มติฝ่ายค้าน คว่ำ! "พ.ร.ก.อุ้มหาย" เหตุไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โยนสภาฯชงศาล
"ชลน่าน" เผย พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นพ้อง คว่ำ "พ.ร.ก.อุ้มหาย" เหตุไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โยนสภาฯชี้ขาด ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ
ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 28 ก.พ. วาระเรื่องด่วนพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ.2566 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ว่า หากจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า พ.ร.ก.นี้ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ต้องยื่นคัดค้านก่อนที่จะมีพิจารณาหรือก่อนการอนุมัติ พ.ร.ก. หากมีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ประธานสภาฯ ต้องสั่งให้ยุติการพิจารณาจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย และตามกรอบเวลาประธานสภาฯ จะต้องส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 3 วัน
จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน และตราบใดที่ยังไม่มีการอนุมัติจากสภาฯ หรือยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ผลบังคับใช้ พ.ร.ก.ก็ยังมีอยู่ตลอด โดยช่วงระยะเวลาเป็นปัจจัยที่จะตัดสินใจต่อการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ พรรคฝ่ายค้านคาดหวังว่าสภาฯ ควรจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะอนุมัติ พ.ร.ก.หรือไม่ หากเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ควรอนุมัติ ก็ไม่ควรที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า หากสภาฯ อนุมัติ ก็ส่งให้วุฒิสภาพิจารณาเห็นชอบ จึงเป็นสภาพบังคับให้ ครม. เปิดสมัยวิสามัญเพื่อให้วุฒิสภาพิจารณา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.อุ้มหาย หากวุฒิสภาอนุมัติ ก็จบไป หรือหากสภาฯ ไม่อนุมัติและวุฒิสภาไม่อนุมัติ พ.ร.ก.ก็ตกไป แต่หากสภาฯ ไม่อนุมัติ และส่งให้วุฒิสภา แล้ววุฒิสภา อนุมัติก็ต้องส่งกลับมายังสภาฯ พิจารณาอีกครั้งว่าจะยืนยันมติของวุฒิสภาหรือไม่
“สำหรับจุดยืนของพรรคฝ่ายค้านคือ ไม่อนุมัติ พ.ร.ก. ดังกล่าวด้วยเห็นว่ากระบวนการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้สมัยประชุมสภาฯ จะปิดวันที่ 28 ก.พ. หากจำเป็นต้องเปิดสมัยประชุมวิสามัญเพื่อพิจารณา พ.ร.ก.ดังกล่าว ต้องมีเงื่อนไขว่ายังมีรัฐบาลอยู่ และจะต้องเปิดภายในอายุของสภาคือวันที่ 23 มี.ค. 2566 เท่านั้น หากหมดอายุสภาฯ แล้วก็ไม่สามารถเปิดสมัยวิสามัญได้” นพ.ชลน่าน กล่าว.