มรสุม “ผู้การเรือหลวงสุโขทัย” ฝ่าด่านคดีแพ่ง-อาญา-การเมือง

มรสุม “ผู้การเรือหลวงสุโขทัย”  ฝ่าด่านคดีแพ่ง-อาญา-การเมือง

การตรวจสอบข้อเท็จจริงเรือหลวงสุโขทัยอับปาง อาจต้องใช้เวลาเป็นปี กว่าจะได้บทสรุปเพื่อไขความกระจ่างให้กับสังคม ภายใต้การให้ความเป็นธรรมกับทุกๆ ฝ่าย ทั้ง กำลังพล ผู้สูญเสีย ครอบครัว รวมถึงตัวผู้การเรือหลวงสุโขทัย

ระเบียบกองทัพเรือ ว่าด้วย หน้าที่ราชการในเรือหลวง ได้ระบุหน้าที่และความรับผิดชอบของ ผู้บังคับการเรือ ไว้ชัดเจนโดยเฉพาะเมื่อต้องสูญเสียเรือ ดังต่อไปนี้

ในกรณีที่เห็นว่าจะต้องสูญเสียเรืออย่างแน่นอนแล้วผู้บังคับการเรือจะต้องผดุงไว้ซึ่งกำลังใจและวินัย ของทหารประจำเรือจนถึงที่สุด แล้วรีบรายงานไปยังผู้บังคับหน่วยเรือของตนในขณะนั้นกับรายงานด่วนไปยังกองทัพเรือด้วย

ผู้บังคับการเรือ และนายทหารทุกนายจะต้องพยายามจัดการต่างๆและคงอยู่ในเรือให้นานที่สุด ตามเหตุแห่งความจำเป็น ก่อนที่จะได้สละไปจากเรือ ทั้งนี้เพื่อจะได้ช่วยกันรวบรวมและเก็บรักษาทรัพย์สินของทางราชการให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ กับจะต้องพยายามรักษาสมุดปูมต่างๆ สมุดสถานีเรือ เอกสารลับ เอกสารสำคัญเงินและบัญชีเงิน อาวุธและเอกสารมีค่าอื่นๆ ให้อยู่ในลักษณะที่ปลอดภัย สำหรับเอกสารลับต่างๆนั้นถ้าไม่สามารถจะนำไปด้วยได้ก็ให้จัดการทำลายเสีย

เมื่อมีความจำเป็นต้องสละเรือ ผู้บังคับการเรือจะต้องลงไปจากเรือเป็นคนสุดท้าย

เมื่อได้สละเรือแล้ว ผู้บังคับการเรือ และนายทหารคงมีอำนาจบังคับบัญชาทหารประจำเรือเช่นเดิม และจะต้องดูแลความเป็นอยู่ของทหารจนกว่าจะได้ส่งมอบให้ผู้อื่นรับตัวไปตามความจำเป็นหรือตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา
ปัจจุบันความคืบหน้ากรณี เรือหลวงสุโขทัยอับปาง ของกองทัพเรือ

ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 24 นาย และยังคงสูญหายจำนวน 5 นาย ภายใต้ข้อสันนิษฐาน ผู้สูญหายทั้งหมดติดอยู่ในเรือ หรือร่างเน่าเปื่อยถูกน้ำและสัตว์ทะเลกัดแทะ จนเหลือเพียงกระดูกจมใต้ทะเลหรือไม่

ส่วน นาวาโท พิชิตชัย เถื่อนนาดี ผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย ได้ยืนยันก่อนหน้านี้ว่า ได้ปฏิบัติตามระเบียบกองทัพเรือ ด้วยการลงจากเรือเป็นคนสุดท้าย

ข้อสันนิษฐานนี้ จะได้รับการพิสูจน์ก็ต่อเมื่อมีการกู้เรือหลวงสุโขทัย ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง และนำเสนอกระทรวงกลาโหม ภายใต้การกำกับดูแล พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ

ด้าน คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ที่มี พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสธ.ทร. เป็นประธาน ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการจำนวน 2 คณะ คือ
 

1.คณะทำงานสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เรือหลวงสุโขทัยอับปาง มีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาสาเหตุ ทั้งด้านความพร้อมของเรือและการปฏิบัติงานของเรือ

2.คณะทำงานสอบสวนข้อเท็จจริงในการดำเนินการ ภายหลังจากเรือหลวงสุโขทัยอับปาง มีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อตรวจสอบการดำเนินการในขั้นตอนของการสละเรือใหญ่ การค้นหาและช่วยเหลือกำลังพลภายหลังประสบเหตุ ว่าเป็นไปตามหลักการและแนวทางการปฏิบัติที่กำหนดไว้หรือไม่ 

ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่าง คณะกรรมการฝ่ายต่างๆได้เร่ง ดำเนินการสอบสวนผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด กำลังพล ผู้โดยสาร ส่วน “ผู้การเรือ” น่าจะรับบทหนักสุด เนื่องจากมีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบสูงสุดบนเรือหลวงสุโขทัยอย่างปฏิเสธไม่ได้

ทั้งนี้การสอบสวนอาจใช้เวลาเป็นปี เพราะต้องพิจารณา ตีความกฎหมายเกี่ยวข้องหลายฉบับเพื่อนำไปสู่บทสรุป หาก การปฏิบัติหน้าที่ของ ผู้การเรือหลวงสุโขทัย เป็นการกระทำโดยประมาทจงใจ เลินเล่ออย่างร้ายแรง ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์ราชการการ และชีวิตกำลังพล จะนำไปสู่การเอาผิดคดีแพ่งและอาญา

ทั้ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ซึ่งประมาณการณ์คร่าวๆว่าผู้การเรือหลวงสุโขทัย อาจต้องชดใช้ค่าเสียหายไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านขึ้นไป

หรือภายหลังหากสอบสวนแล้วพบว่า ผู้การเรือหลวงสุโขทัย ไม่ได้สละเรือเป็นคนสุดท้าย ตามระเบียบกองทัพเรือ ว่าด้วยหน้าที่ราชการในเรือหลวง ก็จะนำไปสู่คดีอาญา ตลอดจนถึงการตีความข้อกฎหมาย เมื่อสละเรือแล้ว ความเป็นอยู่ของกำลังพล จนกว่าจะได้รับความช่วยเหลือให้ผู้อื่นรับตัวไป อยู่ในความรับผิดชอบของผู้การเรือหลวงสุโขทัยหรือไม่

ดังนั้น การตรวจสอบข้อเท็จจริงเรือหลวงสุโขทัยอับปาง อาจต้องใช้เวลาเป็นปี กว่าจะได้บทสรุปเพื่อไขความกระจ่างให้กับสังคม ภายใต้การให้ความเป็นธรรมกับทุกๆ ฝ่าย ทั้ง กำลังพล ผู้สูญเสีย ครอบครัว รวมถึงตัวผู้การเรือหลวงสุโขทัย

ขณะที่ศึกอีกด้าน ฝ่ายการเมืองกระหนาบ เพราะกลาโหม ที่อยู่ในกำกับดูแลของ นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตกเป็นเป้าฝ่ายค้าน โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณจัดซื้อยุทโธปกรณ์ เมื่อมีอุบัติเหตุเรือรบล่ม จึงเข้าทาง  ล่าสุด 26 ม.ค.2566 คณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมี ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นประธานกรรมาธิการฯ ได้ทำหนังสือถึงนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ รมว.กลาโหม ให้สั่งการ “ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ” และ “ผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย” เข้าร่วมประชุมกับกรรมาธิการ ที่จะพิจารณาศึกษาข้อเท็จจริง และสาเหตุการอับปางของเรือหลวงสุโขทัย ในวันพฤหัสที่ 2 ก.พ.2566 ที่รัฐสภา

โดยระบุเหตุผลว่า เนื่องจากกรรมาธิการเห็นแล้วว่า กองเรือยุทธการกองทัพเรือ ซึ่งเป็นหน่วยงานในบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของ รมว.กลาโหม มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ดังนั้นเพื่อให้การพิจารณาศึกษาของ กมธ.ดำเนินไปอย่างถูกแนวทาง ถูกต้องตามข้อเท็จจริง และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง จึงขอให้ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ และผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย ไปร่วมประชุม และแสดงความคิดเห็นต่อ กมธ.ด้วยตัวเอง
 
พร้อมกับมีคำถามให้ชี้แจง ทั้งข้อมูลความเสียหาย และผู้ได้รับผลกระทบจากเรือหลวงสุโขทัยอับปาง มาตรการการป้องกัน และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย การเตรียมความพร้อมในการรับมือต่อสถานการณ์ฉุกเฉินของเรือและลูกเรือ ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้น “ผู้การเรือหลวงสุโขทัย” จึงไม่พ้นกระสุนตก นอกจากต้องเจอทั้งมรสุมคดีแพ่ง คดีอาญา ยังไม่พ้นถูกลากไปอยู่ในกระแสการเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้