‘เลือกตั้ง 66' ประเทศต้อง ‘เปลี่ยน’
ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่กำลังโหมซัดอย่างไร้ความปราณี เราจะผ่านจุดวิกฤติครั้งนี้ไปได้ ทีมบริหารประเทศที่ถูกเลือกโดยประชาชนต้องเป็นทีมเวิร์ค พร้อมทุ่มเทเสียสละ เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน
ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย บรรยากาศการหาเสียง ความคึกคักเคลื่อนไหวในวงการการเมือง สีสันนโยบายที่บรรดานักการเมืองชูเป็นจุดแข็ง บ้างขายฝัน บ้างทำได้จริง
หลายคนคาดหวังว่า เลือกตั้งครั้งนี้จะสะท้อนภาพอนาคตของการเมืองไทย
หลายคนคาดหวังว่า เลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนประเทศ
หากยังมีอีกหลายคน “หวั่นใจ” ว่าเลือกตั้งครั้ังนี้อาจไม่สร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ แต่อาจเป็นครั้งที่ฉุดประเทศกลับสู่วงจรแบบเดิมๆ แน่นอนว่า ไม่มีใครอยากเห็น
ดังนั้นประชาชนทุกคน มีส่วนสำคัญในการออกแบบการเลือกตั้ง มีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางการเมือง และการบริหารประเทศนับจากนี้
ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ยังดำเนินอยู่ การประท้วงขยายวงทั่วยุโรป ล้วนเกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจทั้งสิ้น
เมื่อมหาอำนาจยังสะเทือน ประเทศไทยก็ไม่รอด ต้องประคับประคองตัวให้บอบช้ำน้อยที่สุด
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ “ไอเอ็มเอฟ” ออกคำเตือน ระบุว่า เสถียรภาพการเงินโลกกำลังเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้น และเรียกร้องให้เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง แม้สหรัฐ แลประเทศที่มีเศรษฐกิจพัฒนาแล้วบางประเทศจะออกมาตรการลดความตึงเครียด และควบคุมสถานการณ์ในตลาดการเงินการธนาคารให้สงบลงได้ก็ตาม
“ไอเอ็มเอฟ” มองว่า ปีนี้ เป็นอีกปีที่ท้าทาย การเติบโตทั่วโลกชะลอตัวลง อาจต่ำกว่า 3% ผลพวงจากการโรคระบาด สงครามยูเครน และมาตรการทางการเงินที่เข้มงวด
แม้ภาพรวมจะมีแนวโน้มดีขึ้นในปี 2567 แต่การเติบโตทั่วโลกน่าจะยังต่ำกว่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
“ไอเอ็มเอฟ” คาดการณ์ว่า การเติบโตทั่วโลกจะอยู่ที่ 2.9% ในปี 2566 และจะมีการทบทวบตัวเลขคาดการณ์ใหม่อีกครั้งในเดือนหน้า
ขณะที่ ซีอีโอธนาคารออสเตรเลีย แอนด์ นิวซีแลนด์ แบงกิ้ง กรุ๊ป (ANZ) ก็มองว่า ภาวะปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในระบบธนาคารโลก มีแนวโน้มที่จะลุกลามไปสู่วิกฤติการณ์ด้านการเงิน
แน่นอนว่า ตอนนี้ หน่วยงานของรัฐบาลทั่วโลกต่างพากันรับมือกับภาวะปั่นป่วนที่เกิดขึ้น นับตั้งแต่การล่มสลายของธนาคารเอสวีบี และ ซิกเนเจอร์ แบงก์ (เอสบี) ในสหรัฐ รวมทั้งวิกฤติสภาพคล่องที่เกิดขึ้นกับธนาคารเครดิต สวิส จนทำให้รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการสนับสนุนธนาคารยูบีเอสให้เข้าซื้อกิจการเครดิต สวิส
ภาวะปั่นป่วนที่เกิดขึ้นล้วนเป็นแรงกระแทกที่กำลังลุกลามบานปลาย ยิ่งทุบให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ช้า
มองกลับเข้ามาในประเทศไทย วันที่ 14 พ.ค.66 จะเป็นวันที่คนไทยเลือกได้เองว่า จะให้ประเทศถูกบริหารโดยนักการเมืองแบบไหน
ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่กำลังโหมซัดอย่างไร้ความปราณี เราจะผ่านจุดวิกฤติครั้งนี้ไปได้ ทีมบริหารประเทศที่ถูกเลือกโดยประชาชนต้องเป็นทีมเวิร์ค พร้อมทุ่มเทเสียสละ เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน ไม่มีเวลาฮันนีมูนใดๆ ประเทศไทยจะเดินหน้าไปแบบไหน ประชาชน คือ ผู้ชี้ชะตา!!!