ร่างกม.ปฏิรูปการศึกษา เกือบสะดุด หลัง "ฝ่ายค้าน" เสนอญัตติให้ถอน แต่แพ้โหวต
รัฐสภา พิจารณาร่างกม.ปฏิรูปการศึกษา วาระต่อเนื่อง แต่ยังเจอปัญหา "ฝ่ายค้าน" เสนอญัตติให้ถอนเนื้อหา หลังมีเสียงค้านจากครู ด้าน "ชวน" ขอความร่วมมือให้ส.ส.ทำงาน มั่นใจ4สัปดาห์ ผ่านกฎหมายค้างได้
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมร่วมรัฐสภา วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ... วาระสอง ต่อเนื่่องในมาตรา 8/1 ซึ่งในการประชุมคราวที่แล้วมีปัญหาเรื่ององค์ประชุม ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าการประชุมดังกล่าวยังคงมีปัญหาเรื่องการแสดงตนเป็นองค์ประชุมเหมือเช่นทุกครั้ง
โดยการประชุมที่นัดหมายเวลา 09.00 น. ต้องใช้เวลารอผู้มาแสดงตนเป็นองค์ประชุม กว่า 1 ชั่วโมงกว่าจะเข้าสู่วาระพิจารณาได้
ทั้งนี้ในการประชุมยังคงมีปัญหาต่อเนื่อง เมื่อเวลา 14.00 น. ดำเนินการมาถึงมาตรา 11 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย เสนอญญัตติให้กรรมาธิการ (กมธ.) ถอนเรื่องดังกล่าวออกไป เนื่องจากมีปัญหาในเนื้อหา และพบว่าครูแต่งดำคัดค้านเป็นจำนวนมาก ดังนั้นกมธ.ควรถอนเนื้อหาออกไปปรับปรุง เพราะร่างกฎหมายดังกล่าวมีจำนวนมาตราทั้งสิ้น 110 มาตรา แต่ผ่านไปได้เพียง 10 มาตรา เท่านั้น จึงเชื่อว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะเป็นอุปสรรคต่อการเดินหน้าพิจารณากฎหมายฉบับอื่น พร้อมยืนยันว่าฝ่ายค้านไม่ได้ตีรวนการพิจารณาร่างกฎหมาย แต่มีเสียงสะท้อนจากครูในทุกพื้นที่ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายที่กมธ.เสนอ
อย่างไรก็ดีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้หาทางประนีประนอม ด้วยขอให้การพิจารณามาตราดังกล่าวแล้วเสร็จก่อน เพราะมีผู้อภิปรายเหลืออีก 2 คน และหลังพิจารณามาตราดังกล่าวแล้วเสร็จ จะให้นาจิรายุ หารือกับกรรมาธิการ
และหลังการพิจารณามาตรา 11 แล้วเสร็จ นายชวนสั่งให้พักการประชุม 15 นาที เพื่อให้นายจิรายุหารือร่วมกันกับ กมธ. และหลังการหารือแล้วเสร็จ ปรากฎว่า กมธ.ยืนยันเดินหน้าพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว เพราะมองว่าเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษา ทำให้ที่ประชุมต้องลงมติในญัตติตามที่นายจิรายุ เสนอ โดยผลการลงมติปรากฎว่าเสียงข้างมาก 280 เสียงไม่เห็นด้วย ต่อ 83 เสียงที่เห็นด้วย ทำให้รัฐสภาเดินหน้าพิจารณามาตรา 12 ต่อไป
ทั้งนี้นายชวน กล่าวต่อที่ประชุมว่าในวาระการประชุมรัฐสภา วันที่ 25 มกราคม จะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยและมีการลงมติ ทั้งนี้จตามการหารือของนายจิรายุ ที่ขอให้เว้นการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งตนเห็นด้วยทำให้ไม่ได้บรรจุวาระ ทั้งนี้วาระพิจารณาของรัฐสภาค้างร่างกฎหมายไม่กี่ฉบับ แต่การประชุมสภาฯ มีค้างจำนวนมาก แม้สภาฯจะมีเวลาพิจารณาแค่ 4 สัปดหา์ แต่มากพอหากทุกคนทำงาน ดังนั้นตนจึงขอความร่วมมือ.