คดีซื้อรถ 900 ล้าน ล็อก“บิ๊กแป๊ะ" แฝงหลังม่านการเมือง พรรค 2 ป.
"...ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชนักปักหลัง 1 แผล ทำให้อนาคตการเมืองของ “บิ๊กแป๊ะ” หลังถอดชุด “สีกากี” สวมสูทลงมาเล่นการเมือง มีอันต้องหยุดชงักลงชั่วคราว เพราะอาจต้องใช้เวลาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ เพื่อกู้ศรัทธาจากประชาชน..."
กลายเป็นอีกหนึ่งนักการเมืองที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งข้อกล่าวหาล่าสุด เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2566 ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง 2566
สำหรับ “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คดีถูกกล่าวหาจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าตรวจการณ์อัจริยะ จำนวน 260 คัน วงเงิน 900 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2561-2562 อาจแพงเกินจริง แถมเมื่อจ้างเอกชนแล้วยังดำเนินการล่าช้า พร้อมกับกังขาว่าเหตุใดจึงเลือกตั้ง “วิธีคัดเลือก” แทนการประมูลแบบปกติที่เปิดโอกาสให้เอกชนรายอื่นเข้าร่วม
โดยคดีนี้ “บิ๊กแป๊ะ” โดนพร้อมกับพวกรวม 46 ราย เหตุเกิดตั้งแต่ช่วงที่เจ้าตัวนั่งเก้าอี้ ผบ.ตร. โดยมี “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เมื่อครั้งเป็นปรึกษาพิเศษ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นคำร้องถึง “บิ๊กแป๊ะ” ให้ยกเลิกโครงการดังกล่าว เนื่องจากเกิดความล่าช้า และส่งงานไม่ทัน พร้อมกับยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ
ปัจจุบัน “บิ๊กแป๊ะ” พ้นจากตำแหน่ง ผบ.ตร. มาหลายปีแล้ว และเพิ่งพ้น "ชนัก" 2 ปีจากพ้นตำแหน่ง ส.ว.มาไม่กี่เดือน แม้จะมีสิทธิสมัครสมาชิก และดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองได้แล้วก็ตาม แต่ยังคงไม่เปิดออกมา "หน้าฉาก" ว่าอยู่สังกัดใด จึงเดินสายอยู่ “หลังฉาก” ให้กับพรรคการเมืองแทน โดยเฉพาะ ดีล การเมือง คอยจัดแจงการเข้าพบ “ป.ป้อม”ในมูลนิธิป่ารอยต่อฯ
กรณีล่าสุดที่มีการนัดล้อมวงกินข้าวระหว่าง “พี่ใหญ่ 3 ป.” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กับแกนนำพรรคภูมิใจไทย นำโดย “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล “เสี่ยโอ๋” ศักดิ์สยาม ชิดชอบ และ “ชาดา ไทยเศรษฐ์” ว่ากันว่า มาจากการจัดแจงของฝีมือ “บิ๊กแป๊ะ”
โดยก่อนหน้านี้ เจ้าตัวถูก “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) วางตัวให้คุมพื้นที่เลือกตั้งภาคอีสาน
แต่ตอนหลังมีกระแสข่าวสะพัดว่า “บิ๊กแป๊ะ” เริ่มออกห่างจาก “บิ๊กป้อม” ไปเข้าร่วมกลุ่มก๊วนกับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)
ย้อนกลับมาที่คดีจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าตรวจการณ์อัจริยะกันก่อน กรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2560 เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) มีโครงการจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะ รวม 260 คัน วงเงินงบประมาณ 900 ล้านบาท โดยระบุว่า รถยนต์ดังกล่าว จะวิ่งได้ระยะทาง 200 กิโลเมตร ต่อการชาร์จประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง และใช้เวลาในการชาร์จไฟฟ้า 1 ครั้ง ประมาณ 6 ชั่วโมง แต่ในข้อเท็จจริงขณะนั้น ตร.ยังไม่มีสถานที่ไว้ชาร์จประจุไฟฟ้ารถยนต์ดังกล่าว ส่อให้เห็นว่าการดำเนินโครงการนี้ อาจมีปัญหาในขั้นตอนการปฏิบัติงาน
หลังจากนั้น พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ และนายษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ ออกมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชนถึงความไม่ชอบมาพากลของโครงการนี้ว่า เป็นโครงการที่เกิดขึ้นต่อจากโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจพิสูจน์บุคคลโดยเทคโนโลยี Biometrics ระยะที่ 1 โดยเห็นว่า โครงการนี้อาจมีปัญหาเรื่องการจัดซื้อที่แพงเกินจริง และดำเนินการล่าช้า ส่งงานไม่ทัน เป็นต้น
ขณะที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปรึกษาพิเศษ สำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ถูกคนร้ายลอบยิงรถยนต์เมื่อคืนวันที่ 7 ม.ค. 2562 โดยเชื่อว่าเกิดจากสมัยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) และสั่งการให้มีการตรวจสอบโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจพิสูจน์บุคคลโดยเทคโนโลยี Biometrics ระยะที่ 1 พร้อมกับมีหนังสือถึง ผบ.ตร.ยุคนั้นคือ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ให้ยกเลิกโครงการดังกล่าว เนื่องจากเกิดความล่าช้า และส่งงานไม่ทัน พร้อมกับยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ
อย่างไรก็ดีฝ่าย ตร.ชี้แจงอ้างว่า โครงการนี้ไม่มีปัญหาอะไร และขั้นตอนการตรวจรับส่งมอบงานผ่านการรับรองจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แล้ว
หลังจากมีการยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.สอบมาราว 2 ปีเศษ ประมาณเดือน พ.ค. 2565 มีความคืบหน้าเรื่องนี้ เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ มีมติเห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องกล่าวหาประจำสำนักไต่สวนการทุจริตภาครัฐ 1 เสนอให้มีการแต่งตั้งองค์คณะไต่สวน (มีกรรมการ ป.ป.ช. 9 รายเป็นองค์คณะ) โดยมี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ เป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวน
สำหรับประเด็นการไต่สวนเรื่องนี้ มีทั้งกรณีการอนุมัติให้ใช้วิธีการจัดซื้อโดยวิธีคัดเลือก ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างฯ 2560 หรือไม่ การจัดซื้อโดยวิธีคัดเลือกเป็นเหตุให้ไม่มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมหรือไม่ การกำหนดราคากลางชอบหรือไม่ แพงเกินจริงหรือไม่ และการไม่คิดค่าปรับและแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเอกชนคู่สัญญาหรือไม่
ทั้งหมดคือหลังฉากในคดีการจัดซื้อรถตรวจการณ์อัจฉริยะ 260 คัน วงเงินกว่า 900 ล้านบาท ที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหาไปแล้ว
อย่างไรก็ดี พล.ต.อ.จักรทิพย์ และผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด ยังมีสิทธิชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาได้ภายใน 15 วัน และสามารถยื่นขยายเวลาแก้ข้อกล่าวหาได้อีก โดยเป็นดุลพินิจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในเมื่อยังไม่มีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด จึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชนักปักหลัง 1 แผล ทำให้อนาคตการเมืองของ “บิ๊กแป๊ะ” หลังถอดชุด “สีกากี” สวมสูทลงมาเล่นการเมือง มีอันต้องหยุดชงักลงชั่วคราว เพราะอาจต้องใช้เวลาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ เพื่อกู้ศรัทธาจากประชาชน
สิ่งที่ทำได้ คือ เคลื่อนไหวอยู่หลังม่านการเมืองในศึกเลือกตั้งครั้งนี้่ และที่ยากยิ่งกว่า คือการเลือกข้างระหว่างพรรค 2 ป.