ไขปม ปิดฉาก “พลังท้องถิ่นไท” “ปชต.ใหม่” สาขาพลังป้อม
กติกาเลือกตั้งที่ปรับเปลี่่ยน เท่ากับตัดโอกาส "พรรคเล็กไร้กระแส" คืนสู่สภาฯ ดังนั้นทางออกและทางรอดของพรรคเล็ก หาก "ไม่เลิกกิจการ" ย้ายสังกัด ต้องหาพันธมิตรที่ "แข็งแรง" สนับสนุนให้ไปต่อ
กลายเป็นอีกพรรคที่มีความชัดเจนว่า เตรียม “เลิกกิจการ” และปล่อย ส.ส. รวมถึงสมาชิกพรรคเป็นอิสระ หลังจากยุบสภา คือ “พรรคพลังท้องถิ่นไท”
โดย 4 มี.ค.นี้ กรรมการบริหารพรรคที่มี “โกวิทย์ พวงงาม” เป็นหัวหน้าพรรค ได้เรียกประชุมเพื่อถกแถลงเป็นมติพรรค ขณะที่แนวทางของมตินั้น เป็นที่รับรู้กันมาสักระยะแล้วว่าพรรคพลังท้องถิ่นไทจะไม่ส่งผู้มัครรับเลือกตั้ง และยุติการทำพรรค
สาเหตุที่พลังท้องถิ่นไทต้องปิดฉากการเมือง เนื่องมาจาก “ทุนทำพรรค” ถึงแม้จะมีผู้สนับสนุน โดยเฉพาะ “ชัชวาลล์ คงอุดม” อดีตประธานที่ปรึกษาพรรค ที่ทิ้งไว้ให้ขับเคลื่อนกิจการของพรรคต่อ ก่อนเจ้าตัวจะย้ายไป “พรรครวมไทยสร้างชาติ” แต่เมื่อกระแส “แลนด์สไลด์” มาแรง ทำให้พรรคใหญ่ต้องสู้กันเต็มที่ และ “ธนกิจการเมือง” ทำให้พรรคเล็กที่ไร้กระแสอาจเสียทุนเปล่าในสมรภูมิเลือกตั้ง
แม้พรรคพลังท้องถิ่นไทจะมีฐานเสียงเป็นคนท้องถิ่น ข้าราชการ นักวิชาการพื้นที่ภาคใต้ แต่ด้วยสมาชิกพรรคที่มีขณะนี้ 22,006 หมื่นคน ยังเป็นงานยากที่จะสู้พรรคการเมืองอื่นได้
ดังนั้น การหนีตายจากพรรคเล็กไร้กระแส ไปซุกใต้ปีก “ชัชวาลล์” ในพรรครวมไทยสร้างชาติ จึงพอมีโอกาสรอดในเส้นทางการเมือง
ถึงแม้จะไม่มีสถานะ ส.ส.หลังเลือกตั้ง แต่หาก “รวมไทยสร้างชาติ” ได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล ก็ยังมีโอกาสทำงานการเมือง และได้กลับเข้าสภาฯ ในตำแหน่งข้าราชการการเมือง ที่ปรึกษา หรือผู้เชี่ยวชาญของ ส.ส.สมัยหน้า
อีกด้านหนึ่ง พรรคเล็กที่กล้าสวนกระแส ประกาศสู้ศึกเลือกตั้งคือ “พรรคประชาธิปไตยใหม่” ของ “สุรทิน พิจารณ์” 2 มี.ค.นี้ จะมีการประชุมใหญ่ของพรรค สิ่งที่ถูกจับตาคือการแต่งตั้ง “เลขาธิการพรรค” ที่เว้นว่างไว้ให้กับ “กลุ่มบ้านป่ารอยต่อ” ตามสัญญาใจที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เคยให้ไว้ต่อกัน
เรื่องนี้ “สุรทิน” บอกว่า ก่อนหน้านี้ กลุ่มบ้านป่ารอยต่อจะส่ง “วิเชียร จันทรโณทัย” อดีตผู้ว่าฯ นครราชสีมา มานั่งในตำแหน่งนี้ แต่เนื่องจากวิเชียรมีภารกิจต่อเนื่อง ในโครงการพระราชดำริ จึงต้องเปลี่ยนตัว จึงยังไม่เคาะว่าจะส่งใครมาดูแล
กับการได้คนจาก “บ้านป่ารอยต่อ” มาช่วยเป็น “แม่บ้านพรรคประชาธิปไตยใหม่” ถือว่าเป็นการสร้างสัญญาทางการเมือง ว่าจะเกาะเกี่ยวกันไปจนตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ซึ่งเป็นโมเดลเดิมที่เคย “ดีลการเมือง” กับ “ธรรมนัส พรหมเผ่า” ในช่วงเลือกตั้งปี 2562 ที่ได้ “ธนพร ศรีวิราช"หรือ จุ๊บจิ๊บ ภรรยาของ “ผู้กองมนัส” มาเป็นเลขาธิการพรรค
แม้ “สุรทิน” จะปฏิเสธถึงแหล่งทุนที่ใช้ทำงานการเมืองในช่วงเลือกตั้ง แต่ที่ผ่านมา มักได้ยินข่าวว่า “กลุ่มบ้านป่ารอยต่อ” คือสายเปย์ให้กับกลุ่มพรรคปัดเศษ ที่อยู่ร่วมรัฐบาล
ด้วยปัจจัยของการเมืองที่มีแรงสนับสนุน และกองหนุนคือสมาชิกพรรคที่นับหัวได้ 40,195 คน พร้อมเครือข่ายชาติพันธุ์ คนชายขอบ และกลุ่มตัวแทนเกษตรกรที่เดือดร้อน ทำให้ “พรรคประชาธิปไตยใหม่” มั่นใจว่าจะได้คัมแบ็ก สู่สภาฯ อีกรอบ กะเกณฑ์ตัวเลขไม่ต่ำกว่า 3 คน
โดยขณะนี้ พรรคประชาธิปไตยใหม่ ได้วางกลยุทธ์เจาะฐานราก ด้วยการเดินขอคะแนนเสียงแบบเคาะประตูบ้าน และตี “คู่แข่งตรงข้าม” ว่าเป็น “พวกขายตัว-ทิ้งชาวบ้าน”
ทางที่ “พลังท้องถิ่นไท” เลือก และทางรอดของ “ประชาธิปไตยใหม่” ที่อิงกับ “กลุ่มป่ารอยต่อ” ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยจากกติกาเลือกตั้งที่ไม่เอื้อพรรคเล็ก ปัจจัยที่พรรคเล็กมิอาจครอบครองกระแส และไร้กระสุน ดังนั้นการหาพันธมิตรสนับสนุน จึงอาจเป็นทางที่พอทำให้รอด.