“ชพก.”เป้า 25 ในรัฐบาล 300 เขตเลือกตั้ง จุดชี้วัด“ชนะในเกม”
"แม้เลือกตั้งรอบนี้จะไม่เหมือนปี 2562 ที่มีมาตรา 44 เป็นอำนาจแฝงเร้น แต่สิ่งที่จะวัดว่าใครจะชนะในเกมหรือไม่ คือการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต.”
รายการเนชั่น “สุดสัปดาห์กับ 3 บก.” เนชั่นทีวี ช่อง 22 พาบุกบ้าน “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” คีย์แมนคนสำคัญของ พรรคชาติพัฒนากล้า กางตำราการเมืองจากประสบการณ์ตรง 35 ปี บนเส้นทางสาย “นักเลือกตั้ง" เพื่อทำนายถึงภาพรัฐบาลที่คาดหวัง หลังเลือกตั้ง 2566 ที่ใกล้เข้ามา
สุวัจน์ ในวัย 68 ปี เปิดปฐมบท “การเมือง” เมื่อปี 2531 ด้วยวัยเพียง 33 ย่าง 34 ปี ซึ่งเป็นการลงสนามเลือกตั้งครั้งแรก แทนบิดา “วิศว์ ลิปตพัลลภ” ที่เคยลั่นสัญญาลูกผู้ชายไว้กับ “พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก” หัวหน้าพรรคปวงชนชาวไทย เมื่อครั้งมาพัฒนาถนนหนทางที่ เทศบาลเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดยไม่คิดเงินแม้สตางค์แดงเดียว
“ตอนนั้น พ่อผมอายุ 60 กว่าแล้ว มาปรึกษาลูกชาย โดยบรรดาลูกชาย 5 คน ผมมีศักดิ์เป็นเขยโคราช ทำให้ผมต้องเดินลงสนามการเมือง ในนามพรรคปวงชนชาวไทย ลงเลือกตั้งในเขตเมืองโคราช ชนกับนักการเมืองบิ๊กเนม คือ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ จากพรรคชาติไทย แต่ด้วย 4 ปัจจัย คือ
1.เพราะ พล.อ.อาทิตย์หัวหน้าพรรค ผูกพันกับคนโคราช เพราะเคยเป็นรองแม่ทัพภาคสอง ช่วยปราบปรามผู้ก่อการร้าย แม้พรรคปวงชนชาวไทยจะตั้งไม่กี่อาทิตย์ก่อนเลือกตั้ง แต่สามารถคว้าเก้าอี้ ส.ส.โคราชยกจังหวัด
2. เพราะเป็นเขยโคราช
3.นามสกุลลิปตพัลลภ ที่คุณพ่อเคยมาสร้างถนนให้
และ 4.เป็นคนหนุ่มนักเรียนนอกหน้าตาดี ทำให้เป็นที่รู้จัก และได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนสูงสุดในภาคอีสาน คือ 9.6 หมื่นคะแนน และเป็นที่ 2 ในระดับประเทศ เอาชนะ พล.อ.ชาติชาย ได้เป็นผู้แทนสมัยแรก ตั้งแต่ลงสนามเพียงครั้งแรก ตอนนั้นใครก็มองว่าเราคือ แจ๊ค” สุวัจน์ เท้าความ
สำหรับคีย์แมนคนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จและชัยชนะทางการเมือง ตั้งแต่ย่างเท้าแรกลงสนาม “สุวัจน์” บอกว่า คือ อ.ธีรยุทธ บุญมี ที่มาช่วยวางแผนการหาเสียงและปราศรัย และช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ได้ทำโพล
“ตอนทำโพลรอบแรก อ.ธีรยุทธ เดินเอาผลมาพูดกับผมว่า ที่ผ่านมาทำโพลไม่เคยผิด แต่ทำไมครั้งนี้ถึงผิด เพราะผมชนะเลือกตั้ง เขาไม่เชื่อโพลตัวเอง ทำให้ออกไปทำอีกครั้ง ก่อนเลือกตั้ง 3 วัน ซึ่งยืนยันผลเดิม แต่ผมไม่เชื่อ จนได้มาเจอผู้ว่าราชการจังหวัด แกเรียก หลานเอ๊ย เหนื่อยหาเสียงทำไม คะแนนลอยลำหมดแล้ว เมื่อเลือกตั้งเสร็จผลเป็นเช่นนั้นจริงๆ ตอนที่เขานับคะแนนบนกระดานไม้ เขาต้องไปเอากระดานไม้มาต่อ เพื่อขีดคะแนนให้ผม เพราะคะแนนล้น กระดานเดียวไม่พอ”
ทว่าในเวทีของ “สภาหินอ่อน” เริ่มบทบาทเป็นฝ่ายค้าน แต่เป็นระยะสั้นๆ เมื่อ “พล.อ.ชาติชาย” ปรับครม. หลังได้เป็นรัฐบาล และเชิญ “พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก” ร่วมรัฐบาล ทำให้ “สุวัจน์” วัย 34 ปี ถูกเลือกแบบเจาะจงจาก หัวหน้าแกนนำรัฐบาลให้รับตำแหน่ง รมช.คมนาคม ด้วยวิสัยทัศน์ที่ว่า เป็นเรื่องของบ้านเมือง ต้องมีคนรุ่นใหม่ร่วมด้วย
จากจุดเริ่มตรงนั้น มาถึงปัจจุบัน “ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า” ถือเป็นนักการเมืองที่ถูกบันทึกไว้ว่า เคยเป็น 7 รัฐมนตรี 2 รองนายกฯ อยู่กับ 6 นายกฯ ไล่มาตั้งแต่ พล.อ.ชาติชาย พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายชวน หลีกภัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายทักษิณ ชินวัตร และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้จะมีช่วงหนึ่งที่ถูกเว้นวรรคทางการเมือง หลังพรรคเพื่อไทยถูกยุบ แต่ยังมีคนใกล้ชิด และคนในครอบครัว อย่าง พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ ภรรยา เข้าร่วมรัฐบาล
“เป็นสิ่งที่ดี ที่ได้อยู่กับนายกฯหลายคน ได้เรียนรู้วิธีคิด ตัดสินใจทางการเมือง ทำให้ได้ประสบการณ์การเมืองแก้ปัญหา และหลังจากเลือกตั้งปี 2531 เกิดการรัฐประหารปี2534 มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยคณะของ อ.มีชัย ฤชุพันธุ์ ตอนนั้นผมได้รับเลือกให้ไปร่วมร่าง เพราะเขาอยากได้นักการเมืองรุ่นใหม่ ผสมผสานวิธีคิดต่างๆ และผมกลายเป็นต้นแบบของการเขียนเนื้อหาให้ รัฐมนตรีต้องอายุ 35 ปีขึ้นไป เพราะตอนนั้นผมเป็นรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในรัฐบาล คือ 35 ปี และมีการพูดถึงการกำหนดคุณสมบัติด้านอายุ ทั้ง 18 ปีมีสิทธิเลือกตั้ง 25 ปีมีสิทธิลงสมัครเลือกตั้ง 35 ปีเป็นรัฐมนตรี และ ส.ว.อายุ 40 ปี”
ขณะที่บรรยากาศการเมืองเมื่อ 30 ปีก่อน ในสายตาของ “สุวัจน์” คือ การเมืองไม่มีขั้ว ทำให้การทำงานร่วมกันดี แม้จะมีฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล แต่ละคนเข้าใจบทบาทของตนเอง เมื่อลงจากเวทีสภาฯ คนที่อภิปรายเป็นรุ่นน้องมายกมือขอโทษคนที่ถูกอภิปรายซึ่งเป็นรุ่นพี่ ก็ไม่โกรธกัน
“สมัยของท่านชาติชาย จะมีห้องสหประชาชาติ ที่ให้ ส.ส.ที่อภิปรายเถียงกันมาอยู่ด้วยกัน มาจิบไวน์ พูดคุย ตอนนี้เหมือนเป็นคนกลาง พูดแล้วจบ สมัยก่อนมีนักการเมืองผู้ใหญ่ ทั้ง ท่านชาติชาย ท่านบรรหาร พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ทำให้การเมืองเรียบร้อย ไม่ขัดแย้ง แต่การเมืองช่วงหลังพบว่าเหมือนเวทีมวย แม้ไม่ถึงขนาดเป็นศัตรู แต่คุณไม่ใช่พวกผม"
ส่วนการจับขั้วกันหลังยุบสภา ระหว่างเลือกตั้ง ประธานพรรคชาติพัฒนากล้าบอกว่า ไม่มีใครพูดก่อน จะรอให้เลือกตั้งเสร็จ เพราะให้เกียรติกัน คือ หลังเลือกตั้งใครมาที่หนึ่ง ให้เริ่มก่อน กึ่งๆ เป็นประเพณี หากที่หนึ่งไม่ได้ ค่อยให้ลำดับสอง
“การเมืองปัจจุบันมีสภาพของการแข่งขันที่สูง เพราะถูกแบ่งขั้ว ผมอยากเห็นการแข่งขันทางการเมืองในสนามเลือกตั้งอย่างเต็มที่ แต่หลังเลือกตั้งเมื่อประชาชนกาคะแนนเลือกตั้งและมีผลออกมาต้องยอมรับ ต้องยึดบ้านเมือง ไม่ใช่การเมือง คือ บ้านเมืองต้องมาก่อน ยุติความขัดแย้งในแต่ละค่ายเพื่อร่วมสร้างเสถียรภาพของรัฐบาล เพราะหากผลเลือกตั้งออกแล้ว ยังคาใจ ไม่จบกัน อาจเกิดเดดล็อกทางการเมืองได้ ดังนั้นนักการเมืองต้องมีสปิริต”
ส่วนสภาพการเลือกตั้งที่สุวัจน์ประเมินว่าจะแข่งขันสูงนั้น เพราะด้วยปัจจุบัน เขตเลือกตั้งเล็กลง แต่มีผู้เสนอตัวเป็นส.ส.จำนวนมาก ดังนั้นเลือกตั้งรอบนี้อาจได้เห็น คนที่ได้คะแนนไม่ถึง 2หมื่น ได้เป็นส.ส.
ส่วนการแข่งขันด้วย “มันนี่ โพลิติกส์” นั้นได้รับกระแสข่าวมา ซึ่งอาจเป็นกระแสแรงตามอัตราของเงินเฟ้อ ความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์และค่าเงินบาท ซึ่งตนไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการสร้างความได้เปรียบทางการเมืองด้วยเงิน ทั้งนี้เมื่อเราผ่านการปฏิรูปมาแล้ว ต้องแฟร์เพลย์
“ประเด็นมันนี่ โพลิติกส์ ผมมองว่า กกต.ต้องเข้มงวด กวดขัน เพื่อให้ผลการเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับ เพื่อส่งผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลที่ทุกฝ่ายยอมรับและมีเสถียรภาพ ที่จะเป็นความหวังให้ประชาชน และเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในประเทศ เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ ฟื้นประเทศจากความบอบช้ำทางเศรษฐกิจ ที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน เหมือนกับคนที่ลอยเรือกลางทะเล มองไม่เห็นฝั่ง ดังนั้นเราต้องการกัปตันเรือที่หันหัวเรือไปถูกทิศถูกทาง ไม่ใช่ลากไปเรื่อยๆ”
ขณะที่การวางสถานะของ พรรคชาติพัฒนากล้า ในเวทีการเมือง สุวัจน์มองจากเกมการเมืองว่า แม้จะแบ่งขั้ว แต่ประชาชนไม่มองที่ความขัดแย้ง แต่คือ ปากท้องต้องมาก่อน ดังนั้นการตัดสินใจของโหวตเตอร์ จะคิดถึงเศรษฐกิจ หนี้สิน และเงิน ดังนั้นเมื่อมองภาพแล้ว จึงออกแบบนโยบาย เน้นเรื่องเศรษฐกิจ การสร้างงานใหม่ ให้ทุกคนมีงาน มีเงิน และลดค่าครองชีพ สร้างความยั่งยืนให้ระบบเศรษฐกิจ เราไม่ทำนโยบายประชานิยม เพราะความจริงของเราคือ จะเอาที่ไหนไปฟุ่มเฟือยกับนโยบายประชานิยม เพราะภาวะการเงินของประเทศไม่เอื้ออำนวย
“ผมเชื่อว่าพรรคที่มีโอกาสในสนามเลือกตั้ง อย่างน้อยต้องได้ 25 ที่นั่ง เพื่อให้แคนดิเดตนายกฯของพรรคไม่ตกรอบแรก แต่จะเป็นใครบ้างนั้น ต้องรอยุบสภาฯ ผมมองว่าพรรคมีโอกาสน้อยที่จะได้เป็นพรรคแกนนำ ได้เป็นนายกฯ เพราะการแข่งขันสูง สู้กันเหนื่อย แม้เลือกตั้งรอบนี้จะไม่เหมือนปี 2562 ที่มีมาตรา 44 เป็นอำนาจแฝงเร้น แต่สิ่งที่จะวัดว่าใครจะชนะในเกมหรือไม่ คือการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต.”
สุวัจน์มองว่ารัฐบาลหลังเลือกตั้งเป็นรัฐบาลผสมแน่นอน ส่วนใครจะชนะ หรือเป็นแกนนำยังตอบไม่ได้ แล้วแกนนำตั้งรัฐบาลจะเลือกพรรคชาติพัฒนากล้าไปร่วม เหมือนกับเลือกดอกไม้ใส่แจกันหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเจ้าของแจกัน แม้ตอนนี้จะมีคนพูดว่า ขั้วรัฐบาลปัจจุบันคุยๆ กันถึงการร่วมงานกันอีกในอนาคต คือ แค่คุย แต่ยังไม่มีข้อสรุป
“สิ่งที่ผมมองภาพของรัฐบาลใหม่ แม้จะเป็นรัฐบาลผสม ต้องทำให้เกิดความมั่นคง คือ
1.มั่นคงเรื่ององค์ประชุมในสภาฯ เพื่อใช้เวทีสภาฯ แก้วิกฤติ แก้ปัญหาให้ประชาชนได้ โดยฝั่งรัฐบาล ต้องได้ 300 คนขึ้นไป มีเสถียรภาพของเสียงที่ทำให้นักลงทุนมั่นใจว่า รัฐบาลอยู่ครบ 4 ปีต่อเนื่อง
2.ต้องมีนโยบายรัฐบาลที่เป็นเอกภาพ และที่สำคัญคือ ต้องให้รัฐบาลมีเสถียรภาพเพียงพอ อย่าให้มีปัญหาว่าพรรคไหนถอนตัว แล้วรัฐบาลจะอยู่ไม่ได้ และ 3.ปัญหาประเทศรอไม่ได้ รัฐบาลใหม่ต้องมืออาชีพ รัฐมนตรีทำงานได้ทันที และพร้อมนำบ้านเมืองไปสู่ความทันสมัย ทันเหตุการณ์ของโลก และแก้ปัญหาได้ทันใจประชาชน”
ทว่า ก่อนการสร้างความมั่นคงให้รัฐบาลได้ อาจต้องเผชิญ “ด่านสกัด” สำคัญ คือ “การโหวตเลือกนายกฯ จาก ส.ว.250 คน” ที่บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ ซึ่งเซียนการเมืองอย่างสุวัจน์ มองด้วยภาพที่ไร้ความกังวล เพราะ ส.ว.ชุดปัจจุบันเคยวางบรรทัดฐานตัวเอง คือเลือกนายกฯ จาก “ฝั่งเสียงข้างมาก” มาแล้ว เพราะในช่วงที่แข่งขันระหว่าง “พล.อ.ประยุทธ์” กับ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ในรัฐสภา พบว่าฝั่ง “หนุนพล.อ.ประยุทธ์” ครองเสียงข้างมาก 254 เสียง ขณะที่ฝั่ง “ธนาธร” ที่ “พรรคเพื่อไทย” หนุนหลังมี 246 เสียง
“โอกาสที่ ส.ว.จะโหวตฝั่งเสียงข้างน้อย ผมมองว่าไม่ควรเกิดขึ้น เพราะนอกจากการเคารพเสียงประชาชนแล้ว ต้องคำนึงด้วยว่าการบริหารประเทศ ส.ว. ไม่เกี่ยว หากได้รัฐบาลเสียงน้อย หรือนายกฯเสียงข้างน้อย จะเป็นอันตรายกับบรรยากาศเศรษฐกิจของประเทศ ความเชื่อมั่นของนักลงทุน และที่หนักกว่านั้นคือ หากรัฐบาลอยู่ไม่ได้ต้องเลือกตั้งใหม่อีกครั้งเท่ากับซ้ำเติมปัญหาประเทศ ดังนั้นผมยังเชื่อวุฒิภาวะของ ส.ว. และมองว่าส.ว.จะมีเหตุผลพอที่จะพิจารณา เช่น หากการจับมือตั้งรัฐบาลมี 3 กลุ่ม คือกลุ่ม 200 เสียง 2 กลุ่ม และอีกกลุ่มมี 100 เสียง ยื้อกันแบบนี้ไม่ดีแน่ ส.ว.ต้องเข้ามาเป็นพระเอก คลายล็อกให้ประเทศด้วยการใช้ดุลยพินิจที่เหมาะสม“ สุวัจน์ กล่าว
ขณะที่ประเด็นเดดล็อกการเมือง ซึ่งหลายคนหวนคิดถึงการรัฐประหารอีก สุวัจน์ให้มุมมองว่า ไม่ควรจะมีแล้ว แม้ว่าการเมืองไม่มีอะไรแน่นอน แต่ถ้าการเมืองจะดีหรือไม่ดี ต้องให้ประชาชนตัดสิน นายกฯ ยังมีอำนาจยุบสภาได้ หากเห็นท่าว่าการเมืองไม่ดีแล้ว.