาตีความ ทั้งที่งบประมาณส่วนนี้ดำเนินการกันมาตั้งแต่ปี 2545 โดยไม่มีปัญหา อีกทั้งงบก้อนนี้อยู่ในงบประมาณปี 2566 ซึ่งผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไปแล้ว ถ้าไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ รอการอภิปรายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 เลย” นพ.ชลน่าน กล่าว
ขณะที่ นายชานันท์ ยอดหงส์ สมาชิกพรรคเพื่อไทยและผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลาย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวสร้างผลกรระทบกับประชาชน โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อเอชเอวีที่ต้องได้รับยาเพร็พ กับยาเป็ป ซึ่งยาเป็บ (PEP) คือยาที่ป้องกัน HIV หลังจากได้สัมผัสเชื้อแล้วหรือยาต้านฉุกเฉิน
"ประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ที่ไม่อนุญาตให้หน่วยบริการที่ไม่ใช่โรงพยาบาลจ่ายยาเพร็พและยาเป็บ ให้กับประชาชน ทำให้คลินิกและศูนย์สุขภาพภาคประชาสังคมต้องยุติการให้ยา โดยสถิติการจ่ายยาของภาคประชาสังคมในปี 2565 มีผู้รับยาเพร็พจากมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ 6,600 กว่าคนในปี 2565 คลินิกนิรนาม 2,700 กว่าคน และสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย 6,500 กว่าคน ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกที่นำยาเพร็พเข้ามาป้องกันการแพร่ระบาด และลดความเสี่ยงของผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่" นายชานันท์ กล่าว