เปิดคนไร้สัญชาติไทย 3 กลุ่มคำนวณแบ่งเขตเลือกตั้ง 66 ไม่นับแรงงานต่างด้าว
เลขา กกต.กางกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎร อธิบายชัด “คนไม่มีสัญชาติไทย” 3 กลุ่ม ถูกนำมาคำนวณแบ่งเขตเลือกตั้ง 2566 ไม่นับแรงงานต่างด้าวจาก 3 ประเทศเพื่อนบ้าน
เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2566 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยถึงการคำนวณจำนวนราษฎรในการแบ่งเขตเลือกตั้ง 2566 โดยยกที่มาความหมายของราษฎรมาจาก กฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎร สำนักทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทย มีรายละเอียด ดังนี้
1. การประกาศจำนวนราษฎรของประเทศไทยในแต่ละปี เป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 มาตรา 45 ที่กำหนดให้สำนักทะเบียนกลางประกาศจำนวนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป
2. คำว่า "ราษฎร" คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยวินิจฉัยไว้เมื่อปี 2555 โดยพิจารณาจกกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ซึ่งกำหนดให้ทั้งคนสัญชาติไทยและคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยต้องปฏิบัติ เช่นการ แจ้งการเกิด การแจ้งการตาย การเพิ่มชื่อ ในทะเบียนบ้าน เป็นตุ้น
ดังนั้น คำว่า "ราษฎร" จึงหมายถึงทั้ง คนสัญชาติไทยและคนซึ่ง ไม่มีสัญชาติไทยที่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
3. การพิจารณาคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่จะนำมาประกาศเป็นจำนวนราษฎร จะพิจารณาจากบุคคล ที่มีคุณสมบัติสามารถขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ทั้งนี้ เนื่องจากการมีชื่อในทะเบียนบ้าน ท.ร. 13 หรือ ท.ร. 14 แสดงถึงการมีภูมิลำเนาของบุคคลตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534
4. คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่สามารถเพิ่มชื่อ ในทะเบียนบ้านได้ ประกอบด้วย
- คนที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ถาวร (มีใบสำคัญถิ่นที่อยู่ หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว)
- คนที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว (พวกที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย มีหนังสือเดินทาง/วีซ่า)
- คนที่อพยพเข้ามาอาศัยในประเทศไทยเป็นเวลานาน (มากกว่า 10 ปี) และรัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลโดยมีมติ ครม.ให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว และให้กระทรวงมหาดไทยจัดทำทะเบียนราษฎรไว้เป็นหลักฐาน เช่น ชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นต้น
5. การประกาศจำนวนราษฎรในอดีตที่ผ่านมา ก็ได้นับจำนวนราษฎรทั้งคนสัญชาติไทยและคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยดังกล่าว แต่เป็นการประกาศรวม เพิ่งจะมาแยกจำนวนที่เป็นไทยและจำนวนที่ไม่มีสัญชาติไทยเมื่อการประกาศจำนวนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 เป็นต้นมา เพื่อให้ส่วนราชการและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลจำนวนราษฎรในการบริหารหรือดำเนินกิจการในความรับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยสรุป คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่นำมาประกาศจำนวนราษฎร ได้แก่ บุคคล 3 จำพวก คือ คนที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ถาวร คนที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว คนที่อพยพเข้ามาอาศัยในประเทศไทยเป็นเวลานาน (มากกว่า 10 ปี) โดยไม่รวมกลุ่มแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา)