"ส.ว."เสียงแตก ญัตติทำประชามติยกร่างรธน.ใหม่
ส.ว.เสียงแตก วาระโหวตญัตติทำประชามติทำรธน.ใหม่ ฝั่งหนุน ยกเจตนารมณ์กม.-โอกาสส.ว.ร่วมแก้รธน.ครั้งสุดท้าย สู้ ฝั่ง"ค้าน" หวั่นแก้เนื้อหาเกินเลย กระทบระบบปกครอง-ไม่ถูกกาละเทศะ
ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีพล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้พิจารณาเรื่องด่วน ว่าด้วยการลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห้นชอบผลการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรในญัตติที่ขอให้ส่งเรื่องให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.)ทำประชามติเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาาชน
ทั้งนี้ก่อนการลงมติ ที่ประชุวุฒิสภาได้รับทราบรายงานการศึกษาเรื่องดังกล่าว ซึ่งกรรมาธิการสามัญพิจารณาญัตติฯ ที่มีนายสมชาย แสวงการ ส.ว. เป็นประธานกมธ. ได้ศึกษาเนื้อหา ซึ่งมีประเด็นที่เสนอให้ที่ประชุมวุฒิสภา พิจารณา คือ คัดค้านการเห็นชอบญัตติดังกล่าว เพราะ การทำประชมติดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เนื่องจากเป็นคำถามที่ไม่ชัดเจนอีกทั้งทำให้ประชาชนไม่เกิดความเข้าใจในเนื้อหาสาระข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ชัดเจน
นายสมชาย กล่าวด้วยว่าการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญตามข้อเสนอที่ให้ทำวันเดียวกับวันเลือกตั้งที่จะมาถึง กมธ.เห็นว่ามีความเป็นไปไม่ได้ เพราะกรอบการทำประชามติต้องดำเนินการภายในไม่น้อยกว่า 90 วัน แต่การเลือกตั้งหากยุบสภาต้องเลือกตั้งภายใน 45- 60 วัน หรือครบวาระต้องเลือกตั้งภายใน 45 วัน อีกทั้งจากการรับฟังการชี้แจงของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทราบว่าต้องใช้งบประมาณ และเจ้าหน้าที่จำนวนมาก โดยในการเลือกตั้งที่จะมาถึงต้องมีหน่วยเลือกตั้ง 9หมื่นหน่วย มีเจ้าหน้าที่หน่วยละ 9 คน ขณะที่การทำประชามติต้องมีเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการหน่วยละ 5 คน ขณะที่การทำประชามติต้องใช้งบประมาณมาก
นายสมชาย กล่าวด้วยว่ากมธ.พิจารณาแล้วเห็นว่าต้องทำประชามติ 3 รอบ รอบแรก คือ ถามว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรมนูญหรือไม่ หาเห็นด้วยต้องกลับมาแก้ไขตามกระบวนของรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อให้มีองค์กรแก้ไขเนื้อหา จากนั้นต้องกลับไปทำประชามติ อีกครั้ง และเมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญอีกครั้งต้องทำประชามติอีก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการอภิปรายของส.ว. นั้นมีความเเห็นที่แบ่งเป็น 2 ฝ่าย ทั้งสนับสนุนรายงานของกมธ. และอีกฝั่งที่ค้านรายงานของกมธ. และมองว่าควรดำเนินการเห็นชอบเพื่อส่งให้ ครม. พิจารณา
โดย ส.ว.ฝั่งที่สนับสนุนให้ลงมติเห็นชอบญัตติของสภาฯ เนื่องจากมองในประเด็นหลักการของกฎหมายประชามติที่ให้อำนาจ ครม. เป็นผู้พิจารณาว่าจะดำเนินการออกเสียงประชามติตามที่รัฐสภาเสนอหรือไม่
โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. อภิปรายว่าตนสนับสนุนให้ออกเสียงเห็นชอบ เพราะตามกระบวนการของกฎหมายประชามติ ในหลักการกำหนดให้เป็นอำนาจของ ครม. ไม่ใช่วุฒิสภา ดังนั้นส.ว.ไม่ควรขัดขวาง
ขณะที่ นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ส.ว. อภิปรายสนับสนุนต่อการจัดให้มีการออกเสียงประชามติทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะมองว่าหากผลประชามติเห็นด้วยจะเป็นช่วงที่ส.ว.ชุดปัจจุบันมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ในเงื่อนไขที่ต้องใช้เสียง ส.ว.เห็นชอบด้วยจำนวน1 ใน 3 ซึ่งสามารถยับยั้งได้ แต่หากปล่อยให้อำนาจส.ว.หมดไป รอให้มีส.ว.ชุดใหม่ที่มาจากพรรคการเมือง ยิ่งแก้ไขง่ายกว่าปัจจุบัน และการกำหนดประเด็นคำถามสามารถกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมได้
ทางด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่าจากการศึกษาของกมธ.พัฒนาการเมือง พบว่าถึงเวลาที่ต้องปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะบังคับใช้มา 5 ปี พบความขัดแย้ง และจากการศึกษาของสถาบันพระปกครองพบว่ามีหลายประเด็นที่่ควรแก้ไข อย่างไรก็ดีการลงมติของส.ว.นั้นตนมองว่าควรเห็นชอบกับสภาฯ เพราะส.ว.มีหน้าที่เป็นสะพานทอดให้ครม. พิจารณาต่อ และเมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์การเมืองแล้วเพื่อไม่ให้ ส.ว. ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้ถูกหยิบยกหรือกล่าวอ้างได้
ส่วนนายวันชัย สอนศิริ ส.ว. อภิปรายว่าสนับสนุนนายเสรี และควรจะเห็นด้วย เพื่อให้ส.ว.ที่มีวาระเหลืออยู่ 1 ปีกว่า จะได้ส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อีกทั้งได้ภาพที่ดี และไม่เกิดความเสียหายกับองค์กรใด โดยตามการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเริ่มจากการทำประชามติ หากไม่เริ่มต้นกระบวนการทำประชามติ คำถามประชามติที่ยังไม่สมบูรณ์ ครม. มีอำนาจเต็มในการปรับปรุงแก้ไข อย่างไรก็ดีหากส.ว.ไม่เห็นชอบอาจเสียโอกาสที่เป็นโอกาสครั้งสุดท้ายของ ส.ว. ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และส.ว.ถูกพรรคการเมืองใส่ร้ายป้ายสี ไม่เห็นเงาประชาชน
ขณะที่ ส.ว. ฝั่งที่เห็นด้วยกับรายงาของกมธ. นั้นสะท้อนความกังวลต่อการให้อำนาจอื่นยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่อาจกระทบต่อการเมืองการปกครองของประเทศไทยที่ยึดถือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมถึงยไม่ถูกกาละเทศะของการแก้ไข อาทิ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. , พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. , นายประพันธุ์ คูณมี ส.ว..