พลิกคดีใน ป.ป.ช.เขย่า “ศักดิ์สยาม” ปมหุ้น - เขากระโดงรอเช็กบิล
"ทั้งหมดคือข้อมูลการยื่นเรื่องร้องเรียนกล่าวหา “ศักดิ์สยาม” ที่มีความคืบหน้าไปแล้วอย่างน้อย 2 กรณีคือ การถูกกล่าวหาว่าใช้ “นอมินี” ถือครองหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ ที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว และประวิงเวลาออกใบอนุญาตการบินแก่บริษัทเอกชน"
กำลังกลายเป็นตำบลกระสุนตก สำหรับ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย น้องชายหัวแก้วหัวแหวน “ครูใหญ่เนวิน” เพราะตอนนี้กำลังเจอสารพัดคดีกล่าวหา เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า นับตั้งแต่ “เสี่ยโอ๋” เข้ามากุมบังเหียนกระทรวงคมนาคม ภายหลังการเลือกตั้งปี 2562 เผชิญสารพัดข้อร้องเรียนจำนวนมาก ไล่เรียงมาตั้งแต่ “ปัญหาส่วนตัว” คือ กรณีการถือครองหุ้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ลุกลามมาถึงประเด็นผลประโยชน์สาธารณะ ทั้งกรณี “เขากระโดง” และเรื่องการอนุมัติโครงการอื่น ๆ
หลายคนอาจมองว่าการยื่นร้องเรียน “ศักดิ์สยาม” ครั้งนี้ อาจเป็นแค่การ “ดิสเครดิต” ทางการเมือง แต่ในอีกมุมก็ปรากฎข้อเท็จจริงในเรื่องที่กล่าวหาเช่นกัน เห็นได้จาก “องค์กรอิสระ” หลายแห่งรับลูกไต่สวน และวินิจฉัยในข้อร้องเรียนต่าง ๆ
หากไล่เรียงมากรณีกล่าวหาการถือครองหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ ปัจจุบันถูกร้องเรียนใน 2 ช่องทาง คือ
1.ชั้นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ กรณี ส.ส.ฝ่ายค้าน ลงชื่อยื่นคำร้องให้วินิจฉัยสถานะการดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม ของ “ศักดิ์สยาม” ว่าต้องพ้นสมาชิกภาพหรือไม่ เนื่องจากกล่าวหาว่า ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของ หจก.บุรีเจริญฯ อย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้ผู้ถูกร้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของ หจก. เป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 ประกอบ พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 มาตรา 4 (1) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของศักดิ์สยามสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่
ประเด็นนี้เกิดจากสื่อมวลชนขุดคุ้ยข้อมูล กระทั่งฝ่ายค้านนำไปขยายผลว่า หจก.บุรีเจริญฯ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างย่านอีสานใต้ ที่ก่อตั้งโดยคนตระกูล “ชิดชอบ” กวาดงานกระทรวงคมนาคมจำนวนมาก ก่อนที่ “เสี่ยโอ๋” จะลาออก และขายหุ้นให้แก่บุคคลอื่น อาจไม่ได้มีการขายจริง แต่อาจเข้าข่ายใช้ “นอมินี” ถือครองแทน และยังเข้ามารับงานภายใต้กระทรวงคมนาคม ในช่วง “ศักดิ์สยาม” นั่งเก้าอี้ รมว.คมนาคม แล้ว เข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อนด้วยหรือไม่
กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ “เอกฉันท์” รับคำร้องดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า พยานหลักฐาน “มีมูล” และสั่งให้ “เสี่ยโอ๋” หยุดปฏิบัติหน้าที่ รมว.คมนาคม ไว้เป็นการชั่วคราวนับตั้งแต่ 3 มี.ค. 2566 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย และให้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแก่ศาลภายใน 15 วัน โดยถึงเส้นตายภายใน 18 มี.ค.นี้
2.กรณีถูกยื่นคำร้องแก่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบการถือครองหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ และตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเชิงลึกของ “ศักดิ์สยาม” โดยมี 2 เจ้าภาพจองกฐินไว้แล้วคือ “ฝ่ายค้าน” นำโดยพรรคก้าวไกล และพรรคประชาชาติ และล่าสุด “เสี่ยชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” อดีตนักการเมืองดัง ได้ยื่นคำร้องแก่ ป.ป.ช. ให้ไต่สวน “ศักดิ์สยาม” กรณีนี้เช่นกัน โดยมี “นิวัติไชย เกษมมงคล” เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมารับหนังสือร้องเรียนด้วยตัวเอง โดยกล่าวหาว่า อาจเข้าข่ายผิดมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ปกปิดบัญชีทรัพย์สิน รวมถึงเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนปัจจุบันยังอยู่ระหว่างไต่สวน
อีกหนึ่งปมร้อนต่อมาคือ กรณีการถือครองที่ดิน “เขากระโดง” ที่ปรากฏชื่อ “ตระกูลชิดชอบ” ถือครองที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยคดีนี้ศาลเคยมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดไปแล้ว รวมถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยชี้มูลความผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องไปแล้ว ทว่ากรมที่ดิน และ รฟท. ยังคงโยนกันไปมา ไม่ยอมเพิกถอนที่ดินดังกล่าว ทำให้ “ฝ่ายค้าน-ชูวิทย์” ยื่นคำร้องขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบว่า เข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่
ถัดมา “ศักดิ์สยาม” ถูกร้องเรียนกรณีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต และกรณีส่อ “ฮั้วประมูล” โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) พร้อมกับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้บังคับบัญชา โดยฝ่ายค้านอ้างว่า ประเด็นนี้มี “ใบเสร็จ” เป็นค่าส่วนต่างกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท โดยล่าสุดเมื่อ 13 มี.ค. 2566 “พรรคก้าวไกล” ได้ออกมาขยี้ประเด็นนี้อีกครั้ง พร้อมกับโชว์หลักฐานเอกสารเงินส่วนต่างดังกล่าวด้วย
อีกกรณีที่ถูกไต่สวนในชั้น ป.ป.ช.อย่างเงียบ ๆ กระทั่งเมื่อต้นเดือน มี.ค.2566 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีการประวิงเวลาและมีเจตนาที่จะไม่ให้ บริษัท สกาย เอกซ์ทรีม จำกัด ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนประเภทการทำงานทางอากาศ (เพื่อการทิ้งร่มอากาศ-โดดพสุธา) ทำให้บริษัทฯได้รับความเสียหายข้อเท็จจริงกล่าวหา “ศักดิ์สยาม” กับพวก อีกหนึ่งข้อหาด้วย
นี่ยังไม่นับประเด็นยิบย่อยต่าง ๆ ในช่วงดำรงตำแหน่งนับตั้งแต่ปี 2562 เช่น กรณีการเปลี่ยนป้ายสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ที่ใช้งบประมาณกว่า 33 ล้านบาท โดยใช้วิธี “เฉพาะเจาะจง” แทนที่จะเปิดประมูลปกติ แม้กระทรวงคมนาคมจะสรุปผลการตรวจสอบภายในว่า ไม่มีอะไรผิดปกติ แต่ค้านสายตาประชาชนเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ยังรวมถึงกรณีการก่อสร้าง “รัฐสภาใหม่” ที่ถูก “วิลาศ จันทร์พิทักษ์-วัชระ เพชรทอง” อดีตคนการเมืองค่ายสีฟ้า ร้องเรียนต่อสารพัดหน่วยงานให้ตรวจสอบความไม่ชอบมาพากล ทั้งการก่อสร้างล่าช้า เมื่อสร้างเสร็จแล้วพื้นที่บางส่วนใช้งานไม่ได้ มีน้ำท่วมคลิปโชว์หราในโซเชียล แม้ว่าการก่อสร้างรัฐสภาใหม่จะไม่เกี่ยวกับ “ศักดิ์สยาม” หรือตระกูลชิดชอบโดยตรง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้รับเหมาหลักคือ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) คือหนึ่งในขาธุรกิจครอบครัว “ชิดชอบ” ดำเนินการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างไต่สวนในชั้น ป.ป.ช.เช่นกัน
ทั้งหมดคือข้อมูลการยื่นเรื่องร้องเรียนกล่าวหา “ศักดิ์สยาม” ที่มีความคืบหน้าไปแล้วอย่างน้อย 2 กรณีคือ การถูกกล่าวหาว่าใช้ “นอมินี” ถือครองหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ ที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว และกรณีประวิงเวลาออกใบอนุญาตการบินแก่บริษัทเอกชน
อย่างไรก็ดีข้อกล่าวหาทั้งหมด ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนในชั้นต้น ยังไม่มีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด ดังนั้นจึงยังถือว่า “ศักดิ์สยาม” เป็นผู้บริสุทธิ์อยู่