“ส.ว.” ตอกลิ่มขัดแย้ง โละ 8 ปี เอื้อ “ประยุทธ์"
วาระเสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา158 ว่าด้วย วาระ8ปีนายกฯ มองเป็นอื่นไม่ได้ว่า กลไก ส.ว.ข้าง "ประยุทธ์" กำลังทำงาน หวังพลิกแต้มบวกให้กับ "รวมไทยสร้างชาติ"ในสนามเลือกตั้ง ขณะเดียวกันคือการตอกลิ่มขัดแย้ง
ความชัดเจนของ “ส.ว.” ที่แสดงท่าทีเลือกข้าง มีปรากฏให้เห็นเพิ่มมากขึ้น ไม่ต่างจาก “ส.ส.-นักการเมือง” ที่เคลื่อนไหว ย้ายขั้ว-ย้ายพรรค
โดยเฉพาะมุมความคิด ที่ต้องการเป็นนั่งร้านสนับสนุน “คณะรัฐประหาร” ให้ “สืบทอดอำนาจ” ได้ต่อไป แม้จะพ้นห้วง “ประชาธิปไตย” ระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปี หลังจากมีรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ ผ่านกลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ ที่จำกัดวาระนายกฯ ไว้เพียง 8 ปี
แม้เรื่องนี้ ส.ว.หลายคนจะบอกว่า เป็นเพียงการหารือในขั้นตอนศึกษาของ กรรมาธิการการพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มี “เสรี สุวรรณภานนท์” เป็นประธาน กมธ. ซึ่งหยิบยกผลการศึกษาของสถาบันพระปกเกล้า ว่าด้วย “การปรับปรุงโครงสร้างและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูป” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อกันยายน 2565 มาพิจารณาและต่อยอด
ทว่า มีคำสารภาพของ ส.ว.หลายคนที่ ระบุว่า ส.ว.ชุดที่ “คณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ” ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้แต่งตั้ง ย่อมมีความสัมพันธ์ตามการอุปถัมภ์ของแต่ละสาย เมื่อน้องพี่แยกทางการเมือง ส.ว.ย่อมแตกแถว และแยกไปตามสายการอุปถัมภ์
ดังนั้น การยกประเด็น แก้ไขมาตรา 158 เพื่อโละการจำกัดวาระ 8 ปีของนายกฯ จึงมองเป็นอื่นไม่ได้
นอกจากเป็นความตั้งใจของ ส.ว.ฝั่งสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องการสร้างประเด็น เพื่อขยายผลในทางการเมือง โดยเฉพาะช่วง "หาเสียงเลือกตั้ง”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์นายกฯ ฐานะสมาชิก และแคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นว่าที่นายกฯ ที่มีชนักปักหลัง ปมการดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ให้เริ่มนับวาระนายกฯ ประยุทธ์ ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศ คือ 6 เมษายน 2560
หาก “พรรครวมไทยสร้างชาติ” สามารถก้าวข้ามคู่แข่งพา “ประยุทธ์” กลับนั่งในตำแหน่งนายกฯ ได้ต่อ เป็นครั้งที่ 3 จะเท่ากับว่า มีเวลาดำรงตำแหน่งที่น้อยกว่า “แคนดิเดตนายกฯ” ของพรรคการเมืองอื่น
ดังนั้นประเด็น "นายกฯไม่ครบเทอม” จึงอาจเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ “ประยุทธ์-พรรครวมไทยสร้างชาติ” ถูกด้อยค่าในสนามการเมือง
ทำให้ค่ายกลในฝ่ายนิติบัญญัติที่สวามิภักดิ์ “คสช.สายประยุทธ์” จึงต้องสร้างประเด็นเพื่อพลิกคะแนนให้เป็นบวกมากที่สุด
อย่างไรก็ดี เมื่อพลิกดูเนื้อหาในชุดการศึกษาของสถาบันพระปกเกล้า ว่าด้วยประเด็นสำคัญที่พึงมี และควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในบทว่าด้วยคณะรัฐมนตรี ที่ ผศ.ดร.เกวลิน ต่อปัญญาชาญ นักนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช(มสธ.) ศึกษา พบว่า ประเด็นการกำหนดระยะเวลาดำรงตำแหน่งของนายกฯ นั้น
ไม่มีความใดที่ระบุให้ “ยกเลิกการจำกัดวาระ” มีเพียงข้อเสนอให้กำหนด "จุดเริ่มนับ” วาระการดำรงตำแหน่งให้ชัดเจน
พร้อมแนะให้วิเคราะห์หลักการและเจตนารมณ์ ของมาตรา 158 วรรคสี่ ที่ว่า ต้องการป้องกันการครอบงำทางการเมืองของกลุ่มผลประโยชน์ ป้องกันไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งหลงอำนาจ ที่นำไปสู่ “พฤติกรรมเผด็จการ”
รวมถึงเสนอให้รับฟังความเห็นของประชาชนที่หลากหลายรอบด้านเพื่อนำไปสู่การได้รัฐธรรมนูญที่ลดความขัดแย้งและเป็นประโยชน์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ดียิ่งขึ้น
ดังนั้น จึงเป็นข้อมูลทางวิชาการที่ชี้ชัดให้เห็นว่า ส.ว.กำลังทำเกินหลักการ การศึกษาประเด็นที่ “สถาบันพระปกเกล้า” เสนอต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ในประเด็นที่มีปัญหาต่อสังคม
แม้ ส.ว.บางฝ่ายจะยืนยันในหน้าที่ และอำนาจอันชอบธรรมต่อการศึกษาปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่การทำหน้าที่ในอำนาจที่อยู่ในมือนั้น ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะฉุดรั้ง หรือ “ตอกลิ่ม” ความขัดแย้ง ในห้วงที่การเมืองไทย ได้เข้าสู่ “ประชาธิปไตยแบบเต็มใบ”.