เสวนา "ปฏิรูปตำรวจ" ชงแยก 13 หน่วยงานออกจากตำรวจ ปรับโครงสร้างยึดโยงประชาชน
เสวนา "ปฏิรูปตำรวจ" เห็นพ้อง ทำองค์กรให้เล็ก แยก 13 หน่วยงานออกจากตำรวจ ปรับโครงสร้างยึดโยงประชาชน ตัดอำนาจการเมือง เปิดทาง ผู้หญิง-กลุ่มLGBTQ เป็น ตำรวจ
มหาวิทยาลัยรังสิต จัดเสวนา “ปฏิรูปตำรวจ” ปฏิรูป หรือ ปฏิลวง? จัดโดย: คณะอาชญาวิทยาเเละการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต
มีผู้ร่วมเสวนาโดย นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง ภาคประชาชน นายวิทยา แก้วภารดัย รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ รองศาสตราจารย์ พันตำรวจโท ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีฯ และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นายแทนคุณ จิตต์อิสระ พรรคประชาธิปัตย์ น.ส.ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ พรรคไทยสร้างไทย
นายชูวิทย์ ระบุว่า ขอเสนอ 2 ยาแรงที่ใช้ในการปฏิรูปตำรวจ คือ ทำองค์กรตำรวจให้เล็กลง เนื่องจากปัจจุบัน องค์กรตำรวจมีขนาดใหญ่เกินไป มีตำรวจทั่วประเทศ 230,000 นาย มีนายพล 500-600 นาย เป็นองค์กรเก็บอำนาจเอาไว้ทั้งหมด ตนมองว่ามี 13 หน่วยงานที่ควรแยกออกจากการดูแลของตำรวจ เช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจป่าไม้ ตำรวจเศรษฐกิจ ตำรวจรถไฟ ตำรวจน้ำ และ ให้ลงโทษตำรวจทุจริต-คอรัปชั่น ให้รวดเร็ว เพราะตำรวจทำงานใกล้ชิดประชาชน แต่ในความเป็นจริงการปฏิรูปตำรวจ ทำได้ยาก เพราะไม่มีใครทำจริงจัง และไม่มีคนยอมสละอำนาจ
ด้าน นายวิทยา มองว่า ตำรวจคือกองกำลังติดอาวุธ ดูแลความสงบเรียบร้อยของประเทศ หากควบคุมคนติดอาวุธไม่ดี ก็จะสะเทือนไปหมด และอำนาจตำรวจเข้าถึงในทุกๆเรื่อง เราให้อำนาจกับตำรวจมากเกินไป และเห็นด้วยที่จะนำงานที่ไม่ใช่หน้าที่ของตำรวจออกจากตำรวจ อย่างไรก็ตาม ความพยายามปฏิรูปตำรวจมีมานานแล้ว ในปี 2544-2545 เคยเสนอเอา ตม. ออกจากตำรวจ ไปขึ้นตรงกับกระทรวงต่างประเทศ แต่เจออิทธิฤทธิ์ตำรวจ ทำให้กฎหมายตีตก สุดท้าย ตม. ไปขึ้นตรงกับตำรวจเหมือนเดิม สำหรับการปฏิรูปตำรวจ มองว่า ต้องเน้นใน 2 เรื่อง คือ เกิดความเป็นธรรมกับตำรวจ และ ประชาชนได้รับประโยชน์เช่นกัน และต้องลดอำนาจบางอย่างที่ไม่ใช่หน้าที่ตำรวจ
นายวิทยา กล่าวต่อว่า องค์กรตำรวจ ต้องปฏิรูปภายใน แก้ปัญหาการซื้อขายตำแหน่ง เพราะมองว่าในอนาคต ตำรวจจะอ่อนแอลงเรื่อยๆ หากยังใช้ระบบการวิ่งเต้นอยู่แบบนี้ และกระจายอำนาจการสอบสวนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าอวดรู้กฎหมายทุกฉบับ ต้องคืนกฎหมายให้ผู้เชี่ยวชาญ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ ส่วนตำรวจแค่ทำหน้าที่สนับสนุน ดังนั้นการปฏิรูปตำรวจ
ต้องผ่าระบบงานสอบสวนและผ่าการปฏิบัติการ ให้เจ้าของงานจริงๆดำเนินการ นี่คือสิ่งที่ประชาชนจะได้ และทุกอย่างในกระบวนยุติธรรม ต้องมีกำหนดเวลาที่ชัดเจน
พันตำรวจโท ดร.กฤษณพงค์ กล่าวว่า ตำรวจมีสายบังคับบัญชาคล้ายทหาร จึงทำให้มีระยะห่างกับประชาชน การแก้ปัญหาอาชญากรรมไม่ดีเท่าที่ควร จากการศึกษาพบว่า ตำรวจไทยใช้ระบบการบริหารแบบดั้งเดิม ในขณะตำรวจสมัยใหม่ อย่างของต่างประเทศ เรียกว่า กิจการงานตำรวจที่มีความเห็นชอบของประชาชน ดังนั้นควรแก้ระบบโครงสร้างตำรวจแบบทหาร หรือการรวมศูนย์ เพราะอำนาจยึดโยงการเมือง ทำให้การเมืองขี่ตำรวจ จนตกเป็นเครื่องมือของการเมือง
แต่ให้ยึดโยงกับประชาชน ส่วนการโยกย้ายตำรวจซึ่งปัจจุบันมีปัญหามาก ต้องทำให้เกิดความ โปร่งใส เป็นธรรม การโยกย้ายอย่าให้ยึดโยงกับผู้บังคับบัญชา
พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจของตำรวจ ลดการใช้อำนาจที่ไม่ชอบ เปิดโอกาสกลุ่มหลากหลายทางเพศ
(LGBTQ )ได้เป็นตำรวจ โดยเฉพาะปัจจุบันมีตำรวจผู้หญิงน้อยมาก และก่อนหน้านี้เคยเปิดให้ ผู้หญิง ได้เรียนนายร้อยตำรวจแต่ถูกยกเลิกไปแล้ว
ทั้งนี้ตนมองว่า องค์กรตำรวจเดินทางผิดมา 40 ปีแล้ว เรามีรัฐบาลมาจากทหาร มาจากการรัฐประหาร ก็มากดทับตำรวจ เอา ตำรวจเป็นกองทัพที่4 รองรับรัฐประหาร เนื่องจากหากไม่นำเข้ามาก็กังวลในข้อหา ม.113 เรื่องกบฏ ซึ่งตำรวจมีอำนาจเต็มที่ในการจับกุมได้
น.ส.ธิดารัตน์ กล่าวว่า หากพูดถึง ตำรวจ คิดถึง 3 อย่าง คือ 1.อำนาจนิยม ถือเป็นระบบมีอำนาจสูงสุด ที่ไม่สัมพันธ์กับภาคประชาชน ในระบบของตำรวจ มีนาย มีลูกน้อง จึงทำ ให้ประชาชน ถูกมองเป็นลูกน้องด้วยหรือไม่
2.คอรัปชั่น ส่วย ตั๋วช้าง การเลื่อนตำแหน่ง ซึ่งไม่เป็นไปตามกลไกความสามารถ มีการเมือง เล่นพวก เปลี่ยน ผบ.ตร. ทุกอย่างเปลี่ยนตาม
3.ระบบชายเป็นใหญ่ โดยเฉพาะคดีล้วงละเมิดทางเพศ พนักงานสอบสวนไม่มีผู้หญิง ทำให้เกิดช่องว่างการทำงาน