มท.1 สั่งล้อมคอก! ปูพรมสอบ “มูลนิธิ” ทั่วประเทศ หลังเกิดเหตุ “เป็นต่อ กรุ๊ป”
“มท.1” ประชุมร่วมบิ๊ก ขรก.มหาดไทย ขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล สั่งผู้ว่าฯทุกจังหวัดล้อมคอก ตรวจสอบ “มูลนิธิ” ทั่วประเทศ หลังปลัด มท.แจ้งความเอาผิด “เป็นต่อ กรุ๊ป” เครือข่าย “สารวัตรซัว”
เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2566 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมราชสีห์ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามการขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย โดยมี นายนริศ ขำนุรักษ์ รมช.มหาดไทย พร้อมด้วยผู้บริหารฝ่ายข้าราชการการเมือง นำโดยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายรัฐพล นราดิศร รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย แพทย์หญิงวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ โดยเป็นการประชุมผ่านระบบ Video Conference ไปยังทุกจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ณ ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาต้องขอขอบคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และท่านนายอำเภอ ที่เป็นผู้นำในการบริหารจัดการงานในระดับพื้นที่ ทั้งในฐานะผู้นำของข้าราชการกระทรวงมหาดไทย และในฐานะผู้นำการบูรณาการของทุกส่วนราชการ ทุกกระทรวง ทบวง กรม ในพื้นที่ ซึ่งล่าสุดทีมงานของอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ที่ได้บูรณาการอย่างแข็งขันช่วยเหลือเด็กที่ประสบเหตุจนกระทั่งช่วยเหลือได้อย่างปลอดภัย ซึ่งนับว่าเป็นตัวอย่างการบริหารจัดการงานพื้นที่ด้วยการบูรณาการทุกภาคส่วน จนกระทั่งเกิดผลสำเร็จของการปฏิบัติงาน และขอให้ดำเนินการขับเคลื่อนงาน บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ในลักษณะเน้นการบูรณาการทุกหน่วยงานในระดับพื้นที่ และให้ความกับทุกเรื่องในพื้นที่อย่างใกล้ชิด
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้ติดตามการดำเนินงานและมอบแนวทางการบริหารราชการในพื้นที่ โดยได้กำชับผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอดำเนินการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานมูลนิธิ สมาคม โดยต้องตรวจสอบเอกสารหลักฐาน และการดำเนินงานต่าง ๆ อย่างละเอียด รอบคอบ ถี่ถ้วน ตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด และหากพบการกระทำผิดต้องดำเนินการตามกฎหมาย ไม่มีละเว้น
โดยในส่วนของงานด้านเอกสารสิทธิกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งปัจจุบันพบประชาชนเข้าใจผิดในการนำโฉนดที่ดินไปเคลือบพลาสติก และทำให้เกิดความเสียหายกระทั่งเข้าข่ายเอกสารชำรุด ต้องเร่งสร้างความเข้าใจ ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงการสร้างการรับรู้สู่ชุมชน โดยใช้ภาษาที่กระชับ เข้าใจง่าย กระจายข้อมูลข่าวสารไปทุกชุมชน หมู่บ้าน และทุกการประชุม การประชาคม หรือการพบปะประชาชนของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในทุกช่องทาง เพื่อให้ประชาชนมีความรู้และปฏิบัติตามข้อกำหนดตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน
พล.อ.อนุพงษ์ กำชับในเรื่องการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหากรณีเกิดสถานการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งขณะนี้เกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรง สร้างความเสียหายมหาศาลที่ประเทศตุรกี โดยให้เตรียมความพร้อมเครื่องมือ อุปกรณ์ เพื่อเร่งสำรวจตรวจสอบ มีการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุ ทั้งในพื้นที่เสี่ยงสูง เสี่ยงกลาง และพื้นที่เฝ้าระวัง นอกจากนี้ การตรวจสอบอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้าง ให้เป็นไปตามกฎหมายอาคาร ทั้งอาคารที่กำลังจะสร้าง และสร้างไปแล้ว ซึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องมีคือ “แบบแปลนการก่อสร้าง” ที่เจ้าพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดเก็บ โดยผู้ว่าฯ นายอำเภอที่กำกับ อปท. ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตไว้ เพื่อป้องกันหากเกิดเหตุ จะได้ช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที ลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียทั้งชีวิตเเละทรัพย์สินให้ได้มากที่สุด โดยต้องทำให้ครบถ้วนตามกฎหมาย "ห้ามปล่อยปละละเลย"
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวถึงในส่วนของการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ว่า ด้วยกลไก ศจพ. ที่กระทรวงมหาดไทยมีโครงสร้าง ศจพ. ครอบคลุมทุกระดับ โดยใช้ฐานข้อมูล TPMAP ที่ได้ดำเนินการครบทุกพื้นที่แล้วเมื่อ 30 ก.ย. 2565 โดยย้ำสิ่งที่ต้องทำจากนี้ คือ การเพิ่มกลุ่มเป้าหมายใน TPMAP จากข้อมูล THAI QM ที่ท่านปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายทีมงานไปสำรวจเพิ่มเติม ซึ่งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะได้นำมาดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อประกาศในปี 2566 สำหรับวางแผนการดำเนินงานต่อไป แต่ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่ที่มีครัวเรือนประชาชนตกเกณฑ์ จปฐ. และมีความยากลำบาก ขอให้ผู้ว่าฯ ใช้กลไกปกติตามอำนาจหน้าที่ไปแก้ไขปัญหาบรรเทาความเดือดร้อน และมอบหมายนายอำเภอไปดำเนินการบูรณาการกับหน่วยงานอื่น ๆ ในพื้นที่ เช่น กรณีพ่อแม่แก่ ลูกถูกดำเนินคดี แล้วไม่มีใครดูแล มีผู้ป่วยติดเตียง ต้องประสานความร่วมมือทีมงานในพื้นที่อำเภอไปดูแล เพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุขพี่น้องประชาชน” ตามปณิธานคนมหาดไทย
นอกจากนี้ พล.อ.อนุพงษ์ ขอให้ได้ช่วยกันส่งเสริมการน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นคงด้านอาหาร เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนได้เรียนรู้ว่า การใช้เงินซื้อทุกอย่าง มันทำให้มีรายจ่าย แต่หากเราใช้ที่ดินตนเอง ปลูกผักไว้รับประทานก็จะไม่ต้องซื้อ และนอกจากมีผักไว้รับประทานในครัวเรือนแล้ว ยังสามารถแบ่งปันคนอื่นได้อีกด้วย และขอให้รณรงค์ส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการส่งเสริมวัฒนธรรมการคัดเเยกขยะ ทั้งขยะเปียก ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย พร้อมให้ใช้กลไกอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) เร่งรณรงค์ให้มีการทิ้งขยะในที่ทิ้งขยะ เพื่อทำให้บ้านเมือง พื้นที่สาธารณะ มีความสะอาด สวยงาม และกระตุ้นเสริมสร้างการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีในทุกด้าน และสำหรับด้านการจัดการคุณภาพน้ำ ได้เเนะนำให้ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียที่ต้นทางอาคารบ้านเรือน เพื่อลดน้ำเสียที่ปล่อยลงสู่ลำรางสาธารณะ และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยทุกหน่วยงาน มุ่งมั่นตั้งใจในการดำเนินการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายได้มอบอำนาจไว้อย่างเต็มกำลังความสามารถ ดังปณิธาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้มีชีวิตที่เป็นปกติสุข กินดี อยู่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี อันจะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผาสุก ประชาชนมีความสุขที่ยั่งยืน
ส่วน นายนริศ ขำนุรักษ์ รมช.มหาดไทย ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด จัดให้มีการประชุมคณะอนุกรรมการที่ดินจังหวัด (คทช.จังหวัด) ให้ถี่ขึ้น รวมทั้งดูแลบริหารจัดการเรื่องหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) และการบริหารจัดการน้ำ พร้อมทั้งให้การประปานครหลวง เร่งศึกษาแสวงหาการลดต้นทุนในการผลิตน้ำประปา เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การสั่งตรวจสอบมูลนิธิทั่วประเทศของ พล.อ.อนุพงษ์ ในการประชุมครั้งนี้ เกิดขึ้นภายหลังกรณีการตรวจสอบมูลนิธิเป็นต่อ กรุ๊ป ที่พบว่า ไม่ได้มีการจดแจ้งอย่างเป็นทางการ และอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย โดยปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้แจ้งความเอาผิดแล้ว พร้อมกับส่งเรื่องไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้ตรวจสอบการเปิดเว็บไซต์ว่า เข้าข่ายนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ และผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หรือไม่
สำหรับ มูลนิธิเป็นต่อ กรุ๊ป คือหนึ่งในเครือข่าย "เป็นต่อ กรุ๊ป" ที่มี "เป็นต่อ กรุ๊ป โฮลดิ้ง" เป็นบริษัทแม่ดำเนินธุรกิจหลายอย่าง โดยมี "สารวัตรซัว" หรือ พ.ต.ท.วสวัตติ์ มุครสกุล เป็นเจ้าของ บริหารผ่าน 3 คีย์แมนสำคัญคือ นายธีรพงศ์ ทองสุวรรณ นายอุกฤษฎ์ สิทธิสังข์ และนายอดิสรณ์ กฤษวงศ์