“ก้าวไกล” ยื่น ปธ.ศาลฎีกา ใช้ดุลพินิจตามหลักนิติรัฐผู้ต้องหา ม.112-116
“พิธา” นำทีม “ก้าวไกล” ออกแอ็คชั่น ยื่นหนังสือ “ประธานศาลฎีกา” ขอให้ใช้ดุลพินิจดำเนินการกับผู้ต้องหาคดีการเมือง ทั้ง ม.112-116 ตามหลักนิติรัฐ จรรโลงความยุติธรรมในสังคมให้เกิดขึ้นจริง
เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2566 ที่สำนักงานศาลฎีกา พรรคก้าวไกลนำโดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรค นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค พร้อมด้วย ส.ส.พรรคก้าวไกล ยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา เพื่อสอบถามประเด็นบรรทัดฐานในการให้ประกันตัวผู้ต้องหาจากคดีการแสดงออกทางการเมือง ขอให้พิจารณาดำเนินการตามหลักนิติรัฐและความยุติธรรม จากกรณีที่ศาลอาญาไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนักกิจกรรมทางการเมือง ส่งผลให้ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ “ตะวัน” และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือ “แบม” นักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประกาศถอนประกันตนเอง พร้อมกับอดน้ำและอาหาร เพื่อเรียกร้องต่อกระบวนการยุติธรรมให้สิทธิประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองทุกคน ตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค. เป็นต้นมา
นายพิธา ร่วมกับ ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้แถลงข่าวบริเวณหน้าสำนักงานศาลฎีกา โดยอ่านข้อความในหนังสือ มีเนื้อหาสอบถามไปยังประธานศาลฎีกา ใจความว่า ตามที่ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการรายงานคดีสำคัญในศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ต่อประธานศาลฎีกา และการรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค พ.ศ. 2562 กำหนดให้ในคดีเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 107 – 135 ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นต้องรายงานคดีต่ออธิบดีผู้พิพากษาภาค และอธิบดีผู้พิพากษาต้องรายงานคดีต่อประธานศาลฎีกา โดยกำหนดให้มีการตรวจร่างคำพิพากษาหรือคำสั่งเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยตามข้อ 14 แห่งระเบียบดังกล่าว ระบุว่า “การตรวจร่างคำพิพากษาหรือคำสั่งตามข้อ 13 ให้ดำเนินการเพื่อรักษาแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่ง และให้การใช้ดุลพินิจของศาลเป็นไปโดยถูกต้องในแนวทางเดียวกัน ในกรณีที่ต่างไปจากแนวบรรทัดฐาน ควรมีเหตุผลพิเศษ และให้แสดงเหตุผลไว้ในร่างคำพิพากษาหรือคำสั่งด้วย ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
จึงขอสอบถามว่า การที่ศาลยุติธรรมมีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาที่เกิดจากการแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 112 มาตรา 116 หรือมาตราอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาว่าบุคคลดังกล่าวได้กระทำผิดจริงตามคำฟ้อง เป็นคำสั่งอันเนื่องจากการควบคุมความเป็นเอกภาพของคำสั่งศาลตามนัยแห่งระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการรายงานคดีสำคัญในศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ต่อประธานศาลฎีกา และการรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค พ.ศ. 2562 ซึ่งอยู่ในการควบคุมกำกับดูแลหรือบังคับบัญชาของประธานศาลฎีกาหรือไม่
“สถานการณ์ที่บอบบางต่อการประกันสิทธิเสรีภาพตามหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยรับรองไว้ในปัจจุบัน อาจคลี่คลายได้ด้วยการที่ศาลยุติธรรม โดยกำกับดูแลหรือบังคับบัญชาของท่าน เคารพหลักนิติรัฐและจรรโลงความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างแท้จริง” นายพิธา กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการยื่นหนังสือ มีตัวแทนจากประธานศาลฎีกาออกมารับหนังสือ ทำให้นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรค รวมถึง น.ส.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ สอบถามเจ้าหน้าที่ถึงแนวทางการติดตามความคืบหน้าและถามถึงความเป็นไปได้ในการเปิดพื้นที่พูดคุยถึงบรรทัดฐานในกระบวนการยุติธรรม แต่เจ้าหน้าที่มีท่าทีบ่ายเบี่ยง ให้เพียงชื่อและหมายเลขโทรศัพท์สำหรับติดต่อเท่านั้น