บังคับใช้แล้ว! เปิดเบอร์ผี - บัญชีม้า ระวังคุก 3 ปี ปรับ 3 แสนบาท
ราชกิจจาฯ เผยแพร่ พระราชกำหนดมาตรการป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้อำนาจหน่วยงานรัฐ - สถาบันการเงินแลกเปลี่ยนข้อมูล ยับยั้งการโอนเงินเป็นทอด เข้มใครเปิดเบอร์ผี บัญชีม้า สนองแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เจอคุก 3 ปี ปรับ 3 แสนบาท
17 มี.ค.2566 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 เมื่อวันที่ 16 มี.ค. โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ เหตุผล และความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพบุคคลตามพระราชกำหนดนี้ เพื่อคุ้มครองประชาชนผู้สุจริต ซึ่งถูกหลอกลวงจนสูญเสียไปซึ่งทรัพย์สิน โดยผ่านโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งแต่ละวันมีผู้ถูกหลอกลวงจำนวนมาก และมีมูลค่าความเสียหายสูงมาก สมควรมีมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมประเภทนี้ให้หมดไปโดยเร็ว อันเป็นกรณีฉุกเฉิน ที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับพระราชบัญญัติดังกล่าวมีทั้งหมด 14 มาตรา โดยมีสาระสำคัญได้แก่ มาตรา 9 กล่าวโดยย่อคือ ผู้ใดเปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรเอทีเอ็ม หรืออี-มันนีของตน โดยไม่ได้ใช้เพื่อตนหรือกิจการของตนเอง (บัญชีม้า) หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ หรือยืมใช้เบอร์มือถือ โดยรู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือความผิดทางอาญาอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 10 กล่าวโดยย่อคือ ผู้ใดเป็นธุระ จัดหา โฆษณา หรือไขข่าวซื้อขาย ให้เช่า หรือให้ยืมบัญชีเงินฝาก บัตรเอทีเอ็ม หรืออี-มันนี เพื่อใช้กระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 11 กล่าวโดยย่อคือ ผู้ใดเป็นธุระ จัดหา โฆษณา หรือไขข่าวซื้อหรือขายเบอร์มือถือที่ลงทะเบียนแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ (เบอร์ผี) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พระราชบัญญัติดังกล่าว ยังกล่าวถึงขั้นตอนหากมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้สถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ และธนาคารของรัฐ หรือผู้ประกอบธุรกิจ เปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นชอบร่วมกัน และให้เครือข่ายโทรศัพท์มือถือหรือโทรคมนาคมอื่น เปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ดีอีเอส และสำนักงาน กสทช.เห็นชอบร่วมกัน และแจ้งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดีเอสไอ และ ปปง.ทราบโดยทันที และนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ป้องกัน ปราบปราม หรือระงับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ (มาตรา 4)
หากมีความจำเป็นต้องทราบข้อมูลการลงทะเบียนผู้ใช้งานหรือข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดีเอสไอ และ ปปง.มีอำนาจสั่งการให้เครือข่ายโทรศัพท์มือถือหรือโทรคมนาคมอื่น และที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่นำส่งข้อมูล (มาตรา 5) และในกรณีที่สถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบธุรกิจพบเหตุอันควรสงสัยเอง หรือได้รับข้อมูลว่าบัญชีเงินฝาก หรืออี-มันนีถูกใช้ หรืออาจถูกใช้ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือฟอกเงิน ให้มีหน้าที่ระงับและแจ้งสถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนถัดไป พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูล และระงับธุรกรรมชั่วคราวไม่เกิน 7 วันเพื่อตรวจสอบ (มาตรา 6)
กรณีที่สถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบธุรกิจได้รับแจ้งจากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ถือบัญชีเงินฝาก หรืออี-มันนี ว่าได้มีการทำธุรกรรมที่เข้าข่ายเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้มีหน้าที่ระงับการทำธุรกรรมชั่วคราว และแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อทราบ และระงับธุรกรรมทันที และแจ้งให้ผู้เสียหายไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายใน 72 ชั่วโมง และให้พนักงานสอบสวนพิจารณาภายใน 7 วัน (มาตรา 7) นอกจากนี้ ยังให้ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจที่ใดก็ได้ หรือกองบัญชาการตำรวจสืบสวน สอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ตำรวจไซเบอร์) หรือร้องทุกข์ออนไลน์ก็ได้ (มาตรา 8)
"เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันมีการใช้วิธีการทางเทคโนโลยีหลอกลวงประชาชนทั่วไปผ่านอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ จนทำให้ประชาชนสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก และผู้หลอกลวงได้โอนทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดดังกล่าวนั้นผ่านบัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของบุคคลอื่นต่อไปเป็นทอดๆ อย่างรวดเร็ว เพื่อปกปิดหรืออำพรางการกระทำความผิดซึ่งแต่ละวันประชาชนผู้สุจริตถูกหลอกลวงจำนวนมาก และมีมูลค่าความเสียหายสูงมาก และการหลอกลวงดังกล่าวซึ่งเป็นการกระทำความผิดได้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง และเป็นอันตรายร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะต้องมีมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้"
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์