"จุรินทร์"ยันขึ้นเงินอสม.ผลงานร่วมกัน3พรรค ริเริ่มสมัยรัฐบาลปชป.

"จุรินทร์"ยันขึ้นเงินอสม.ผลงานร่วมกัน3พรรค ริเริ่มสมัยรัฐบาลปชป.

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ปัดเคลมขึ้นเงินอสม.ยืนยันผลงานร่วมกัน3พรรค ริเริ่มสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์อภิสิทธ์เป็นนายกฯ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ให้สัมภาษณ์ถึงการที่มีพรรคการเมืองออกมาอ้างผลงานในเรื่องการเพิ่มค่าป่วยการ อสม. เป็น 2,000 บาท / เดือน ว่าเรื่องดังกล่าวนั้นเป็นผลงานร่วมกันของคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะ 3 พรรคการเมืองที่กำลังเป็นข่าวอยู่ ทั้งประชาธิปัตย์ภูมิใจไทย และรวมไทยสร้างชาติ ล้วนถือเป็นผลงานร่วมกันทั้งสิ้น เพราะรัฐมนตรีที่ดูแลกรมส่งเสริมบริการสุขภาพ ซึ่งดูแล อสม. ก็คือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข จากพรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้นเรื่องในการสนับสนุน ส่งเสริมให้ อสม. มีค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นจาก 1,000 บาท เป็น 2,000 บาท 

สำหรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสังกัดพรรคภูมิใจไทย ก็ต้องเป็นผู้ที่เห็นชอบ จึงจะนำเข้า ครม. ได้ ก็ถือว่าเป็นผลงานของท่านด้วย และถ้าท่านนายกรัฐมนตรี หากไม่อนุมัติให้เข้า ครม. ก็จะไม่ได้มีการอนุมัติ ก็ต้องถือว่าเป็นผลงานของท่านนายกฯ ด้วย จึงเป็นผลงานร่วมกันไม่ใช่ผลงานใครคนใดคนหนึ่ง

“ผมก็ทราบเรื่องตั้งแต่ต้น เพราะรัฐมนตรีช่วยกระทรวงสาธารณสุขก็มาปรึกษาผม เป็นเดือนๆ มาแล้วว่า อยากเพิ่มค่าตอบแทน อสม. จาก 1,000 เป็น 2,000 ผมก็เห็นด้วย เพราะถึงเวลาแล้ว ยืนยันว่าไม่ใช่เฉพาะผลงานภูมิใจไทยประชาธิปัตย์ รวมไทยสร้างชาติ แต่เป็นผลงานร่วมกันที่ได้ทำกันมา ก็แบ่งๆ กันไป ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งหรอก” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว 

 

พร้อมกับเพิ่มเติมว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่เริ่มต้นให้ค่าตอบแทน อสม. มาตั้งแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ และผมเป็นรัฐมนตรีสาธารณสุข ตอนนั้นเราเริ่มต้นให้ 600 บาท ต่อมารัฐบาลถัดมาก็เพิ่มให้เป็น 1,000 บาท แล้วรัฐบาลนี้ก็เพิ่มเป็น 1,500 ช่วงนึง เพราะช่วยเรื่องโควิด 500 บาท แล้วมาถึงปลายรัฐบาล เราก็ให้เป็น 2,000 เพราะฉะนั้นจึงมีความเหมาะสม และ อสม. ก็มีภารกิจเพิ่มขึ้น ตอนที่ตนเป็นรัฐมนตรีสาธารณสุข ก็ได้ยกระดับสถานีอนามัย 10,000 แห่ง ขึ้นเป็น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) ครบทั้ง 10,000 แห่ง ภายใน 2 ปี ซึ่งแปลว่า อสม. ต้องเข้ามามีภารกิจเพิ่มขึ้นในการทำงานร่วมกับ รพ.สต. ด้วย ดังนั้นในช่วงเวลานี้จึงมีความเหมาะสมที่จะเพิ่มเป็น2,000 บาท นอกจากนี้ไม่ว่าจะเดินทางไปประชุมที่ไหนในโลก และไม่ว่าประชุมครั้งไหนก็ตาม โดยเฉพาะ WHO นับหนึ่ง องค์การอนามัยโลกต้องสรรเสริญ อสม. จากประเทศไทย เป็นต้นแบบของสาธารณสุขมูลฐาน จึงถือว่า อสม. เป็นผู้ที่ทำงานหนัก และเสียสละมาเนิ่นนาน ได้ 2,000 บาทนี้ ก็ยังไม่พอหรอก แต่อย่างน้อยก็เป็นค่าเดินทาง ค่าป่วยการเพราะพื้นฐานของ อสม. ก็คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ดังนั้นพื้นฐานคือเป็นอาสาสมัคร ไม่ได้หวังค่าตอบแทน แต่สิ่งนี้เป็นการช่วยค่าใช้จ่ายจากการเดินทางไปอาสาทำงานให้กระทรวงสาธารณสุข

ส่วนที่ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่พรรคการเมืองพูดเรื่องนี้เป็นการใช้ประโยชน์ในช่วงเลือกตั้งหรือไม่ นั้น นายจุรินทร์กล่าวว่า ตนขอไม่วิจารณ์ ไม่เป็นไร และเป็นธรรมดาในตอนหาเสียงเลือกตั้ง ทุกคนก็ต้องเอาผลงานไปบอกให้ประชาชนทราบ ประชาธิปัตย์ก็ต้องไปบอก แม้ว่าจะเป็นผลงานร่วมกัน เมื่อถึงเวลาเราก็ต้องไปบอกเหมือนกันว่าเราเป็นคนเริ่มต้น 600 บาท สำหรับเบี้ยยังชีพ อสม. ต่อมาก็เป็น 1,000 เป็น 1,500 แล้วก็มาเป็น 2,000 เราก็มีส่วนร่วมเสนอ ซึ่งเราก็บอกไปตามข้อเท็จจริง ส่วนประชาชนจะเลือกใครไม่เลือกใครนั้น อยู่ที่ดุลพินิจของประชาชน คงจะมีอีกหลายปัจจัยในการประกอบพิจารณาที่คนลงคะแนนเลือกพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่ง คงไม่ใช่เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งเรื่องเดียว แต่อย่างน้อยเราก็พูดได้เต็มปากว่า ประชาธิปัตย์ก็เป็นอีกพรรคหนึ่ง หรือเป็นหนึ่งในจำนวนพรรคการเมืองที่ได้สนับสนุนให้มีการเพิ่มค่าตอบแทน อสม. เป็น 2,000 บาท 

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเพิ่มค่าตอบแทนดังกล่าว จะส่งผลต่อระบบงบประมาณ 2567 และถูกมองว่าจะเป็นภาระผูกพันหรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า เมื่อเพิ่มค่าตอบแทน ไม่ว่าอันไหนก็ตาม ก็ต้องใช้เงินงบประมาณเพิ่มขึ้น จึงต้องเป็นไปตามสถานภาพทางการคลังของประเทศต่อไป แต่เรื่องนี้ถ้าจะเริ่มก็ต้องเป็นของงบประมาณปี 67 ซึ่งจะเริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป ซึ่งจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์และข้อเท็จจริงต่อไป อย่างน้อยคณะรัฐมนตรีชุดนี้ก็ได้อนุมัติเป็นหลักการไว้แล้ว