“ดร.ณัฎฐ์" คลี่ปมข้อกฎหมาย ระเบียบใหม่ “ยุบพรรค”ฉบับติดเทอร์โบ
“ดร.ณัฎฐ์” คลี่ปมข้อกฎหมาย ระเบียบใหม่ “ยุบพรรค”ฉบับติดเทอร์โบ ระยะเวลากระชับ การไต่สวนชั้น กกต.ต้องให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย หากเร่งรัด ไม่สุจริต กลั่นแกล้งให้ยุบพรรค กกต.และคณะกรรมการไต่สวนฯ เสี่ยงคุก
วันที่ 5 มีนาคม 2566 จากกรณี กกต.ได้ออกระเบียบ กกต.ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ.2566 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 เกี่ยวกับการปฎิบัติของนายทะเบียนพิจารณาและข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานแล้วเห็นว่า มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 แห่ง พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ให้ กกต.พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หาก กกต.ไม่เห็นชอบตามความเห็นของนายทะเบียนให้ยกคำร้องหรือยุติเรื่อง แล้วแต่กรณีแล้วแจ้งให้ผู้ร้องทราบ ในกรณีที่ กกต.เห็นชอบตามความเห็นของนายทะเบียนให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ในกรณีที่ กกต.เห็นว่า การรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ให้ส่งเรื่องให้นายทะเบียนดำเนินการเพิ่มเติมให้ครบถ้วน
ล่าสุด ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฎฐ์” ปรมาจารย์กฎหมายมหาชนและผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญคนดัง เพื่อคลายปัญหาข้อกฎหมายระเบียบใหม่ของ กกต.ฉบับติดเทอร์โบ ว่า ก่อนหน้านี้ กกต.ได้ออกระเบียบ กกต.ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ.2564 มาบังคับใช้ ไม่มีปัญหาเรื่องระยะเวลาที่จำกัด แต่เมื่อมีพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23มกราคม 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอนให้ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมทุกฝ่ายในการอำนวยความยุติธรรม ซึ่ง กกต.เป็นองค์กรอิสระ ใช้อำนาจกึ่งตุลาการจึงอยู่ภายใต้บทบังคับตามาตรา 5 (7)
ดังนั้น กกต.จึงออกระเบียบใหม่ คือ ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ.2566 ข้อ 9 วรรคหนึ่ง เมื่อมีพยานหลักฐานอันควรเชื่อว่า พรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 แห่ง พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ให้คณะกรรมการพิจารณา ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ระยะเวลาตามระเบียบใหม่ อาจเกิดปัญหาในทางปฎิบัติ เพราะกระบวนการรวบรวมข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน ในระบบไต่สวนของ กกต.ยังมีปัญหาในทางปฎิบัติ
หากไปตัดพยานบุคคล หรือไม่รับพยานเอกสารของผู้ถูกร้อง จะทำให้กระทบการอำนวยความยุติธรรมในกระบวนการไต่สวนของ กกต.ตามหลักฟังความทุกฝ่าย กกต.เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ระดับขนาบเดียวกับฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ ย่อมมีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย ในการออกระเบียบฉบับใหม่มาบังคับใช้เพื่อให้สอดคล้องกับการอำนวยความยุติธรรมในคดียุบพรรคการเมืองตามมาตรา 92 แห่ง พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในชั้นไต่สวนของ กกต. การลดขั้นตอนและระยะเวลาโดยใช้ระยะเวลา 67 วัน จะกระทบต่อความเป็นธรรม จะเกิดปัญหาในทางปฏิบัติหรือไม่ “ดร.ณัฎฐ์” กล่าวว่า ดุลยพินิจกระบวนการไต่สวนของ กกต.ในการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมืองจะต้องรับฟังทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้อง (พรรคการเมือง) ต้องอยู่บนพื้นฐานหลักการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน หากพิจารณาถึงระเบียบข้อ 9 บัญญัติไว้ถึงมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 แห่งกฎหมายพรรคการมือง หลักฐานอันควรเชื่อ ย่อมต้องหมายถึง พยานหลักฐานที่ไม่ได้ปรุงแต่งกลั่นแกล้งพรรคการเมือง พยานหลักฐานจะต้องเกิดโดยธรรมชาติ ไม่ผิดธรรมชาติ โดยตั้งธงยุบพรรคการเมืองที่ถูกร้อง หากใช้ดุลพินิจโดยไม่สุจริต ตามอำเภอใจ กลั่นแกล้งพรรคการเมือง จะเป็นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กกต.หรือคณะกรรมการไต่สวนฯ อาจติดคุกได้ หากพิจารณาถึงพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ.2565 เพื่อให้กระบวนพิจารณาในชั้น กกต. พิจารณาอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่องและเป็นธรรม ฟังความทุกฝ่าย เป็นหลักการเดียวกับการพิจารณาของศาลยุติธรรม และถูกนำไปใช้ในองค์กรอิสระ ปปช.ด้วยกรณีคดีค้างและล่าช้า หากพิจารณาถึงระเบียบยังเปิดช่องให้ในข้อ 11 วรรคสอง กรณีที่มิได้กำหนดไว้หรือมีเหตุจำเป็น คณะกรรมการอาจกำหนด ยกเว้น ผ่อนผันการปฏิบัติตามความในระเบียบนี้ได้
กรณีไต่สวนไม่เสร็จสิ้น กกต.อาศัยอำนาจ พรป.ว่าด้วย กกต. พ.ศ.2565 ใช้ดุลพินิจในการขยายระยะเวลาในการไต่สวนได้ ดังเช่น กระบวนยุติธรรมในคดีเลือกตั้ง ตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2561 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 หากไม่มีมูล กกต.ยกคำร้องหรือยุติคดี หากสำนวนไม่สมบูรณ์ คืนสำนวนให้นายทะเบียนไปไต่สวนเพิ่มเติมให้ครบถ้วน หากมีมูล กกต.จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในชั้นศาล เป็นอีกขั้นตอหนึ่ง กระบวนพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญตาม พรป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 ที่ให้ความเป็นธรรมแก่คู่ความทุกฝ่าย ดังนั้น กรอบระยะเวลาชั้นไต่สวนของ กกต.อาจกระชับหรือขยายย่อมเป็นไปได้ พรรคการเมืองหรือผู้สมัคร ส.ส.ที่สังกัดพรรคการเมือง อย่าไปกระต่ายตื่นตูม คาดคะเนล่วงหน้าจนเกินไป ตนเชื่อว่า ประเทศไทย มี พระสยามเทวาธิราชปกป้องคุ้มครองแผ่นดินใครคิดไม่ดีต่อแผ่นดิน ย่อมมีอันเป็นไปทุกราย
ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ.2566 การยุบพรรคติดเทอร์โบ ทำให้พรรคการเมืองฝ่ายค้าน ที่ไม่ได้ถืออำนาจรัฐ เกรงว่าจะถูกกลั่นแกล้ง หรือตั้งธงยุบพรรคในช่วงได้เบอร์เลือกตั้ง ก่อนการเลือกตั้ง เหมือนกับพรรคไทยรักษาชาติ ทำให้มีสภาพแพแตก ทำให้คะแนนสวิงไปพรรคการเมืองที่มีอำนาจหรือพรรคการเมืองในเครือข่ายส้มหล่น อีกมุมหนึ่ง พรรคการเมือง จะต้องไม่ทำผิดกฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.และข้อห้ามกก.บห.พรรคการเมือง ที่นำไปสู่การยุบพรรค ล่าสุดกระแสข่าวสะพัด พรรคการเมือง 3 พรรค อยู่ในข่ายถูกยุบพรรค ตรงนี้ ต้องพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมาย กระบวนการยุบพรรค ประเทศไทยไม่ได้ใช้ศาลโซเชี่ยลมาตัดสิน คือ ยุบพรรคล่วงหน้าไปแล้ว
เชื่อว่า ศาลรัฐธรรมนูญให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย การรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานชั้น กกต.ต้องยึดโยงหลักกฎหมายและการรับฟังพยานหลักฐานทุกฝ่าย มีกระบวนการและขั้นตอนที่ให้ความเป็นธรรม หากคณะกรรมการไต่สวนฯใช้สิทธิเกินส่วนหรือใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย กฎหมายย่อมไม่คุ้มครอง ตามหลักการใช้อำนาจตามกฎหมายมหาชน ต้องแยกระหว่างกัน การใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญของ กกต.รัฐธรรมนูญคุ้มครอง กกต. อีกประการหนึ่ง การรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง เป็นการใช้อำนาจ พรป.ว่าด้วย กกต.พ.ศ.2560 และ พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 ประกอบระเบียบ กกต.ที่เกี่ยวข้อง ต้องอยู่บนพื้นฐานหลักสุจริตเท่านั้น หากใช้อำนาจตามอำเภอใจ จะมีความผิดอาญาและความรับผิดทางแพ่ง หรือคดีปกครอง ตามมา จึงขอให้ระมัดระวังในการใช้อำนาจ มิให้มีผลกระทบต่อพรรคการเมือง สถาบันทางการเมือง พรรคการเมืองยุคใหม่ “ตั้งยาก ต้องยุบยาก” ถึงจะเป็นสถาบันทางการเมือง ไม่ใช่ว่า “ตั้งยาก ยุบง่าย”