‘อนุดิษฐ์’กระตุกกสทช.แจงประมูลวงโคจรดาวเทียมเหตุพิรุธเพียบ

‘อนุดิษฐ์’กระตุกกสทช.แจงประมูลวงโคจรดาวเทียมเหตุพิรุธเพียบ

“อนุดิษฐ์” ผอ.สปก. ไทยสร้างไทย โวยกสทช.ทำนิ่ง ไม่แจงทำไมใช้วิธีประมูลวงโคจรดาวเทียม ทั้งที่พิรุธเพียบ สัญญาสัมปทานได้ประโยชน์กว่า จวกปล่อยผู้ชนะได้ราคาต่ำ แต่เชื่อทำกำไรได้อื้อ

ที่พรรคไทยสร้างไทย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีต ส.ส.กทม. ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานปราบโกง (ผอ.สปก.) พรรคไทยสร้างไทย ได้แถลงข่าวตั้งข้อสังเกตถึงการประมูลวงโคจรดาวเทียมของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่มีข้อพิรุธ และข้อสงสัยหลายประการว่าก่อนหน้านี้ ตนได้ซักถามคำถามหลายข้อไปยังคณะกรรมการ กสทช.และ ผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการที่ กสทช.เลือกวิธีการประมูลวงโคจรดาวเทียม แทนที่จะออกใบอนุญาตให้กับหน่วยงานของรัฐเพื่อใช้ประโยชน์โดยตรง 

แล้วจากนั้นจึงค่อยให้สัมปทานกับเอกชนเพื่อยิงดาวเทียมขึ้นไปประกอบธุรกิจต่อไป ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิส่วนใหญ่เห็นว่าวิธีการนี้สามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับประเทศได้มากกว่า แต่ถึงขณะนี้ กสทช.ก็ยังไม่เคยชี้แจงเหตุผลใดๆเลย รวมทั้งไม่เคยเปรียบเทียบว่า ทำไมถึงเลือกใช้ประมูล และวิธีการประมูลเป็นวิธีที่ดีที่สุดได้อย่างไร โดยเฉพาะการประมูลที่ผ่านมา มีบริษัทเพียง 3 บริษัท ที่เข้าประมูล และหนึ่งในนั้นถูกครหาว่าเป็นเพียงคู่เทียบเพื่อให้ครบองค์ประกอบเท่านั้น
 

“ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ วงโคจรที่มีศักยภาพในการทำธุรกิจถูกประมูลไปในมูลค่าที่สูงกว่าราคาขั้นต่ำเพียง 5% เศษเท่านั้น ซึ่งบุคคลในวงการย่อมทราบดีว่า บริษัทที่ประมูลวงโคจรได้วงโคจรที่มีศักยภาพไปในราคาที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับมูลค่าทางการค้าที่เอกชนสามารถนำไปแสวงกำไรได้ต่อไป ซึ่งต่างจากการที่รัฐให้เอกชนนำวงโจรดาวเทียมไปใช้งานภายใต้สัญญาสัมปทาน ซึ่งรัฐและประชาชนจะได้ประโยชน์มากกว่า ทั้งรายได้จากสัมปทานและการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมโดยตรง” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวต่อไปว่า ยกตัวอย่างเรื่องวงโคจรดาวเทียมของไทยคม 7 และไทยคม 8 ที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้ โดยขณะที่ตนดำรงตำแหน่งรมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้เสนอเรื่องให้ คณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบ เพื่อมอบหมายให้ บริษัท ไทยคม ไปทำหน้าที่แทนกระทรวงไอซีทีในการจองตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศเท่านั้น ซึ่งตำแหน่งวงโคจรของดาวเทียมไทยคม 7 และ ไทยคม 8 ดังกล่าวยังอยู่ภายใต้สัมปทานรัฐ ซึ่งสอดคล้องกับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ กสทช. ออกให้บริษัทไทยคมโดยกำหนดว่า “ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและกฎเกณฑ์ที่กระทรวงไอซีทีกำหนด”  
 

โดยกระทรวงไอซีทีได้มีหนังสือแจ้งบริษัทไทยคมมาตลอดว่า ดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ยังอยู่ภายในสัญญาสัมปทาน และขอให้ไทยคมจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับรัฐบาลตามที่เคยจ่ายด้วย แต่สุดท้ายบริษัทไม่ยอมจ่ายและทำหนังสือโต้แย้งไม่ยอมอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานโดยนำเรื่องนี้ไปฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ซึ่งขณะนี้คดีเรื่องนี้ยังไม่ถึงที่สุด

“ผมเชื่อว่าศาลปกครอง ย่อมพิจารณาคดีนี้โดยคำนึงถึงความถูกต้อง และประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลักอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามก็จะเห็นได้ว่า การที่วงโคจรดาวเทียมอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานของรัฐ ย่อมสามารถเก็บรายได้และผลประโยชน์ได้มากกว่าการประมูลอย่างแน่นอน และเอกชนย่อมหลีกเลี่ยง และไม่อยากอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทาน ดังนั้นจึงต้องถามกลับไปที่ กสทช. อีกครั้งว่า ทำไมท่านจึงเลือกวิธีการประมูล” น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุ

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวด้วยว่า การที่ตนออกมาตรวจสอบเรื่องวงโคจรดาวเทียมครั้งนี้ เพราะวงโคจรดาวเทียมเป็นทรัพย์สมบัติของคนไทยทุกคน จึงอยากเรียกร้องให้ กสทช. ออกมาชี้แจงในประเด็นนี้ให้ชัดเจนเพื่อความโปร่งใส และอยากเรียกร้องไปยังผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่แสวงประโยชน์กับ ดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ทุกฝ่าย ขอให้ท่านได้ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และเงื่อนไขของ กสทช. ที่กำหนดให้การใช้ประโยชน์วงโคจรดาวเทียมยังต้องอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานของรัฐต่อไป