"อรรถวิชช์" ค้าน "กกต." หั่นเขตจตุจักร ชี้ขัดพ.ร.ป.เลือกตั้ง
อรรถวิชช์ ยื่น กกต. ค้านรูปแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่เพิ่มเติมใหม่ ชี้ขัดกับ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ซัด แบ่ง จตุจักร เป็น3เขตเลือกตั้ง ไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์กฎหมาย
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อคัดค้านการประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง กทม. เพิ่มเติม แบบที่ 6 , 7 และ 8 พร้อมให้เหตุผลว่า กกต. ประกาศ เรื่องการแบ่งเขตส.ส. พ.ศ.2566 ที่ประกาศราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 31 ม.ค.65 ที่ผ่านมา กำหนดให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจัดทำรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งภายใน 3 วัน ครบกำหนดไปแล้วเมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา โดย กทม.แบ่งเขตไว้แล้ว 5 รูปแบบ และอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นพรรคการเมืองและประชาชนเป็นเวลา 10 วัน หรือภายในวันที่ 13 ก.พ.นี้ แต่ต่อมากลับมีการใช้หนังสือภายในให้มีการแบ่งเขตเพิ่มเติมอีกเมื่อ 9 ก.พ.66 ทั้งที่เลยระยะเวลาเสนอรูปการแบ่งเขตแล้ว จึงเป็นการกระทำที่พ้นกำหนดเวลาเสนอรูปแบบเพิ่มเติม และคำสั่งที่ใช้แบ่งเขตก็เป็นเพียงหนังสือสั่งการภายในที่ไม่ได้มีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษาให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ซึ่งเป็นกระบวนการผิดไปจากการประกาศรูปแบบที่ 1-5 อย่างมาก
นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า การแบ่งเขตที่เพิ่มเติมเข้ามา ถือว่าขัดกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ที่กำหนดให้คำนึงถึง การเคยอยู่เขตเลือกตั้งเดียวกัน, ลักษณะที่เป็นชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน แต่การแบ่งเขตที่เพิ่มเข้ามา ไม่ได้เป็นไปตามหลักการดังกล่าว เช่น รูปแบบที่ 6 และ 7 ในเขตเลือกตั้งที่ 6 ประกอบด้วย เขตพญาไท (ยกเว้นแขวงสามเสนใน) , เขตจตุจักร (เฉพาะแขวงจตุจักรและแขวงจอมพล) , เขตดินแดง (ยกเว้นแขวงดินแดง) , เขตห้วยขวาง (เฉพาะแขวงห้วยขวาง) และรูปแบบที่ 8 ในเขตเลือกตั้งที่ 11 ประกอบด้วย เขตจตุจักร (เฉพาะแขวงเสนานิคม) , เขตบางเขน (ยกเว้นแขวงท่าแร้ง) , เขตลาดพร้าว (เฉพาะแขวงจรเข้บัว) , เขตหลักสี่ (ยกเว้นแขวงทุ่งสองห้อง) ซึ่งเป็นการ “เลือกรวมบางแขวงจาก 4 เขตการปกครองที่ไม่เคยอยู่เขตเลือกตั้งเดียวกัน” ทั้งที่ระบบเลือกตั้งที่มี ส.ส. 1 คนต่อ 1 เขตเลือกตั้ง ควรจะใช้การแบ่งเขตเลือกตั้งเมื่อปี 2554 และ 2557 เป็นเกณฑ์
รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ยังยกตัวอย่างกรณีเขตจตุจักร มีจำนวนราษฎรในเขตเลือกตั้ง 153,792 คน ใกล้เคียงกับจำนวนเฉลี่ยราษฎร 166,513.0909 คน ต่อ ส.ส. 1 คน ส่วนต่างเพียงร้อยละ -7.64 สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ในประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง กำหนดให้ผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของจำนวนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน อีกทั้งยังสอดคล้องกับหลักการเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน ตามมาตรา 27 (1) และลักษณะที่เป็นชุมชนเดียวกัน ตามมาตรา 27 (2) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 แต่กลับมีการประกาศแบ่งเขตรูปแบบที่ 6 , 7 และ 8 แยกเขตจตุจักรกระจายออกเป็น 3 เขตเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการแบ่งเขตที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายและมติคณะกรรมการการเลือกตั้ง อย่างชัดเจน
"หากมีรูปแบบใดในรูปแบบที่ 6 , 7 และ 8 ได้รับเลือกเป็นเขตเลือกตั้ง จะผิดกฎหมาย และทำให้ข้อสรุปเขตเลือกตั้ง กทม. ถูกยืดเวลาออกไป เมื่อยังไม่มีเขตเลือกตั้ง พรรคการเมืองก็ทำไพรมารี่คัดผู้สมัครไม่ได้ ปฏิทินเลือกตั้งมันจะรวน จึงขอให้ กกต. ใช้อำนาจเข้าไปตรวจสอบและยกเลิกการแบ่งเขตที่เพิ่มเติมเข้ามา" นายอรรถวิชช์กล่าว