ยกทัพ "สมเด็จพระนเรศวร" บุกสถานศึกษา เปิดตำรา "ประวัติศาสตร์" หน้าใหม่
"ผู้พันเบิร์ด" เตรียมนำร่องลงพื้นที่โรงเรียน 7 จังหวัด ถกวิชาประวัติศาสตร์ หวังฉีกกฎการสอนรูปแบบเดิม ย้ำ ไม่ครอบงำ ล้างสมอง
กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)โดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. เตรียมทำเอ็มโอยูร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สถาบันอาชีวะ เพื่อขับเคลื่อนการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ ในโรงเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา ในเชิงสร้างสรรค์แบบบูรณาการ ไม่ชี้นำ บูลลี่ หรือใส่อคติด้านลบ
หลังเกิดกรณีเด็กนักเรียนถ่ายคลิปครูโรงเรียนดังในสังกัด กทม. กำลังสอนวิชาสังคมศึกษาในตอนหนึ่ง มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปกครองระบอบเผด็จการ แต่ใช้คำพูดพาดพิงในลักษณะบูลลี่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษ และอดีตประธานองคมนตรี ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมมาแล้ว
ล่าสุด ศธ.กำลังยกระดับการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์รูปแบบใหม่เพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ควบคู่ไปกับการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งด้านเทคนิคและวิธีการนำเสนอให้น่าสนใจ
เพื่อไม่ให้ วิชาประวัติศาสตร์ มุ่งเน้นแค่เพียงการสู้รบของประเทศไทยในอดีต เพราะมองว่าการเรียนประวัติศาสตร์มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประวัติศาสตร์โลก ซึ่งการเรียนประวัติศาสตร์แบบท่องจำเหมือนที่ผ่านมา อาจไม่ใช่คำตอบที่จะทำให้เด็กและเยาวชนไทยมีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติเท่าที่ควร
โดยที่ผ่านมา ศธ.ได้มีนโยบาย 8+1 โดยการกำหนดโครงสร้างเวลาเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดรายวิชาประวัติศาสตร์ แยกออกมา 1 รายวิชาอย่างชัดเจน เพื่อบ่มเพาะให้นักเรียนภาคภูมิใจรักความเป็นไทย หวงแหนในสิ่งที่บรรพชนให้ไว้เป็นมรดกทางปัญญา รักษา สืบสาน ต่อยอดและนำมาปรับประยุกต์ในปัจจุบัน
และเตรียมเชิญ นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ และ พ.อ.วันชนะ สวัสดี หรือ "ผู้พันเบิร์ด" จิตอาสา 904 ในฐานะ ผู้รับบท สมเด็จพระนเรศวร ในภาพยนต์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มาให้มุมมองทางประวัติศาสตร์ที่หลากหลายมากขึ้น
ผู้พันเบิร์ด กล่าวว่า กระทรวงศึกษาโดยสพฐ.มีแนวคิดที่จะสอนเรื่องประวัติศาสตร์ให้เป็นแนวใหม่ เพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ ให้มีการพูดคุย ซักถาม หรือคิดประเด็นที่แตกต่างออกไป ให้รอบด้านเพื่อลบรูปแบบการเรียนท่องจำแบบเดิม และได้มีการดึงตนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง เพราะมีประสบการณ์ได้เล่นภาพยนต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่มีการนำพงศาวดารมาผสมผสานกับเรื่องเล่า บางส่วนก็แต่งขึ้นมาใหม่ ซึ่งเราสามารถนำประสบการณ์ตรงนี้มาเป็นหัวข้อในการถกแถลง เพื่อเสริมการเรียนการสอนแบบบูรณาการ ให้เด็กมีความคิดในมุมมองใหม่ๆ
" ไม่ได้มีผมเพียงคนเดียว ยังมีนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ ที่จะมาช่วยนำเสนอและมาให้แนวความคิด ไม่ได้สอนว่าต้องรักชาติ หรือต้องรู้จักบุญคุณของประเทศชาติ และ ไม่ใช่การล้างสมอง ยัดเยียดข้อมูล แต่เป็นการสร้างองค์ความรู้และสร้างวิธีสื่อการเรียนการสอนแบบบูรณาการใหม่ ให้เด็กรู้จักคิด กลั่นกรองในเรื่องที่รับข้อมูลมา ตลอดจนถึงการแนะนำในเรื่องกิจกรรมที่ครูจะต้องนำไปใช้ด้วย
เรียนวิชาประวัติศาสตร์กับผมไม่มีการครอบงำ ผมจะให้คิดเอง วิเคราะห์ตามเหตุผล ตามองค์ประกอบและสิ่งแวดล้อมเปิดให้มีการถกเถียงกันเพื่อให้ได้คำตอบในแต่ละประเด็นซึ่งเราหวังให้เกิดความสามัคคีกันในอนาคตไม่ให้หักล้างกันจนทำให้อีกฝ่ายรู้สึกผิด ผมมองว่าในปัจจุบันเราไม่ได้รู้อะไรรอบด้านจริง เพราะฉะนั้นอย่าไปตัดสินใจ"
เมื่อถามว่า หัวข้อถกแถลงจะเปิดกว้างหรือไม่ เช่น เรื่องการเมือง บุคคลสำคัญ หรือแม้แต่การเกณฑ์ทหาร
ผู้พันเบิร์ด กล่าวว่า ได้หมด เพราะปัจจุบันเด็กรู้กว้างอยู่แล้ว ซึ่งการถกแถลงจะทำให้เด็กรับรู้ข้อมูลลึกขึ้นรอบด้านมากขึ้น และสิ่งที่กล่าวอ้างมานั้นมีหลักฐานพิสูจน์หรือไม่ หรือเป็นการบิดเบือน นี่คือสิ่งเราสามารถนำมาถกแถลงกับนักเรียนได้ จะถ่ายรูป ถ่ายคลิป ในชั่วโมงการเรียน เราก็ไม่ห้าม ทำได้หมด
ส่วนที่ กอ.รมน. เข้ามามีส่วนร่วม เนื่องจากทำงานด้านความมั่นคงในหลายมิติที่สำคัญ บูรณาการทุกกระทรวงอยู่ที่ กอรมน. และจะทำหน้าที่เพียงสนับสนุนสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอนนอกห้องเรียนเท่านั้น ส่วนการสอนนั้นก็ต้องเป็นบทบาทของ สพฐ.และอาชีวะ โดยเอ็มโอยูจะสร้างขึ้นมาเป็นโมเดล ดูว่าเมื่อเด็กมาเรียนนอกห้องเรียนแล้ว เด็กมีความตื่นตัว สนใจ และสนุกกับสิ่งที่ได้รับมากน้อยแค่ไหน แล้วค่อยๆ ขยายออกไปจนครอบคลุม
เมื่อถามว่า หากเจอเด็กเกรียน เด็กชู 3 นิ้ว หรือกลุ่มนักเรียนเลว จะทำอย่างไร ผู้พันเบิร์ด กล่าวว่า เราไม่ได้มองว่าเด็กอยู่กลุ่มไหนเป็นฝ่ายใด แต่มองว่าเป็นเยาวชนของชาติทั้งหมดที่เราจะต้องรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิด และจากการศึกษาประวัติศาสตร์สิ่งที่เด็กแสดงออกบางครั้งเป็นอคติที่อยู่ในใจ อาจเกิดจากการได้รับการปฏิบัติในแบบที่เขาไม่ชอบหรือในแบบที่เขารู้สึกว่ามันน่าจะมีวิธีแบบใหม่ที่ดีกว่านี้เพราะฉะนั้นต้องมานั่งคุยกัน
เมื่อถามว่า ยืนยันว่าไม่ใช่การล้างสมองเด็ก และเปิดให้ค่ายคลิปชั่วโมงการเรียนการสอนได้หรือไม่ ผู้พันเบิร์ด กล่าวว่า เราเปิดกว้าง เป็นไปได้ก็อยากให้มีการบันทึกการเรียนการสอนของครูเพื่อป้องกันการสอนแบบครอบงำถ้าเด็กหรือผู้ปกครองรู้สึกว่าครูคนนั้นครอบงำก็สามารถเปิดคลิปดูได้ เพราะการสอนต้องไม่ชี้นำเพียงแต่เราให้ข้อมูลไปเท่านั้น หากเป็นไปได้ตนก็อยากให้มีการบันทึกการเรียนการสอนไว้ กิจกรรมต่างๆ เพื่อป้องกันการนำข้อมูลไปใช้บิดเบือนไปในทางใดทางหนึ่ง
เมื่อถามว่า จะเชิญนักแสดงในภาพยนต์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์มาเป็นวิทยากร ร่วมพูดคุยกับน้องๆ หรือไม่ ผู้พันเบิร์ด กล่าวว่า ตนไม่ได้มองแค่บุคคลหรือนักแสดงในภาพยนตร์เท่านั้นแต่มองไปถึงคนเขียนบท มุมมองว่าเขาถูกเขียนเป็นอย่างไรเช่น ละครบุพเพสันนิวาสซึ่งเป็นบทละครที่โด่งดังสร้างกระแสในสังคมด้วยการแต่งชุดไทย เรานำแนวคิดตรงนี้ไปสื่อให้น้องๆรับรู้
เมื่อถามว่า เรียนประวัติศาสตร์กับพี่เบิร์ด สนุกแน่ เพราะฉีกกฎตำราการสอนแบบเดิมๆใช่หรือไม่
"ผม หรือเป็นวิทยากรที่ถูกเชิญไปสอนโดยหลักๆ แล้วการเรียนการสอนก็ยังเป็นหน้าที่ของครูแต่ครูจะต้องออกแบบและจัดกิจกรรมและจะเชิญใครไปเป็นวิทยากรก็ถือเป็นหน้าที่ครูแต่การเรียนประวัติศาสตร์กับผมสนุกแน่นอนเพราะเรามีสื่อการเรียนการสอนที่เป็นภาพยนตร์ มาเปิดให้น้องๆดู ในขณะเดียวกัน ผมก็จะยกทีมนักแสดงในภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรไปเป็นวิทยากร เช่น แอฟ ทักษอร พ.อ.วินธัย สุวารี ส่วนละครศรีอโยธยา เช่น มาริโอ เมาเร่อ อนันดา เวอรี่แฮม ผมทาบทามไว้แล้ว"
ผู้พันเบิร์ด กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับการลงพื้นที่เริ่มได้ประมาณเดือนมีนาคม ใน 7 จังหวัดนำร่อง ประกอบด้วย จังหวัดอยุธยา เชียงใหม่นครพนม สุโขทัย กาญจนบุรี นครศรีธรรมราชและปัตตานี โดยเลือกจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นจังหวัดแรก เนื่องจากมีประวัติศาสตร์ ผูกพันกับประชาชนและเด็กนักเรียน เพื่อให้เรียนรู้ในประวัติศาสตร์ในจังหวัดของตัวเองก่อน