ไขรหัส บิ๊กตู่ “จำเป็นต้องอยู่” รอ“กติกา” ยื้อนาน “ได้ไม่คุ้มเสีย"
คำว่า "จำเป็นต้องอยู่" ของ "บิ๊กตู่" ในจังหวะที่เป็น นาทีปลายเทอมของรัฐบาล ก่อนจะเลือกตั้ง ถูกมองในเกมความได้เปรียบของ "รวมไทยสร้างชาติ" ที่มีความพร้อม แต่สิ่งที่ต้องรอ คือ กติกาเลือกตั้ง ประกาศใช้
“ถ้าจำเป็นต้องอยู่ ก็ต้องอยู่ให้ครบ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ตอบคำถามสื่อมวลชน เมื่อ 11 มกราคม 2565 กรณีจะบริหารประเทศจนครบเทอมหรือไม่
กลายเป็นคำพูด ที่ถอดรหัสสัญญาณว่า "จะเป็นจริงใช่หรือไม่?”
ต้องยอมรับว่า การอยู่ครบเทอม ถึง 23 มีนาคม 2566 มีผลผูกพันกับอนาคตของ “นักเลือกตั้ง” ที่ต้องการย้ายสังกัด หรือ เปลี่ยนขั้วทางการเมือง เพราะหาก “ประยุทธ์” เลือกอยู่ครบเทอม การเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป ต้องเกิดขึ้น 7 พฤษภาคม 2566 ตามโรดแมปของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)
นักการเมืองที่จะลงเลือกตั้ง ต้องมีคุณสมบัติสำคัญคือ "เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพียงพรรคการเมืองเดียว เป็นเวลา 90 วันต่อเนื่องจนถึงวันเลือกตั้ง”
หากนับปฏิทินแล้ว วันสุดท้ายที่ต้อง “ย้ายหรือแสดงสังกัดพรรค" ที่ชัดเจนแน่นอน เพื่อพร้อมลงเลือกตั้ง คือวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566
ห้วงเวลาดังกล่าวนั้น มีความสัมพันธ์อย่างสำคัญต่อ “ผลการเลือกตั้ง” เพราะยิ่งเปิดตัวลงสนามช้า ยิ่งถูก “คู่แข่ง” ชิงความได้เปรียบ
โดยเฉพาะ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ที่เป็นตัวเลือกของ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนั่งร้านเข้าสู่อำนาจทางการเมือง
หากพิเคราะห์ตามกติกาที่เกี่ยวกับเลือกตั้งแล้ว จะพบว่าหากยื้อไปจนครบวาระ “พรรคประยุทธ์และผองเพื่อน” อาจได้ไม่คุ้มเสีย เพราะ
1.ผู้มีสิทธิลงเลือกตั้ง ต้องสังกัดพรรคไม่น้อยกว่า 90 วัน
2.ระยะการเลือกตั้ง ต้องจัดไม่เกิน 45 วันนับจากวันยุบสภา ซึ่งน้อยกว่า หากชิงยุบสภา
ซึ่งการ “ยุบสภา” อาจจะสร้างความได้เปรียบมากกว่า ในการเตรียมตัวสู้เลือกตั้ง เพราะผู้จะลงเลือกตั้งต้องเข้าสังกัดพรรคแค่ 30 วัน และระยะเวลาจัดการเลือกตั้ง มีห้วงที่ยาวกว่า คือไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน
ดังนั้นหากจะไปสู้ในสนามเลือกตั้ง ยังมีจังหวะได้ จังหวะเสีย ในสมรภูมิเลือกตั้งที่ยาวนานกว่า โอกาสการลงพื้นที่เพื่อพบปะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เปิดตัวนโยบายหรือ ยังมีมากพอที่จะทำให้ได้เปรียบในการเลือกตั้ง
ทว่า หากพิจารณาถึง “ความจำเป็น” ต้องอยู่ต่อ ของ “บิ๊กตู่” นัยทางการเมืองอาจจะมีแค่ว่า รอ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง(พ.ร.ป.) ส.ส. และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ประกาศใช้ เพราะทั้ง 2 ฉบับนั้น มีสาระที่เป็น “คีย์เวิร์ด” ที่พรรคการเมือง - นักเลือกตั้ง ต้องปฏิบัติให้ชัดเจน ก่อนจะลงสมัครรรับเลือกตั้งได้
โดยเฉพาะกระบวนการ “ไพรมารี่โหวต” ที่ตามร่างกฎหมายพรรคการเมือง กำหนดให้ต้องมีกระบวนการสรรหาผู้สมัคร ส.ส. ผ่านกลไกของ “กรรมการประจำจังหวัด” ที่ร่างกฎหมายให้อำนาจเป็นผู้เห็นชอบ “รายชื่อที่พรรคจะส่งเลือกตั้ง ทั้งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ” ก่อนจะให้กรรมการบริหารพรรคลงความเห็นในขั้นตอนสุดท้าย
หากพรรคใดไม่ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายใหม่กำหนด มีสิทธิ์ที่จะถูกร้องว่า “ทำไม่ครบขั้นตอน” และชื่อผู้สมัครที่ส่งลงเลือกตั้ง อาจเป็นโมฆะ และทางที่เลวร้ายสุดคือ "ถูกตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง” หากเกินเวลาที่ กกต.เปิดรับสมัคร
กลไกและกระบวนการที่ว่านี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรอให้ “ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง” ประกาศให้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ หลังจากที่ “คณะรัฐมนตรี” ส่งเข้ากระบวนการประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้วเมื่อ 16 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา
ดังนั้น จึงมีการคาดการณ์ว่า ระยะเวลารอกฎหมายลูกประกาศใช้ กับห้วงที่สภาฯ จะครบอายุ มีความสัมพันธ์ และคาบเกี่ยวกัน พอที่จะทำให้การชิงความได้เปรียบในการเลือกตั้งนั้น มีแนวโน้มไปที่ “ยุบสภา” มากกว่า รอให้ครบวาระ
ส่วนที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ตอบคำถามผู้สื่อข่าว ว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดินนั้น เป็นเพียงแค่การให้ คำตอบในเชิงหลักการ แต่ในทางปฏิบัติจริง ไม่ได้เป็นเช่นนั้น.