คนไทยคาดหวังอะไรได้ กับรายชื่อแคนดิเดต “นายกฯ”
นายกรัฐมนตรีคนใหม่ควรจะมีวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนประเทศท่ามกลางการเปลี่ยนของโลกในทิศทางต่างๆ และต้องเตรียมประเทศให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี พร้อมก้าวให้ทันกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุ
ความชัดเจนทางการเมืองมีเพิ่มมากขึ้นหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศจะยุบสภาในช่วงต้นเดือน มี.ค.2566 โดยก่อนที่จะมีการยุบสภาครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะมีการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อกำหนดวันยุบสภาร่วมกัน โดยส่วนหนึ่งต้องการให้การยุบสภาครั้งนี้เป็นความเห็นร่วมกันในลักษณะพรรคร่วมรัฐบาลมีความปรองดองกันและอาจมีการสัญญาอะไรกันไว้ ถึงแม้ว่านายกรัฐมนตรีจะมีอำนาจเต็มในการประกาศยุบสภาก็ตาม
การเลือกตั้งถูกกำหนดกรอบเวลาไว้โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไว้ในวันที่ 7 พ.ค.2566 แต่ดูเหมือนว่า กกต.ทำงานเหมือนเป็นองค์กรจัดตั้งใหม่ที่ไม่เคยจัดการเลือกตั้งมาก่อน หลังจากที่มีปัญหาการกำหนดเขตเลือกตั้งและการคำนวณผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดย กกต.ถูกจัดตั้งขึ้นมาเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2540 เพื่อเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เพื่อดูแลการเลือกตั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่นมาตลอด 26 ปี รวมทั้งยังมีประสบการณ์ในการจัดลงคะแนนเสียงประชามติ
ขณะนี้มีหลายพรรคการเมืองที่ประกาศผู้ที่จะเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งที่กำลังจะถึง โดยพรรครวมไทยสร้างชาติประกาศชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ได้เตรียมเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ส่วนพรรคเพื่อไทยที่ได้จำนวน ส.ส.มากที่สุดในการเลือกตั้งปี 2562 ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีชื่อหลายคนที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี คือ
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และนายเศรษฐา ทวีสิน
คนไทยควรคาดหวังอะไรกับผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ซึ่งจะขึ้นมาบริหารประเทศในช่วงที่กำลังฟื้นตัวจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ที่ระบาดต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน รวมทั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะต้องมารับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกถดถอย ซึ่งทำให้การส่งออกของประเทศไทยที่เป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2565 มีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลง ถึงแม้ว่าปีนี้จะมีแรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแต่คงไม่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามศักยภาพ
นายกรัฐมนตรีคนใหม่ควรจะมีวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนประเทศท่ามกลางการเปลี่ยนของโลกในทิศทางต่างๆ ทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่จะเป็นแรงกดดันต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสงครามรัสเซียและยูเครนที่คาดเดาได้ยากว่าจะจบลงเมื่อไหร่ รวมทั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องเตรียมประเทศให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามาดิสรัปในหลายภาคส่วน และนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะต้องก้าวให้ทันกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุ สเปกแบบนี้คนไทยจะเป็นผู้เลือกเองว่าใครเหมาะสมที่มาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศไทย