“สิริน ก้าวไกล” ค้านออกพ.ร.ก. เตะถ่วงกม.อุ้มหาย หวั่นเปิดช่องรัฐคุกคามปชช.
“สิริน ก้าวไกล” ค้านออกพ.ร.ก. เลื่อนบังคับใช้พ.ร.บ.อุ้มหาย หวั่น เปิดช่องรัฐคุกคามประชาชน-ละเมิดสิทธิของผู้ถูกควบคุมตัวออกไปอีก 7 เดือน
นายสิริน สงวนสิน ว่าที่ผู้สมัครส.ส. เขตทวีวัฒนา พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่สภาเตรียมการพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 โดยระบุว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 หรือที่รู้จักกันในชื่อ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ซึ่งผ่านการพิจารณาของสภาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาออกเป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 65 และจะเริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา
โดยเป็นกฎหมายที่ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล รวมถึงภาคประชาสังคมต่าง ๆ เห็นชอบร่วมกันตราขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐซ้อมทรมาณ กระทำการอันโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ละเมิดสิทธิและร่างกายของประชาชนระหว่างถูกควบคุมตัว รวมถึงการทำให้บุคคลสูญหาย
โดยที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่างขานรับและพร้อมปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้อย่างพร้อมเพรียง เช่น กรมการปกครองมีการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งการควบคุมและการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ณ ที่ว่าการอำเภอทั่วประเทศ และที่สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง (วังไชยา)
รวมทั้ง สำนักอัยการสูงสุดก็ได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อยกร่างระเบียบคำสั่งต่าง ๆ ตลอดจนแนวทางปฏิบัติของพนักงานอัยการเพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.อุ้มหายฯที่กำลังมีผลใช้บังคับและคุ้มครองสิทธิประชาชน แม้ว่าอาจยังมีปัญหาในเรื่องงบประมาณที่ตั้งไม่ทันปีงบประมาณ 2566 แต่ก็สามารถบริหารจัดการความยุติธรรมให้กับประชาชนได้
นายสิริน กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลกำลังดันทุลังส่งเรื่องให้สภาพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วนก่อนปิดสมัยประชุมในวันที่ 28 ก.พ.นี้ เพื่อผ่านร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ พ.ศ.2566
โดยเลื่อนการใช้บังคับมาตราสำคัญ คือ มาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องการควบคุมตัว การบันทึกภาพขณะจับกุม การเข้าถึงข้อมูลผู้ถูกควบคุมตัว และการละเมิดสิทธิของผู้ถูกควบคุมตัวออกไปอีก 7 เดือน
โดยอ้างเหตุผลด้านการจัดสรรงบประมาณไม่ทันในปี 2566 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงาน ป.ป.ส. และบุคคลากรมีความรู้ไม่เพียงพอ ซึ่งการอ้างเหตุผลดังที่กล่าวมาข้างต้นนอกจากจะฟังไม่ขึ้นแล้ว ยังไม่ใช่เหตุผลกรณีจำเป็นเร่งด่วนเพื่อที่จะออกเป็นพระราชกำหนดเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวออกไปอีก 7 เดือน อีกทั้งยังไม่เป็นผลดีต่อพี่น้องประชาชน และผู้ถูกควบคุมตัวจากคดีต่าง ๆ ที่อาจถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามในช่วงที่กำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในอีกไม่กี่เดือนนี้ และหากในการประชุมสภาแล้วมีการจงใจทำให้สภาล่มโดยพรรคฝ่ายรัฐบาล ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำอย่างชัดเจนว่า การเลื่อนใช้กฎหมายอุ้มหายในครั้งนี้หวังผลทางการเมือง 100%
“การประชุมสภาในวันที่ 28 ก.พ.เพื่อพิจารณา พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ประชาชนต้องจับตา เพราะกระทบต่อสิทธิของประชาชนอย่างร้ายแรง และยังเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ช่องว่างที่กฎหมายอยู่ระหว่างงดเว้นการบังคับใช้ละเมิดสิทธิผู้ถูกจับกุม โดยเฉพาะให้ช่วงเวลาที่กำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จึงน่าสังเกตว่า เหตุผลเรื่องการไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณอาจไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริง แต่คงเป็นเห็นผลเรื่องความได้เปรียบทางการเมืองเสียมากกว่า” นายสิริน กล่าว