"157ส.ว." ตีตก "ญัตติประชามติทำรธน.ใหม่"
วุฒิสภา ออกเสียง 157 เสียง สวนมติเอกฉันท์ของสภาฯ เสนอ ครม.ทำประชามติทำรธน.ใหม่ "สมชาย" ยก รธน. ชี้หน้าที่องค์กรแก้รธน. คือรัฐสภา -ส.ส.ร.ไม่ใช่องค์กรตามรธน.-"ครม." ไร้อำนาจเสนอทำประชามติ
เมื่อเวลา 12.30 น. ในการประชุมวุฒิสภา นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ฐานะประธานกรรมาธิการสามัญพิจารณาญัตติของสภาฯ ที่ขอให้ส่งเรื่องให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.)ทำประชามติเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภาอีกครั้งหลังจากที่.ว. อภิปรายแล้วเสร็จ โดยยืนยันว่า การศึกษาของกมธ. ไม่มีธงนำ แต่ตามคำถามที่เสนอให้ทำประชามตินั้น คือ การล้มรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและยกร่างใหม่ทั้งฉบับ โดย สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งคำถามประชามติมี 2 เรื่อง และจำเป็นต้องทำประชามติ 3 ครั้ง และต้องใช้งบประมาณ ครั้งละ 3,500 ล้านบาท ส่วนการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ต้องใช้งบเท่ากับการเลือกตั้ง รวมเป็น 1.5หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดีการเสนอทำประชามติเรื่องดังกล่าวขาดกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อเทียบกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผ่านๆมา
“ผมไม่ติดใจ ส.ว.จะลงมติอย่างไร แต่การโหวตของสภาฯ ในญัตติดังกล่าวพบว่ามีเสียงเห็นชอบ 324 เสียง ไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย มีนัยยที่พิจารณาให้รอบคอบ เพราะส.ว.ต้องทำหน้าที่ไม่ใช่คล้อยตามสภาฯ เหมือนกับการพิจารณาร่างกฎหมายกยศ.ที่สภาฯ เห็นชอบเกือบเอกฉันท์ แต่เมื่อถึงการพิจารณาของสภาฯ พบมีข้อโต้แย้ง ทั้งนี้ที่่กังวลว่าส.ว.จะไม่มีโอกาสทำรัฐธรรมนูญ ผมเชื่อว่าส.ว.มีโอกาสตลอดที่จะทำงานเพื่อบ้านเมือง ส.ว.เป็นองค์อำนาจร่วมกันในฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ญัตตินี้ต้องใช้วุฒิภาวะ และความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองว่าจะเห็นชอบหรือไม่ตามที่กมธ.นำเสนอข้อมูลแบบตรงไปตรงมา” นายสมชาย กล่าว
ขณะที่ประเด็นการเลือกตั้งส.ส.ร.นั้นนายสมชาย ย้ำต่อที่ประชุมว่า ส.ส.ร.เป็นองค์กรที่ไม่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ในหมวดแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการเสนอประเด็นคำถามประชามติที่ว่าให้ส.ส.ร.จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ครม.พิจารณา จึงไม่สามารถทำได้
จากนั้นที่ประชุมวุฒิสภา ได้ลงมติว่าจะเห็นชอบกับญัตติของสภาฯ หรือไม่ ผลปรากฎว่า มีผู้เห็นด้วยกับญัตติ 12 คน ไม่เห็นด้วยกับญัตติ 157 เสียง งดออกเสียง 13 เสียง โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ฐานะประธานที่ประชุม กล่าวสรุปว่า ส.ว.ไม่เห็นด้วยกับการส่งญัตติดังกล่าวให้ครม.พิจารณา จากนี้ตนจะส่งมติให้ ประธานสภาฯ ต่อไป