ย้อนรอย"ยุบสภา" 14 ครั้ง ทางหนีทีไล่ วิกฤติการเมือง

ย้อนรอย"ยุบสภา" 14 ครั้ง  ทางหนีทีไล่ วิกฤติการเมือง

การยุบสภา ตามหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย 14 ครั้งที่ผ่านมา พบว่า ถูกใช้เป็นทางหนีทีไล่ ของ "ขั้วอำนาจเดิม" ที่เผชิญชะตากรรม - วิกฤติการเมือง รีเซ็ตอำนาจตัวเอง ให้รอดพ้นบ่วงกรรม

สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 สิ้นสุดวาระแล้ว หลัง พระราชกฤษฎีกายุบสภา พ.ศ.2566 ประกาศเมื่อวันที่ 20 มีนาคม และถือเป็นการสิ้นสุดรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

สำหรับการยุบสภาในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย เกิดขึ้นแล้วรวม 14 ครั้ง โดยมีสาเหตุต่างกันในแต่ละบริบทการเมือง แต่ส่วนใหญ่เกิดวิกฤติการเมือง ทำให้ผู้นำรัฐบาลต้องหาทางออก และทางหนีทีไล่ด้วยการยุบสภา มีรายละเอียดดังนี้  

 

ครั้งแรก เมื่อ 11 กันยายน 2481 รัฐบาลของ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ปมเหตุฝั่งรัฐบาล แพ้โหวตในสภาฯ กรณีแก้ไขข้อบังคับการประชุมและปรึกษาของสภาฯ ว่าด้วยการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ

 

ครั้งที่สอง 15 ตุลาคม 2488 รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ปมเหตุ เพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. หลังสภาชุดที่ 3 ซึ่งเลือกตั้ง ตั้งแต่ปี 2481 ต่ออายุให้ตัวเองถึง 2 ครั้งเพราะเหตุสงครามที่เป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้ง และต้องการให้ ส.ส.ยึดโยงกับประชาชน

ย้อนรอย\"ยุบสภา\" 14 ครั้ง  ทางหนีทีไล่ วิกฤติการเมือง

ครั้งที่สาม 12 มกราคม 2519 รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ปมเหตุจากความขัดแย้งในรัฐบาล และสภาฯ ทำให้เสถียรภาพในรัฐบาล “สหพรรค” ถูกสั่นคลอน อีกทั้งยังเผชิญปัญหา ถูกเดินขบวนประท้วงหลายกรณี ซึ่งการยุบสภาครั้งนี้ เกิดขึ้นก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

 

ครั้งที่สี่ 19 มีนาคม 2526 รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ หรือ “เปรม 1" ปมเหตุจากความขัดแย้งในการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อยืดอายุ “บทเฉพาะกาล” ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และให้อำนาจ ส.ว.ร่วมถกร่างกฎหมายงบประมาณ แม้ผลโหวต “รัฐสภาจะตีตก” แต่รอยร้าวในรัฐสภาได้เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้นายกฯ ต้องตัดวงจรขัดแย้งการเมืองด้วยการยุบสภา

ครั้งที่ห้า 1 พฤษภาคม 2529 รัฐบาล “เปรม 2” ปมเหตุความขัดแย้งกับสภา กรณีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ.2529 และความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาลเบอร์หนึ่ง คือ “พรรคกิจสังคม” ที่บางส่วนหันไปจับมือ “พรรคชาติไทย” ในฐานะแกนนำฝ่ายค้าน เพื่อหวังเปลี่ยนขั้วการเมือง

 

ครั้งที่หก 29 เมษายน 2531 รัฐบาล “เปรม 3” ปมเหตุความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะ “พรรคประชาธิปัตย์” ในกลุ่ม 10 มกรา นำโดย เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ และ วีระ มุสิกพงศ์ ที่มีการต่อรองโควตารัฐมนตรีภายในพรรคประชาธิปัตย์ จนส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล

ย้อนรอย\"ยุบสภา\" 14 ครั้ง  ทางหนีทีไล่ วิกฤติการเมือง

ครั้งที่เจ็ด 30 มิถุนายน 2535 รัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน หลังจากที่บรรลุการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีผลสืบเนื่องจาก เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และเสร็จสิ้นการบริหารราชการแผ่นดินเฉพาะกิจแล้ว

 

ครั้งที่แปด 19 พฤษภาคม 2538 รัฐบาล ชวน หลีกภัย หรือ “ชวน 1” ปมเหตุยุบสภาเพื่อหนีโหวตการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ หลังจาก “พรรคพลังธรรม” ของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล เตรียมงดออกเสียงโหวต และเรียกร้องให้รัฐมนตรีลาออก

ย้อนรอย\"ยุบสภา\" 14 ครั้ง  ทางหนีทีไล่ วิกฤติการเมือง

ครั้งที่เก้า 28 กันยายน 2539 รัฐบาล บรรหาร ศิลปอาชา ปมเหตุ ความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล คือ "ความหวังใหม่-นำไทย-มวลชน” ขู่ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล เพื่อกดดันให้ “บรรหาร” ลาออกจากนายกฯ และปรับ ครม. แม้บรรหาร จะคลี่คลายวิกฤติรัฐบาล โดยรับปากว่าจะลาออก แต่ต่อมาได้ใช้วิธีประกาศยุบสภา เพื่อเซ็ตซีโร่การเมืองใหม่

 

ครั้งที่สิบ 9 พฤศจิกายน 2543 รัฐบาล “ชวน 2” ทำตามสัญญาที่ระบุว่าจะยุบสภาก่อนครบวาระ 16 พฤศจิกายน 2543 หลังจากออกกฎหมายงบประมาณ และกติกาที่ใช้เลือกตั้งแล้วเสร็จ

ครั้งที่สิบเอ็ด 24 กุมภาพันธ์ 2549 รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ปมเหตุจากความขัดแย้งทางการเมือง มีการชุมนุมขับไล่นายกฯ เพราะมองว่าใช้อำนาจทางการเมืองเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจของครอบครัว และแทรกแซงองค์กรอิสระ

 

ครั้งที่สิบสอง 10 พฤษภาคม 2554 รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปมเหตุจากวิกฤติการเมือง ม็อบ “นปช.” ขับไล่นายกฯ เรียกร้องให้ยุบสภา และจัดการเลือกตั้งใหม่

 

ครั้งที่สิบสาม 9 ธันวาคม 2556 รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปมเหตุวิกฤติการเมืองที่มาจากการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม “สุดซอย” จนเกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาล โดยกลุ่ม “กปปส.” และยกระดับเป็นการขับไล่รัฐบาล ขณะเดียวกัน “ส.ส.ประชาธิปัตย์” ได้ลาออกทั้งหมดเพื่อกดดันรัฐบาล ส่วน “ส.ว.” ได้ตีตกร่างกฎหมายนิรโทษกรรม

 

และ ครั้งที่สิบสี่ 20 มีนาคม 2566 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปมเหตุครบเทอมการทำงานของสภาฯ ชุดปัจจุบัน แม้เหตุผลยุบสภา​จะไม่ได้มาจากความขัดแย้งทางการเมือง เหมือนกับการยุบสภาหลายครั้งที่ผ่านมา แต่เป็นการทำตามคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ระบุว่าจะยุบสภาก่อนครบเทอม 23 มีนาคม 2566

ย้อนรอย\"ยุบสภา\" 14 ครั้ง  ทางหนีทีไล่ วิกฤติการเมือง

การยุบสภาฯ ครั้งล่าสุดนี้ ถูกจับตาในทางการเมืองเป็นพิเศษว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น จะตัดตอนอำนาจ “คณะยึดอำนาจ” ที่ฝังรากยาวนานตั้งแต่ปี 2557 เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยเต็มใบได้แท้จริง และเปลี่ยนขั้วอำนาจเป็นรัฐบาลของประชาชน 100% ได้หรือไม่.