การเมืองโลกจะไม่เหมือนเดิม เมื่อ ‘สหรัฐ-จีน’ ฝังรอยร้าวลึก
ความตึงเครียดระหว่าง ‘สหรัฐ’ และ ‘จีน’ เริ่มปะทุร้าวมากขึ้น ล่าสุด.. สหรัฐและญี่ปุ่นตั้งโต๊ะแถลงความร่วมมือด้านการทหาร โดยญี่ปุ่นแถลงว่า อิทธิพลจีนท้าทายยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่สุดในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งเรื่องนี้สร้างความไม่พอใจให้กับจีนเป็นอย่างมาก
ดูเหมือนว่าความตึงเครียดระหว่าง ‘สหรัฐ’ และ ‘จีน’ รวมไปถึงชาติพันธมิตรของทั้งสองประเทศจะร้าวหนักมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อแต่ละประเทศเริ่มเสริมเขี้ยวเล็บทางการทหารของตัวเองให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นสัปดาห์ที่สะท้อนชัดถึงความวุ่นวายเหล่านี้ เมื่อทั้ง 2 ประเทศ ประกาศความร่วมมือในการเสริมศักยภาพทางการทหารร่วมกัน หลังจากที่ญี่ปุ่นเริ่มกังวลอย่างหนักเกี่ยวกับภัยความมั่นคงจากจีนและรัสเซีย ที่เดินหน้ารุกรานยูเครน
การแถลงข่าวร่วมกันระหว่าง สหรัฐ และ ญี่ปุ่น นำโดย แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศ และ ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐ ที่ร่วมกับ โยชิมาสะ ฮายาชิ รัฐมนตรีต่างประเทศ และ ยาสุกาซุ ฮามาดะ รัฐมนตรีกลาโหมญี่ปุ่นที่กรุงวอชิงตัน ระบุอย่างชัดเจนว่า อิทธิพลจีน ที่เพิ่มมากขึ้นเป็นความท้าทายทางยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่สุดในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และนอกภูมิภาค พร้อมประกาศว่า ญี่ปุ่นจะเสริมสร้างการป้องกันตัวเองให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ต้องบอกว่า การแถลงข่าวในครั้งนี้ สร้างความไม่พอใจให้กับจีนอย่างมาก เพราะทันทีที่สหรัฐและญี่ปุ่นตั้งโต๊ะแถลงความร่วมมือทางทหารดังกล่าว จีนก็ออกแถลงการณ์เตือนในทันทีว่า การยกระดับความร่วมมือทางทหารระหว่างสหรัฐและญี่ปุ่น ไม่ควรทำลายผลประโยชน์ของชาติที่ 3 หรือทำลายสันติภาพในภูมิภาค
...แน่นอนว่า ความตึงเครียดเหล่านี้ไม่ได้จบเพียงแค่การทหารอย่างเดียว เพราะท้ายสุดแล้วย่อมสั่นสะเทือนไปถึงภาคเศรษฐกิจอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
นอกจากเรื่องการทหารที่สะท้อนภาพการแบ่งแยกออกเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจนมากขึ้นแล้ว ในมุมของเศรษฐกิจเองก็เริ่มที่จะเห็นภาพเหล่านี้เช่นกัน ประเด็นเหล่านี้สร้างความกังวลให้กับองค์กรเศรษฐกิจหลายๆ แห่ง ซึ่งล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ออกรายงานเรื่องดังกล่าวที่เพิ่งจะเผยแพร่เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุว่า การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจที่เริ่มรุนแรงขึ้นทั่วโลก ซึ่งแตกต่างจากระบบโลกาภิวัตน์ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา อาจทำให้ตัวเลข GDP โลกได้รับผลกระทบที่หนักถึง 7% โดยที่บางประเทศผลกระทบเหล่านี้อาจรุนแรงถึงระดับ 8-12% หากมีการแบ่งแยกทางเทคโนโลยีร่วมด้วย
ไอเอ็มเอฟ ยังระบุด้วยว่า แม้ในกรณีที่เศรษฐกิจโลกจะแบ่งขั้วกันในวงจำกัด ก็ยังอาจกระทบต่อ GDP โลกที่ลดลงราว 0.2% ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟ ยังบอกอีกว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าที่แน่นแฟ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ช่วยให้ปัญหาความยากจนลดลงไปมาก ดังนั้นการค้าที่อาจถูกแยกออกจากกันจะส่งผลกระทบต่อประเทศรายได้น้อยและผู้บริโภคที่มีรายได้ต่ำในประเทศพัฒนาแล้วมากที่สุด
แม้ ไอเอ็มเอฟ จะออกมาเตือนเรื่องดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง แต่ดูเหมือนมหาอำนาจของโลกไม่ได้สนใจเสียงเตือนเหล่านี้เลย เราเห็นว่าในปีนี้ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์หรือการเมืองโลกดูจะยิ่งร้าวหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกการเคลื่อนไหวของสหรัฐและจีนจึงไม่ควรกะพริบตา!