เริ่มแล้ว! คอบร้าโกลด์2023 สหรัฐฯ มั่นใจ 30 ชาติจับมือแก้ปัญหาซับซ้อนของโลก
เปิด“คอบร้าโกลด์2023” ทูตสหรัฐฯ มั่นใจ 30 ชาติจับมือกันถึงแก้ไขปัญหาท้าทาย-ซับซ้อนของโลกได้ คาดหวังกำลังพลหนุ่มสาวสร้างความสัมพันธ์ เติบโตขึ้นเป็นผู้นำกองทัพ
วันที่ 28 ก.พ.2566 พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด นาย โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค (Robert F. Godec) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และ พล.ร.อ.จอห์น ซี. อากีลีโน (John C. Aquilino) ผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐอเมริกาภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก เป็นประธานร่วมในพิธีเปิดการฝึกคอบร้าโกลด์ 2023 ณ สถานีการบิน กองการบินทหารเรือ กองเรือยุทธการ จังหวัดระยอง
โดยมี เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ประจำประเทศไทย เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย และเอกอัครราชทูตสิงคโปร์ประจำประเทศไทย เข้าร่วมพิธีฯ
นาย โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยกล่าวว่า คอบร้าโกลด์เริ่มขึ้นครั้งแรกเป็นการฝึกซ้อมทางทะเลระดับทวิภาคีระหว่างไทยและสหรัฐฯในเวลาต่อมาได้ขยายขอบเขตออกไปเนื่องจากเราเล็งเห็นถึงโอกาสใหม่ๆในการร่วมมือกันรับมือความท้าทายด้านความมั่นคงต่างๆที่เรามีร่วมกัน การรับมือความขัดแย้งระหว่างมนุษย์ตลอดจนการตอบโต้ภัยพิบัติและสถานการณ์ฉุกเฉินมีงานหลักที่คล้ายคลึงกันหลายประการไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารระหว่างแผนร่วมกันการเคลื่อนกำลังคนและอุปกรณ์ภายในภูมิภาคหรือการประสานงานด้านโลจิสติกส์การฝึกปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้ทุกปีจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการตอบสนองอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิผลในกรณี ที่มีเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้น
ในช่วง 20 ปีมานี้ บรรดาชาติที่มีผู้แทนอยู่ ณที่นี้ได้ทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม หลังเกิดโศกนาฏกรรมต่างๆ และภัยพิบัติตามธรรมชาติ ทุกวันนี้คอบร้าโกลด์เป็นการฝึกซ้อมที่มุ่งเน้นไปยังอนาคต โดยเป็นการฝึกซ้อมที่นำ 30 ชาติจากทั่วโลกมาร่วมกันแก้ปัญหาความท้าทายซับซ้อน ที่ไม่มีประเทศหนึ่งประเทศใดสามารถทำได้เพียงลำพัง ด้วยความร่วมมือเท่านั้นเราจึงจะสามารถรับมือความท้าทายเหล่านี้และดูแลประชาชนของเราให้ปลอดภัยได้
“สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการฝึกต่างๆ คือความสัมพันธ์ที่พัฒนาขึ้น ระหว่างชาติ ระหว่างผู้นำ หรือระหว่างกำลังพลของเราทุกระดับ และยังช่วยส่งเสริมจิตวิญญาณแห่งความร่วมมือและมิตรไมตรีที่ก้าวข้าม อุปสรรคด้านภาษาและเส้นแบ่งเขตแดนกำลังพลหนุ่มสาวของเราจำนวนมากในวันนี้ จะกลายเป็นผู้นำกองทัพของเราในอนาคต ผมขอย้ำกับพวกเขาเหล่านี้ว่าความสัมพันธ์ที่ท่านก่อร่างขึ้นระหว่างการฝึกนี้ จะช่วยให้ท่านเป็นผู้นำที่ดีขึ้นและยิ่งไปกว่านั้นจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงที่เรามีร่วมกัน จึงอยากขอให้ทุกท่านทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมการฝึกและสร้างไมตรีที่จะคงอยู่ตลอดไป”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การฝึกคอบร้าโกลดในปีนี้เป็นครั้งที่ 42โดยมีประเทศเข้าร่วมการฝึกหลัก 7ประเทศ ได้แก่ ไทย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สาธารณรัฐเกาหลี และมาเลเซีย ประเทศที่เข้าร่วมการฝึกเพิ่มเติมในโครงการช่วยเหลือประชาชน3ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย และออสเตรเลีย ประเทศในโครงการเสนาธิการผสมส่วนเพิ่มนานาชาติ หรือ MPAT (Multinational Planning Augmentation Team) จำนวน 10ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ แคนาดา ฝรั่งเศส มองโกเลีย เนปาล นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ ฟิจิ สหราชอาณาจักร และบรูไน
สำหรับประเทศที่เข้าร่วมในโครงการสังเกตการณ์ฝึก (Combined Observer Liaison Team) : COLT) 10ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว บราซิล ปากีสถาน เวียดนาม เยอรมนี สวีเดน สาธารณรัฐเฮลเลนิก คูเวต และศรีลังกา รวมทั้งสิ้น 30ประเทศ ยอดผู้เข้าร่วมการฝึกฯ 7,394นาย กำหนดการฝึกฯ ระหว่างวันที่ 27ก.พ.ถึง 10มี.ค.2566 ประกอบด้วย การฝึกปัญหาที่บังคับการ (Command Post Exercise : CPX) เป็นการฝึกอำนวยการยุทธ์ของกำลังรบขนาดใหญ่ เพื่อรองรับภัยคุกคามทุกรูปแบบ ในทุกมิติ (All Domain Operations) ได้แก่ ทางบก ทางทะเล ทางอากาศ ทางด้านไซเบอร์ และทางอวกาศ สำหรับการฝึกด้าน Cyber เป็นการฝึกการวางแผน โดยเน้นวิธีการตรวจสอบภัยคุกคามเบื้องต้น และการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ต่อระบบอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐาน
สำหรับในปีนี้ เป็นปีแรกในการนำการฝึกทางด้านอวกาศ เข้ามาร่วมในการฝึกการวางแผนของฝ่ายเสนาธิการร่วม/ผสม เพื่อให้สามารถเข้าใจถึงผลกระทบในส่วนของการฝึกด้านอวกาศ (Space) โดยนำผลกระทบจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอวกาศ ที่มีผลต่อการปฏิบัติการทางทหารในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ฝ่ายอำนวยการได้วางแผนรองรับ และใช้ประโยชน์จากปรากฏการณ์ต่าง ๆ เช่น ปรากฏการณ์พายุสุริยะที่มีผลต่อระบบการสื่อสารสัญญาณดาวเทียม โดยมีหน่วยงานด้านอวกาศทั้งทางทหาร และพลเรือน ของไทย สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ให้การสนับสนุนข้อมูล และการปฏิบัติในด้านต่าง ๆ
โครงการช่วยเหลือประชาชน (Humanitarian Civic Assistance: HCA) ได้แก่ โครงการก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์สำหรับโรงเรียนในพื้นที่การฝึก จำนวน ๖ พื้นที่ การฝึกการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ ประกอบด้วย การฝึกแก้ปัญหาบนโต๊ะ (HADR-TTX) ในหัวข้อบทบาททางทหารในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภายใต้กลไกลการตอบสนองในระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ เพื่อเตรียมการฝึกสาธิตฯ (HADR-Demo) ซึ่งเป็นการฝึกสาธิตแนวทางในการปฏิบัติเป็นสถานี ได้แก่ การค้นหาช่วยเหลือผู้ประสบภัย การแพทย์ฉุกเฉิน การส่งกลับสายแพทย์ สารเคมีรั่วไหล และการดับเพลิง ของประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการฝึกฯ
การฝึกภาคสนาม (Field Training Exercise: FTX) ประกอบด้วย การฝึกแลกเปลี่ยน CTX และการฝึกภาคสนามของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การฝึกการเข้าพื้นที่ปฏิบัติการ (Joint Forcible Entry Operations: JFEO) ประกอบด้วย การฝึกการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก การกระโดดร่มทางยุทธศาสตร์ การอพยพพลเรือนจากพื้นที่ความขัดแย้ง และการฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง