ป.ป.ช.ถกปฏิบัติการพิเศษ! วิเคราะห์ผลคะแนน CPI ปี 65 ของไทย 31 ม.ค.
ป.ป.ช.นัดถกปฏิบัติการพิเศษ! รอวิเคราะห์ผลคะแนน “ดัชนีรับรู้การทุจริต” ของไทย ประจำปี 65 องค์กรโปร่งใสนานาชาติเตรียมประกาศ 31 ม.ค.นี้
เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2566 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) หรือ TI ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จะมีการประกาศผลการประเมิน “ดัชนีการรับรู้การทุจริต ประจำปี 2565” หรือ CPI 2022 (Corruption Perception Index 2022) ในวันที่ 31 ม.ค. 2566 เวลา 12.00 น.
นายนิวัติไชย กล่าวว่า ในวันดังกล่าวสำนักงาน ป.ป.ช. จะได้จัดให้มีการประชุมปฏิบัติการพิเศษเพื่อวิเคราะห์ผลคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย เพื่อถอดบทเรียนและนำไปพัฒนาแนวทางในการยกระดับค่าคะแนนให้สูงขึ้นต่อไป โดยผู้เข้าร่วมการประชุมปฏิบัติการพิเศษฯ ประกอบด้วย ผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ช. ผู้แทนสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย และบุคลากรส่วนงานที่เกี่ยวข้อง
นายนิวัติไชย กล่าวอีกว่า ในวันที่ 31 ม.ค. 2566 เมื่อองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ได้ประกาศผลในเวลา 12.00 น. ตามเวลา ในประเทศไทยแล้ว ทางสำนักงาน ป.ป.ช. จะได้มีการเผยแพร่ผลคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย พร้อมบทวิเคราะห์อย่างเป็นทางการ โดยผู้สนใจสามารถติดตามได้ในทุกช่องทางออนไลน์ของสำนักงาน ป.ป.ช. เช่น เฟซบุ๊กเพจ “สำนักงาน ป.ป.ช.” และเว็บไชต์ www.nacc.go.th เป็นต้น
สำหรับดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) เป็นดัชนีที่สะท้อนภาพลักษณ์การทุจริตของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่มีความสำคัญต่อนักลงทุนหรือนักธุรกิจในการประเมินความเสี่ยงหรือใช้ประกอบการตัดสินใจในการเข้ามาลงทุนในแต่ละประเทศ ซึ่งดัชนีดังกล่าวสำรวจโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1993 มีสถานะเป็นองค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานด้านการต่อต้านการทุจริต ทั้งนี้ ดัชนีการรับรู้การทุจริตจัดทำโดยการรวบรวมข้อมูลจากฐานข้อมูลหน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 13 แหล่งข้อมูล ซึ่งในส่วนของประเทศไทยในปีที่ผ่านมาได้รับการคำนวณจาก 9 แหล่งข้อมูล