3 มี.ค.ศาล รธน.นัดชี้ขาดคำร้อง กกต.ตีความอำนาจหน้าที่แบ่งเขตเลือกตั้ง 66
ศาล รธน.รับคำร้องตีความอำนาจหน้าที่ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง 66 นัดชี้ขาด 3 มี.ค.นี้ เผย 2 แนวทาง กกต.ทำถูกแล้ว เดินหน้าต่อ หรือห้ามเอาคนไม่มีสัญชาติไทยมาคำนวณ ส.ส. กระทบต้องทำใหม่
เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2566 ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มีรายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดปรึกษาหารือ หรือลงมติตามคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ และอำนาจของ กกต.ในการกำหนดจำนวน ส.ส.ที่แต่ละจังหวัดพึงมี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ในการเลือกตั้ง 2566
เบื้องต้นมีรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องดังกล่าวแล้ว และนัดอภิปรายเพื่อนำไปสู่การลงมติ ในวันที่ 3 มี.ค. 2566
โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ ซึ่งการยื่นคำร้องต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 44 ประกอบมาตรา 7 (2) คือ ต้องเป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจที่เกิดขึ้นแล้ว และในกรณีที่ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับหน่วยงานใดให้หน่วยงานนั้นเป็นผู้มีสิทธิยื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฎว่า กกต. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ส่งปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของผู้ร้องกรณีประกาศ กกต. ฉบับดังกล่าว ต่อมารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีบางคนในคณะรัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคนแสดงความคิดเห็นโต้แย้งเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว จึงเป็นปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของผู้ร้องที่เกิดขึ้นแล้ว และ กกต.ส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 44 ประกอบมาตรา 7 (2)
ศาลรัฐธรรมนูญสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย แจ้งให้ กกต.ทราบ หาก กกต.ประสงค์ชี้แจงเพิ่มเติมให้ยื่นต่อ ศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 24 ก.พ. 2566 จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงไม่ทำการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดนัดแถลงด้วยวาจาปรึกษาหารือ และลงมติในวันศุกร์ที่ 3 มี.ค. 2566 เวลา 09.30 น.
มีการคาดการณ์แนวทางการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 แนวทาง คือ
- ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการดำเนินการของ กกต.ในเบื้องต้น ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว การจัดการเลือกตั้งที่เตรียมไว้ก็เดินหน้าต่อ
- ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพิ่มเติมว่า กกต.ไม่สามารถนำคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมาคำนวณจำนวน ส.ส.แต่ละจังหวัดและแบ่งเขตเลือกตั้งได้ อาจจะส่งผลให้ กกต.ต้องดำเนินการในการคำนวณจำนวน ส.ส.แต่ละจังหวัดและการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่