"รัชดา" โพสต์แจง"สัดส่วนสตรี" ย้ำปชป.ไร้เส้น จัดสรรโควตาเหมาะสม
"รัชดา" โพสต์แจง "สัดส่วนสตรี" ย้ำพรรคประชาธิปัตย์ไร้เส้น จัดสรรโควตาเหมาะสมยึดมาตรฐานเดียวกันทั้งหญิง-ชาย
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ระบุถึงสัดส่วนโควตาสตรีในพรรคประชาธิปัตย์ โดยระบุว่า
ทำความเข้าใจโควต้าผู้หญิง #ประชาธิปัตย์ มองให้ลึกจะเห็นว่าเรามีดี
ขอใช้โอกาสช่วงนี้ ที่ผู้คนให้ความสนใจกับการจัดลำดับบัญชีรายชื่อผู้สมัครส.ส.หญิง พรรคประชาธิปัตย์ ชวนมองให้ลึกไม่ใช่แค่ว่าใครอยู่เบอร์ไหน ใครพวกใคร
จะเห็นชัดเจนว่าประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่มีผู้หญิงเข้ามาทำงานการเมืองจำนวนมาก เป็นผู้มีประสบการณ์ในสภาผู้แทนราษฎร และความเชี่ยวชาญในงานด้านต่างๆ ที่จะเป็นตัวแทนประชาชน เป็นปากเป็นเสียงสะท้อนมุมมองที่หลากหลาย และผลักดันนโยบายที่จะสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ประชาชนมั่นใจได้ว่าพวกเราไม่ได้มาเล่นๆ ไม่ได้มาเป็นแค่ไม้ประดับ แต่เราตั้งใจจริงและทำได้จริง
งานการเมือง ไม่ใช่พื้นที่ของผู้ชายเพียงเท่านั้น แต่เป็นของคนทุกเพศ ทุกวัย ที่มาจากหลายสาขาอาชีพ พรรคประชาธิปัตย์ส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาททางการเมือง อยากให้เข้าไปทำหน้าที่ในสภา เพราะเรามั่นใจในศักยภาพผู้หญิงในการทำหน้าที่ผู้แทนราษฎร เสริมเติมมุมมองและประสบการณ์ของผู้ชาย
แต่ด้วยในช่วงก่อนหน้านี้ มีผู้หญิงเข้าสู่การเมืองน้อยมาก การกำหนดสัดส่วนหญิง-ชาย หรือโควต้าผู้หญิงในการสมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจึงเป็นเรื่องจำเป็น ทำให้พรรคกำหนดให้อย่างน้อย!! ทุกๆ 5 คน ต้องมีผู้หญิง 1 คน และประชาธิปัตย์ก็เป็นพรรคการเมืองไทยพรรคแรกที่ผลักดันในเรื่องนี้
แต่เมื่อบริบทเปลี่ยนไป มีผู้หญิงเข้าสู่การเมืองมากขึ้น ผลงานเป็นที่ประจักษ์ การจัดอันดับบัญชีรายชื่อ จึงไม่ใช่ว่าผู้หญิงจะต้องอยู่ที่อันดับ 5, 10, 15 ฯลฯ เท่านั้น เพราะนั่นจะกลายเป็นการปิดโอกาสผู้หญิงที่มีความสามารถ
จึงต้องขอย้ำว่า “โควต้า” เป็นการกำหนดให้ “อย่างน้อยต้องมีผู้หญิงในทุกๆ 5 คน” โดยการพิจารณาจะเป็นไปตามความเหมาะสม และใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน ทั้งหญิงและชาย ซึ่งทางพรรคมีเกณฑ์การพิจารณาที่ใช้เป็นหลักมาตลอดอยู่แล้ว
สำหรับผลการจัดลำดับ ย่อมจะมีคนที่ผิดหวังทั้งชายและหญิง เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับทุกพรรคอย่างแน่นอน ไม่ใช่เฉพาะกับประชาธิปัตย์หรือเฉพาะกับผู้หญิงเท่านั้น ในเมื่อลำดับบัญชีรายชื่อแต่ละลำดับ มีได้เพียงคนเดียว แต่ที่สำคัญทุกการตัดสินใจต้องตอบผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่าลำดับนั้นมาได้อย่างไร