“สามมิตร”เลือกข้าง“ประวิตร” จับสัญญาณ 2 ป. แยกขั้ว
เริ่มมีกระแสว่า “สมศักดิ์-สุริยะ” ได้แสดงเจตจำนงชัดเจนแล้วว่า ขออยู่กับ “ประวิตร-พปชร.” ต่อไป เนื่องจากประเมินแล้วว่ามีโอกาสจะกลับมาเป็น “รัฐบาล” ได้มากกว่า “ประยุทธ์-รทสช.”
เงื่อนเวลาการเลือกตั้ง ขมวดเข้ามาทุกที ทำให้กลุ่ม-ก๊วนการเมืองต้องแสดงความชัดเจนว่า จะสังกัดพรรคเดิม หรือย้ายซบพรรคการเมืองอื่น ไม่เช่นนั้นจะไม่มีพื้นที่ให้ลงสนามเลือกตั้ง
เช่นเดียวกับ “กลุ่มสามมิตร” แม้จะเหลือเพียง สองมิตร ประกอบด้วย “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.ยุติธรรม “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.อุตสาหกรรม แต่บรรดาเครือข่าย-ลูกทีมยังเหนียวแน่นกลมเกลียว การันตี ส.ส.ในพื้นที่รับผิดชอบเข้าสภาได้ค่อนข้างชัวร์
เมื่อ 2 ลุง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แยกทางสร้างดาวคนละดวง โดย “ประยุทธ์” เปิดตัวสมัครสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ทำให้ “สมศักดิ์-สุริยะ” ต้องเลือกข้าง
ก่อนหน้านี้ “สองมิตร” เอนเอียงมาทาง “ประยุทธ์” โดยเป็นหัวขบวนในการโค่น “ผู้กองมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ให้พ้นจากแผงอำนาจภายในพรรคพลังประชารัฐ ทำให้ “สมศักดิ์-สุริยะ” มีแนวโน้มจะย้ายไปร่วม “ทีมประยุทธ์”
แต่วัน ว. เวลา น. ยังมาไม่ถึง ส่งผลให้ “สองมิตร” เล่นบทแทงกั๊ก ไม่ปรากฏตัวชัดเจนว่า จะอยู่ข้าง “ประยุทธ์” หรือข้าง “ประวิตร” ขอประเมินสถานการณ์ทางการเมือง ประเมินโอกาสที่จะได้กลับเข้าสู่แผงอำนาจ หากฝั่งไหนมีภาษีมากกว่า “สองมิตร” จะเลือกฝั่งนั้น
แม้ “สมศักดิ์” จะชอบสไตล์การบริหารงานของ “ประยุทธ์” ที่ไม่ก้าวก่ายงานกระทรวงยุติธรรมแม้แต่นิดเดียว ขนาดกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่อยู่ในความดูของนายกฯ ยังปล่อยให้เจ้ากระทรวงบริหารจัดการด้วยตัวเอง
แตกต่างจากสไตล์ของ “ประวิตร” ที่มักจะมี “มือมืด” มาอ้างชื่อนาย เพื่อเข้ามาบริหารจัดการงานภายในกระทรวง ทั้งการแต่งตั้งโยกย้าย และการอนุมัติโครงการบางส่วน จน “สมศักดิ์” ไม่พอใจ
เมื่อสไตล์การทำงานของ “2 ลุง” ที่แตกต่าง หนึ่งลุงให้เกียรติ หนึ่งลุงมีลูกน้องมากล่าวอ้างนาย ทำให้ “สมศักดิ์” ต้องขบคิดอย่างรอบคอบ ก่อนประเมินทางเลือก ทางรอด และอนาคตการเมือง
มีกระแสข่าวว่า ช่วงปลายปี 2565 “สมศักดิ์-สุริยะ” รวมถึง “วราเทพ รัตนากร” แกนนำกลุ่มกำแพงเพชร ซึ่งติดสอยห้อยท้ายร่วมขบวนกับ “สองมิตร” นัดหารือกันในทริปนอกประเทศ ที่ออสเตรเลีย ถึงทางเลือกว่าจะอยู่กับ “ประวิตร” หรือไปกับ “ประยุทธ์” แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะยังพอมีเวลาให้ตัดสินใจ
จากนั้น เริ่มมีข่าวปล่อย “สุริยะ”จะขอแยกทางกับ“สมศักดิ์” เพื่อแบ่งบทกันเล่น ก่อนจะมาแท็กทีมกันในภายหลัก โดย “สุริยะ”จะร่วมทีมประยุทธ์เข้าสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ ขณะที่“สมศักดิ์”ปรากฏร่องรอย ถ่ายโอนกำลังบางส่วนไปยังพรรคเพื่อไทย
ปฏิบัติการแบ่งกันบทกันเล่น ทำให้คอการเมืองจับทางไม่ติด เดาทางไม่ออก ว่า “สองมิตร” จะเลือกเส้นทางไหน ทำได้แค่ร้องเพลงรอความชัดเจนจากเจ้าตัว
ทว่า ช่วงต้นปี 2566 เริ่มมีกระแสว่า “สมศักดิ์-สุริยะ” ได้แสดงเจตจำนงชัดเจนแล้วว่า ขออยู่กับ “ประวิตร-พปชร.” ต่อไป เนื่องจากประเมินแล้วว่ามีโอกาสจะกลับมาเป็น “รัฐบาล” ได้มากกว่า “ประยุทธ์-รทสช.”
เพราะยี่ห้อ “ประวิตร” สามารถจับมือกับพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลได้ ที่สำคัญ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับ “หลังบ้านป่ารอยต่อ” หากต้องอาศัยเสียง ส.ว. ช่วยโหวตอาจจะพึ่งพาอาศัยกันได้ แตกต่างจาก “ประยุทธ์” ที่ไม่อยู่ในสมการของ “ทักษิณ-เพื่อไทย”
การตัดสินใจนาทีสุดท้ายของ “สมศักดิ์-สุริยะ” จึงเทน้ำหนักไปที่ “ประวิตร-พปชร.” โดยการประชุมพรรคพปชร.เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา “สุริยะ-อนุชา-วราเทพ” ควงลูกทีมเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ขาด “สมศักดิ์” คนเดียวเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังปรากฏความเคลื่อนไหวของ “สรวุฒิ เนื่องจำนงค์” ส.ส. ชลบุรี เด็กในสังกัดทีมสองมิตร ที่เคยทำศึกแย่งพื้นที่เมืองชลกับ “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน อดีต ผอ.พรรค จึงตอกย้ำชัดเจนว่า “สมศักดิ์-สุริยะ” เลือกอยู่กับบ้านป่ารอยต่อ แม้ที่ผ่านมา จะไม่มีบทบาทการนำในพรรค แต่อาจจะมีการเคลียร์ใจกันแล้ว
บทสรุปของ “สมศักดิ์-สุริยะ” แทงหวยเลือกข้างอยู่กับ “ประวิตร-พปชร.” เพราะการันตีถึงโอกาสอยู่ร่วม “ขั้วรัฐบาล”ในสมัยหน้า
จึงน่าจับตาว่า ผลงานในการเลือกตั้งครั้งหน้า จะทำให้“สองมิตร”กลับมาผงาดใน พปชร.ได้มากน้อยแค่ไหน