“พิธา” ปลุกเลือก “ก้าวไกล” แก้ปัญหาที่ดินทั้งระบบ เปลี่ยน ส.ป.ก.เป็นโฉนด
“พิธา” นำทัพก้าวไกลเปิดเวทีปราศรัย “บึงกาฬ-หนองคาย” เตรียมเลือกตั้ง 66 พบคนเดือดร้อนปัญหาที่ดินรัฐรุกล้ำทับซ้อน ชูนโยบายแก้ทั้งระบบ เปลี่ยน ส.ป.ก.เป็นโฉนดอย่างเป็นธรรม
เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยแกนนำและ ส.ส.พรรคก้าวไกล ร่วมจัดเวทีพบปะประชาชนที่ประสบปัญหาประเด็นที่ดินรัฐรุกล้ำทับซ้อนที่ทำกินประชาชน และปัญหาจากกรรมสิทธิ์ ส.ป.ก. ที่จังหวัดบึงกาฬและหนองคาย พร้อมเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคก้าวไกลในทั้งสองจังหวัดและจังหวัดข้างเคียงในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน
ในช่วงเช้า ได้เปิดเวทีพบปะประชาชนที่ได้รับผลกระทบกรณีป่าสงวนดงสีชมพู ประกาศทับที่ทำกินประชาชนที่ตั้งรกรากมากว่า 60 ปีก่อนการประกาศพื้นที่ป่าสงวน ที่บ้านเหล่าทองหลาง ต.เหล่าทอง อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ ก่อนที่ช่วงบ่ายจะเดินตลาด อ.เฝ้าไร่ จ.หนองคาย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาการจัดการที่ดิน ส.ป.ก. ครอบคลุมเป็นวงกว้าง และเข้าเยี่ยมพูดคุยกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกรณีถูกสั่งให้รื้อถอนออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน
หลังจากนั้นพรรคก้าวไกลเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ ที่วัดเฝ้าไร่วนาราม เน้นเรื่องนโยบายการจัดการที่ดินของพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะการเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนดอย่างเป็นธรรม โดยนายพิธา กล่าวทักทายชาวบ้านเป็นภาษาอีสานว่า “เป็นอย่างไรกันบ้าง สบายดีบ่ คิดฮอดหลายทาง จำกันได้อยู่บ่ ข้อยซื่อ ส.ส.พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกฯรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย” เรียกเสียงเฮจากบรรดากองเชียร์
หลังจากนั้นนายพิธา กล่าวว่า หนองคายเป็นจังหวัดที่มีปัญหาที่ดินมากที่สุดในประเทศ มีระบบชลประทานครอบคลุมพื้นที่น้อยที่สุด และครัวเรือนมีการออมน้อยที่สุด หากจะถามว่าทำไมคนหนองคายถึงออมไม่ได้เลย คำตอบอยู่ที่ “กระดุมเม็ดแรก” ก็คือเรื่องที่ดิน ที่ติดผิดกันมาตลอดเวลา นั่นคือเหตุผลที่พรรคก้าวไกล จะทลายความเหลื่อมล้ำในเรื่องที่ดิน ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ถ้าติดถูกเมื่อไร ก็จะแก้ปัญหาอื่นได้ตามมา ปัญหาที่ดินในประเทศไทย สะท้อนผ่านการถือครองที่ดินของรัฐ ที่ถือครองอยู่กว่า 62% ของทั้งประเทศ ภายใต้การบริหารของกระทรวงถึง 8 กระทรวง ประเทศที่พัฒนาแล้วไม่มีที่ไหนเก็บที่ดินอยู่ในมือของรัฐมากขนาดนี้ ถ้าก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล ด้วยนโยบายของเรา ประชาชนทั่วประเทศได้ที่ดินเพิ่ม 10 ล้านไร่แน่นอน
นายพิธา กล่าวอีกว่า หนองคายมีพื้นที่อยู่ 2 ล้านไร่ แต่เป็นพื้นที่ที่มีโฉนดแค่ 1 ล้านไร่ ที่เหลือเป็นที่ดินของรัฐ โดยเฉพาะเป็น ส.ป.ก. ถึง 5 แสนไร่ ปัญหาที่ผ่านมาคือการเปลี่ยนรูปแบบที่ดินไปมาจากป่าเสื่อมโทรมมาเป็น ส.ป.ก. มาบัดนี้กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงจาก ส.ป.ก. มาเป็นที่ราชพัสดุอีก บริหารที่ดินกันเป็นเก้าอี้ดนตรีจนประชาชนไม่มีที่ดินทำกิน ตามที่ตนกล่าวไว้ ว่าพรรคก้าวไกลมีเป้าหมายเอาที่ดินออกจากมือรัฐให้เป็นของประชาชนให้ได้อย่างน้อย 10 ล้านไร่ ซึ่งที่ดินรัฐมีมากมายหลายประเภทตั้งแต่ที่ทหาร ราชพัสดุ นิคมสหกรณ์ ที่สาธารณประโยชน์ ไปจนถึง ส.ป.ก. ซึ่งการเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนดคือจุดเริ่มต้นที่ทำได้ง่ายสุด
หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยมีที่ดิน ส.ป.ก. อยู่ 40 ล้านไร่ ส.ป.ก. เริ่มต้นด้วยเจตนารมณ์ที่ดี นั่นคือการกระจายที่ดินให้เกษตรกร เมื่อปี 2518 แต่เวลาผ่านไปนานสภาพเศรษฐกิจสังคมเปลี่ยนไป เป็นสังคมเมืองมากขึ้น แต่การที่ ส.ป.ก. ยังคงแช่แข็งเงื่อนไขการใช้ที่ดินอยู่ที่เดิม กลายเป็นการสร้างข้อจำกัดที่ทำให้ประชาชนที่ทำมาหากินอย่างอื่น ให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนไปไม่ได้ และเวลาผ่านไป ข้อเท็จจริงก็ปรากฎชัดแล้วว่าได้ตกไปอยู่ในมือของนายทุนถึง 4 ล้านไร่ในปัจจุบัน
“สิ่งแรกที่เราจะทำ คือการเอา ส.ป.ก. ออกจากมือนายทุนมาคืนให้ประชาชน ผ่านกลไกธนาคารที่ดิน ที่รัฐบาลพรรคก้าวไกลจะจัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นกลไกการกระจายที่ดินสู่มือประชาชน ซึ่งธนาคารที่ดินนี้เอง ที่จะเป็นกลไกเปลี่ยน ส.ป.ก. ให้เป็นโฉนดอย่างเป็นธรรม เปลี่ยนจากสิทธิที่เป็นแค่สิทธิในการเข้าใช้ประโยชน์ ให้เป็นกรรมสิทธิ์ในที่สุด” นายพิธา กล่าว
สำหรับนโยบายเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนดของพรรคก้าวไกลนั้น มีกลไกในการเปลี่ยนรูปผ่านธนาคารที่ดิน โดยต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้
(1) หากชื่อผู้รับสิทธิ ส.ป.ก. กับผู้ใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นชื่อตรงกัน สามารถออกโฉนดที่ดินได้ทันที โดยภายใน 5 ปีแรก สามารถโอนมรดกได้ แต่หากจะขายหรือจำนองต้องดำเนินการผ่านธนาคารที่ดินเท่านั้น
(2) หากชื่อผู้รับสิทธิ ส.ป.ก. กับชื่อผู้ใช้ประโยชน์ที่ดิน ไม่ตรงกัน จะออกโฉนดที่ดินได้ก็ต่อเมื่อ (ก) เป็นผู้ที่มีหลักฐานใช้ประโยชน์ที่ดินมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี (ข) เป็นผู้ที่มีหลักฐานข้อตกลงระหว่างผู้ได้รับสิทธิเดิมกับผู้ใช้ประโยชน์ และ (ค) เป็นผู้ที่มีทรัพย์สินทั้งหมดไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยไม่นับรวมมูลค่าของที่ดิน ส.ป.ก. ที่กำลังจะเปลี่ยนเป็นโฉนด
(3) กรณีที่ใช้ที่ดิน ส.ป.ก. เพื่อการเกษตร จะรับการเปลี่ยนเป็นโฉนดได้ไม่เกิน 50 ไร่
(4) กรณีที่ใช้ที่ดินที่ผ่านมาเพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตร จะรับการเปลี่ยนเป็นโฉนดได้เฉพาะผู้ที่ครอบครองที่ดินทุกประเภทรวมกัน รวมทั้ง ส.ป.ก. ด้วยไม่เกิน 50 ไร่ โดยภายใน 10 ปีแรกสามารถโอนมรดกได้ แต่หากจะขายหรือจำนองต้องดำเนินการผ่านธนาคารที่ดินเท่านั้น
(5) ที่ดินส่วนที่เกิน 50 ไร่ ตามเงื่อนไขข้างบน หรือที่ดิน ส.ป.ก. ที่ได้มาแบบผิดกฎหมาย จะถูกยึดคืนเข้าสู่ธนาคารที่ดิน เพื่อนำมากระจายให้กับประชาชน ตามวัตถุประสงค์ต่อไป