“ก้าวไกล” แฉเบื้องหลังคนเดินเกมยื่นศาล รธน.ยื้อบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย
“ณัฐวุฒิ ก้าวไกล” ออกโรงแฉเบื้องหลัง! “ประธานวิปรัฐบาล” คนรับงาน “ทำเนียบฯ” เดินเกม ส.ส.ยื่นศาล รธน.ตีความ ตัดหน้า พ.ร.ก.ชะลอบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย ถูกคว่ำ
เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566 นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้ถึงกรณีที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ลงชื่อยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความว่าพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ.2566 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถือเป็นการชิงตัดหน้าก่อนที่กฎหมายจะถูกคว่ำ ว่า ความจริงพรรคร่วมฝ่ายค้านคาดคะเนไว้แล้วว่าจะออกมาเป็นเช่นนี้ แต่ไม่คิดว่ารัฐบาลจะเหี้ยมเกรียมและกล้าที่จะทำขนาดนี้ กฎหมายฉบับนี้เป็นของรัฐบาลที่มีกระทรวงยุติธรรมเป็นแกนหลัก และผ่านสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ด้วยคะแนนท่วมท้น ซึ่งมีส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเป็นกำลังในการโหวตผ่าน แต่ปรากฏว่าอยู่ดี ๆ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลทั้งหมดกลับเป็นผู้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตีความว่า พ.ร.ก.ที่รัฐบาลออกชอบหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แบบนี้จะไม่ให้คิดเป็นอื่นได้อย่างไรว่าถ้าไม่ใช่เพราะเรื่องอื่น หรือสิ่งที่เตรียมการมาตั้งแต่ต้น
นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า หากจะผิดไปจากพอร์ตเรื่องก็คือตอนแรกรัฐบาลจะไม่ส่งพ.ร.ก.นี้ให้ทันประชุมสภาฯ วันสุดท้าย แต่เมื่อถูกแรงกดดันจากกระทู้ถามของตน และภาคประชาสังคม รัฐบาลจึงตัดสินใจส่งเข้ามาในวันที่ 23 ก.พ. เรื่องนี้จึงเป็นเพียงเศษเสี้ยวของละครที่อาจจะไม่ได้ตรงกับที่ผู้เขียนตั้งใจ
"ในการลงชื่อของ ส.ส.รัฐบาลเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) หายหน้าหายตาไปหลายสัปดาห์ อยู่ดี ๆ ก็กลับมาทำงาน ทั้ง ๆ ที่ทุกครั้งที่ประชุมสภาฯ ล่มก็ไม่รู้ว่าหายไปไหน แต่ได้ยินมาว่ามีสายตรงมาจากทำเนียบรัฐบาลประสานว่าขอให้นายนิโรธเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้" นายณัฐวุฒิ กล่าว
นายณัฐวุฒิ กล่าวด้วยว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องสลับซับซ้อนเรายังคิดอยู่ว่าหากส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แล้วศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นเพียงประเด็นเรื่องข้อกฎหมายก็อาจจะพิจารณาโดยเร็ว ไม่จำเป็นต้องรอ 60 วัน หากเป็นเช่นนั้นสภาฯ จะยังสามารถขอให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญได้อีกก่อนที่จะยุบสภาฯ แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าคงจะไม่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงต้องรอว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินอย่างไร หากตัดสินแล้วนำ พ.ร.ก.นี้มาพิจารณาต่อในสภาฯ ชุดหน้า ก็ต้องดูต่อว่าจะมีกระบวนการลงมติอย่างไร แต่ตนเชื่อมั่นว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านในวันนี้ หากจะกลับไปเป็นรัฐบาลในวันหน้าหรือจะเป็นฝ่ายค้านอีก ก็จะลงมติแบบเดิมคือโหวตคว่ำพ.ร.ก.นี้ เพราะหากไม่คว่ำก็จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ การที่รัฐบาลอยากให้สภาฯ ผ่านกฎหมายอะไร ก็ขอให้สภาฯ ผ่าน เมื่อเห็นว่าจะไม่ผ่านแล้วจะมาอ้างเหตุความไม่พร้อมต่างๆ และขอให้เลื่อนออกไปจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในการบัญญัติกฎหมาย ซึ่งไม่ใช่หนทางตามระบอบประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น