ถึงคิว สตง.ชำแหละสำนักงานปลัด สธ.ใช้เงินกู้ 1.5 พันล.แก้โควิดเหลว
ถึงคิว! สตง.ชำแหละสำนักงานปลัดสาธารณสุข ใช้งบเงินกู้ 1.5 พันล้านบาทร่วม “กรมควบคุมโรค” แต่พบแก้โควิด-19 เหลว ครุภัณฑ์ศูนย์ EOC จัดซื้อแต่ไม่ใช้ประโยชน์เพียบ เกิดความสูญเปล่า เสียโอกาสงบไปใช้เรื่องอื่น
จากกรณีจากกรณี สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เผยแพร่รายงานการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงาน โครงการด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในส่วนของกรมควบคุมโรค และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณ จาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ภายใต้แผนงานย่อย 1.5 คือ แผนงานหรือโครงการด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน อันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นจำนวนเงิน 1,517.26 ล้านบาท
โดยในส่วนของกรมควบคุมโรค กรุงเทพธุรกิจนำเสนอไปแล้วว่า สตง.ตรวจสอบพบว่า การดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามแผนงาน การจัดซื้อครุภัณฑ์บางรายการไม่ได้นำไปใช้รับมือสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันกาล รวมถึงบางโครงการล่าช้า 8 เดือนถึง 1 ปี 3 เดือน เป็นต้น
อ่านข่าว:
ผลสอบละเอียด สตง.ชำแหละ “กรมควบคุมโรค” ใช้เงินกู้ 1.5 พันล้านแก้โควิดเหลว
สตง.สอบ “กรมควบคุมโรค-สธ.” ควัก 1.5 พันล.รับมือโควิดเหลว ทำงานล่าช้านับปี
สธ.พร้อมให้ข้อมูลสตง. ปมใช้งบเงินกู้ 1.5 พันล้านบาท คุมโควิด-19ไม่ทันกาล
กรมควบคุมโรค ชี้แจงประเด็นสตง. ตรวจสอบงบโควิด-19 ยอด 1.5 พันล้านบาท
คราวนี้มาดูในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขกันบ้าง
สตง.มีประเด็นข้อตรวจพบว่า ครุภัณฑ์ที่จัดซื้อจัดจ้างของโครงการพัฒนาระบบสื่อสารสั่งการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) บางรายการไม่มีการใช้ประโยชน์ โดยจากการสังเกตการณ์ครุภัณฑ์ที่จัดซื้อตามโครงการภายในศูนย์ EOC ของสำนักงานเขตสุขภาพที่สุ่มตรวจสอบ จำนวน 5 แห่ง จากทั้งหมด 13 แห่ง พบว่า มี 4 แห่งที่มีรายการครุภัณฑ์บางรายการที่มีการจัดซื้อเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่มีการใช้ประโยชน์ เนื่องจากยังไม่มีความจำเป็นในการใช้งาน และไม่มีการลงบัญชีหรือทะเบียนเพื่อควบคุมพัสดุ
จากการสุ่มตรวจสอบรายการครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้าง 48.84% ของครุภัณฑ์ที่จัดซื้อทั้งหมด พบครุภัณฑ์ที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ และไม่มีการลงบัญชีหรือทะเบียนเพื่อควบคุมพัสดุ 6.98% ของครุภัณฑ์ที่สุ่มตรวจ และพบว่าสำนักงานเขตสุขภาพที่สุ่มตรวจสอบ จำนวน 2 แห่ง มีการใช้ประโยชน์แต่ไม่มีการลงบัญชีหรือทะเบียนเพื่อควบคุมพัสดุที่จัดซื้อหลังการตรวจรับพัสดุ และเบิกจ่ายแล้วเสร็จ คิดเป็น 72.09% ของครุภัณฑ์ที่สุ่มตรวจสอบ และอีกจำนวน 1 แห่งมีการใช้ประโยชน์แต่การลงบัญชี หรือทะเบียนเพื่อควบคุมพัสดุยังไม่ครบถ้วนทุกรายการ คิดเป็น 46.51% ของครุภัณฑ์ที่ถูกสุ่มตรวจสอบ แม้ว่าสำนักงานเขตสุขภาพได้ดำเนินการตรวจรับพัสดุแล้วเสร็จประมาณ 5-6 เดือนแล้ว
ทั้งนี้ ครุภัณฑ์ที่จัดซื้อจัดจ้างของโครงการพัฒนาระบบ สื่อสารสั่งการศูนย์ EOC ในส่วนของรายการที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ และไม่มีการลงบัญชีหรือทะเบียนเพื่อควบคุมพัสดุ และรายการมีการใช้ประโยชน์ แต่ไม่มีการลงบัญชีหรือทะเบียนเพื่อควบคุมพัสดุยังไม่ครบถ้วน ส่งผลกระทบที่สำคัญต่องบประมาณและการบริหารพัสดุภาครัฐ ครุภัณฑ์บางรายการจัดซื้อแล้วแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามเหตุผลความจำเป็น หรือวัตถุประสงค์ในการจัดหา ย่อมทำให้เกิดความสูญเปล่า และเป็นการเสียโอกาสในการนำเงินงบประมาณ หรือเงินกู้ตามแต่กรณีไปใช้จ่ายในกิจกรรมอื่นที่จำเป็นเร่งด่วน โดยเฉพาะเงินกู้ซึ่งเป็นเงินที่ต้องใช้คืน และมีภาระดอกเบี้ย ในส่วนของครุภัณฑ์ที่ขาดการลงบัญชีหรือทะเบียน เพื่อควบคุมพัสดุอาจเกิดการสูญหาย เป็นการใช้จ่ายเงินงบประมาณหรือเงินกู้ที่ไม่คุ้มค่า
สาเหตุสำคัญเกิดจากหน่วยงานส่วนกลางไม่มีการสำรวจความต้องการ หรือความเหมาะสมของครุภัณฑ์กับการใช้งานของสำนักงานเขตสุขภาพ ทำให้ครุภัณฑ์บางรายการไม่มีการใช้ประโยชน์ ไม่เหมาะสมกับขนาดของห้องประชุม และสำนักงานเขตสุขภาพบางแห่ง ยังไม่มีความพร้อมในการดำเนินโครงการพัฒนาศูนย์ EOC รวมไปถึงขาดการกับให้สำนักงานเขตสุขภาพ ทุกแห่งดำเนินการให้มีการลงบัญชีหรือทะเบียนเพื่อควบคุมพัสดุ ขาดการสื่อสารที่ชัดเจนและทั่วถึงระหว่างหน่วยงานส่วนกลาง กับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบโครงการของสำนักงานเขตสุขภาพ และเจ้าหน้าที่พัสดุของสำนักงานเขตสุขภาพบางแห่ง ขาดความรู้ความเข้าใจในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ
โดยผู้ว่า สตง. มีข้อเสนอแนะให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1.กำชับให้สำนักงานเขตสุขภาพทุกแหง มีการใช้ประโยชน์ครุภัณฑ์ทุกรายการ และดำเนินการให้มีการลงบัญชีหรือทะเบียนเพื่อควบคุมพัสดุของโครงการให้ครบถ้วน ติดตามผลการลงบัญชีหรือทะเบียนเพื่อควบคุมพัสดุของรัฐ ป้องกันการสูญหายของทรัพย์สินทางราชการ ให้การใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นไปอย่างคุ้มค่า
2.ก่อนการดำเนินการจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือครุภัณฑ์ต่าง ๆ ทุกครั้งในการจัดทำแผนการจัดหานอกจากข้อมูลเหตุผลความจำเป็นหรือการแสดงความต้องการของหน่วยงานผู้ใช้แล้ว ควรมีการสำรวจ ประเมิน และวิเคราะห์ความสมเหตุสมผลของครุภัณฑ์ที่หน่วยงานผู้ใช้เสนอความต้องการ ทั้งในด้านปริมาณ คุณลักษณะเฉพาะ บทบาทภารกิจของหน่วยงานและผู้นำไปใช้ รวมทั้งสถานการณ์ปัจจุบันและคาดการณ์อนาคต เพื่อให้ครุภัณฑ์ที่จัดหา ได้ใช้ประโยชน์สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ สอดคล้องตามสถานการณ์ที่เป็นจริงในปริมาณที่เหมาะสม อันจะนำมาซึ่งประสิทธิภาพ และคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ