ป.ป.ช.จับมือ กทม.ป้องปรามทุจริตเชิงรุก กวดขันจัดซื้อจัดจ้างกับเอกชน
ป.ป.ช.จับมือ กทม.ผลักดัน “กรุงเทพมหานครโปร่งใส” ลงนาม MOU กวดขันการจัดซื้อจ้างกับเอกชน ใช้เป็นเครื่องมือป้องทุจริตเชิงรุก ประสานส่งเรื่องร้องเรียนจาก “แทรฟฟี่ ฟองดูว์”
เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2566 เวลา 10.00 น. ที่ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พล.ต.ต.อรุณ อมรวิริยะกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าร่วมงานแถลงข่าว “กรุงเทพมหานครโปร่งใส” โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ผู้บริหาร กทม. และผู้แทนจากองค์กรต่าง ๆ อาทิ Open Contracting Partnership (OCP) สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย บริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด และ UNODC เข้าร่วมด้วย
โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ดำเนินงานร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในการสร้างความโปร่งใสและ ต่อต้านการทุจริต มีรายละเอียด ดังนี้
- ร่วมมือกับสำนักงาน ป.ป.ช. ในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินการของหน่วยงานภาคเอกชนที่เป็นคู่ค้าคู่สัญญากับหน่วยงานภาครัฐ หรือ ITAGC
- การประกาศเจตนารมณ์ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT
- การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร (สปท.กทม.) และศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านทุจริตของกรุงเทพมหานคร (สตท.กทม.)
- ความร่วมมือกับสถานเอกอัครทูตอังกฤษประจำประเทศไทย และ Open Contracting Partnership ผ่านโครงการ Open Bangkok
สำหรับความร่วมมือของกรุงเทพมหานครและสำนักงาน ป.ป.ช. ที่สำคัญคือเรื่อง การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินการของหน่วยงานภาคเอกชนที่เป็นคู่ค้าคู่สัญญากับหน่วยงานภาครัฐ หรือ ITAGC กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเครื่องมือในการป้องกันทุจริตเชิงรุกที่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ศึกษาและพัฒนาขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบการค้าที่เป็นคู่ค้าคู่สัญญาของรัฐ อย่างเคร่งครัด ปราศจากการขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม
โดยเครื่องมือดังกล่าวจะช่วยให้ภาคเอกชนสามารถนำไปใช้ปรับปรุงพัฒนาองค์กรของตนเองให้มีประสิทธิภาพได้ ความร่วมมือในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินการของหน่วยงานภาคเอกชนที่เป็นคู่ค้าคู่สัญญากับหน่วยงานภาครัฐ หรือ ITAGC ประจำปีงบประมาณ 2566 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ประสานขอความร่วมมือกับกรุงเทพมหานครและได้มีการประชุมร่วมกัน โดยมีภาคเอกชนที่เป็นคู่ค้ากับส่วนราชการ 28 คู่สัญญาที่เข้าร่วมประเมินในโครงการดังกล่าว
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังร่วมมือกับสำนักงาน ป.ป.ช. ในการส่งเรื่องร้องเรียนและติดตามการทุจริต จากแอปพลิเคชัน “แทรฟฟี่ ฟองดูว์” (Traffy Fondue) และช่วยนัดผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนเพื่อให้สามารถเข้าพบกับเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. โดยตรงและรวบรวมเรื่องร้องเรียนส่งให้สำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ ของสำนักงาน ป.ป.ช. อีกด้วย