4 พรรคยื่น กกต.อำนวยความสะดวกเลือกตั้ง 66 นอกประเทศ กังขาเอื้อใครหรือไม่
4 พรรคยื่น กกต.ประสาน “กระทรวงการต่างประเทศ” อำนวยความสะดวกเลือกตั้ง 66 นอกอาณาจักร “ชัยธวัช” ชี้ตอนนี้ปัญหาเพียบ สร้างความลำบากผู้ใช้สิทธิ กังขาเอื้อประโยชน์ผู้มีอำนาจกลุ่มใดหรือไม่ บี้ใช้วิธีทางไปรษณีย์ ไม่เลือกตั้งวันทำงาน
เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ร่วมกับตัวแทนอีก 3 พรรคการเมือง ประกอบด้วยนายสุขุมพงศ์ โง่นคำ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ และนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย ยื่นหนังสือถึง กกต. เพื่อขอให้แก้ไขวิธีการเลือกตั้ง 2566 ของคนไทยนอกราชอาณาจักร
นายชัยธวัช กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนมีความคาดหวังสูงมาก เพราะมองเป็นโอกาสเปลี่ยนชีวิตและเปลี่ยนประเทศ แต่ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งเท่าไร ประชาชนกลับยิ่งไม่เชื่อมั่นมากขึ้น ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะดำเนินไปอย่างเสรีและเป็นธรรมได้จริงๆ ไม่ว่าจะเป็น การจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร การพิมพ์บัตรเลือกตั้ง การรายงานผลการเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ วันนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไร
นายชัยธวัช กล่าวอีกว่า ปัญหาของการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร มีทั้งการกำหนดวันหย่อนบัตรเลือกตั้งเป็นวันทำงาน เช่น เบลเยียม มาเลเซีย การไม่มีการเลือกตั้งทางไปรษณีย์ ประชาชนต้องไปใช้สิทธิด้วยตัวเองที่สถานทูตหรือหน่วยเลือกตั้ง เช่น เนเธอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ หรือต่อให้มีการเลือกตั้งแบบไปรษณีย์ ก็กำหนดวันส่งบัตรเลือกตั้งกลับไปที่สถานทูต เร็วอย่างไม่สมเหตุสมผล ไม่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้สิทธิ เช่น ญี่ปุ่นและนอร์เวย์ กำหนดส่งบัตรกลับถึงสถานทูตวันที่ 28 เมษายน ซึ่งเป็นเวลาที่เหลือมากเกินความจำเป็นในการส่งบัตรกลับประเทศไทย ที่จะต้องส่งถึงเขตเลือกตั้งก่อน 17.00 น. ของวันที่ 14 พฤษภาคม
“การใช้ความสะดวกความสบายของผู้จัดการเลือกตั้งมากำหนดการเลือกตั้ง แทนที่จะมุ่งรักษาสิทธิคนไทยในต่างประเทศ ตั้งคำถามได้ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้มีอำนาจคนใดคนหนึ่งหรือไม่ เพราะผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ชัดเจนมากว่าคนไทยนอกราชอาณาจักรส่วนใหญ่ ไม่ได้เลือกผู้มีอำนาจในปัจจุบัน จึงเป็นไปได้หรือไม่ ที่มีความพยายามจะลดสัดส่วนคะแนนจากคนกลุ่มนี้ แทนที่จะส่งเสริม” นายชัยธวัช กล่าว
ดังนั้น จึงขอเสนอให้ กกต. ประสานกระทรวงการต่างประเทศ นำวิธีเลือกตั้งทางไปรษณีย์กลับมาเป็นวิธีหลัก ส่วนกรณีเลือกตั้งที่สถานทูต ไม่สมควรจัดการเลือกตั้งในวันธรรมดา และขอให้มีการกำหนดวันส่งบัตรเลือกตั้งกลับมายังสถานทูตไทย โดยมีระยะเวลาที่ไม่เร่งรัดประชาชนมากเกินไป เช่น ให้ส่งกลับมาสถานทูต วันที่ 4 พฤษภาคม ซึ่งเป็นเวลาที่เพียงพอในการส่งบัตรกลับประเทศไทย อีกทั้งขอให้สถานทูตที่มีความพร้อม สามารถนับคะแนนที่สถานทูตและส่งผลการนับคะแนนที่รับรองกลับประเทศไทย โดยไม่ต้องส่งบัตรกลับมานับในประเทศ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 17 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ไม่สามารถส่งบัตรเลือกตั้งกลับประเทศทันเวลา
เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ส่วนเรื่องบัตรเลือกตั้งในประเทศ โดยเฉพาะบัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขต ที่ระบุแค่หมายเลข ในชั้นกรรมาธิการร่างกฎหมายเลือกตั้ง พรรคร่วมฝ่ายค้านได้พยายามผลักดันให้หมายเลขผู้สมัคร ส.ส.เขต และหมายเลขพรรคการเมือง เป็นเบอร์เดียวกัน เพื่อสะดวกต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และแสดงความยึดโยงระหว่างพรรคกับผู้สมัคร แต่ก็ไม่สำเร็จ
นายชัยธวัช กล่าวอีกว่า ดังนั้น ในเมื่อต้องเป็นคนละเบอร์ เพื่อไม่ให้ประชาชนสับสนและเพื่อป้องกันการทุจริตให้ได้มากที่สุด กกต. ควรออกแบบให้ในบัตรเลือกตั้ง มีหมายเลข มีชื่อผู้สมัคร ชื่อพรรค และโลโก้พรรค แต่ถ้า กกต. บอกว่าทำไม่ได้ ต้องย้อนไปการเลือกตั้งปี 2562 ตอนนั้นก็พิมพ์บัตรเลือกตั้ง 350 แบบตามจำนวนเขต แต่มาครั้งนี้ถ้า กกต. บอกว่า 400 เขต สะดวกพิมพ์แค่แบบเดียว เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลหรือไม่ อีกทั้งอาจทำให้เกิดบัตรเขย่ง หากมีใครพิมพ์บัตรเลือกตั้งปลอม พิมพ์แบบเดียวใช้ได้ทุกเขต
เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวด้วยว่า นอกจากนั้น จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า กกต. จะมีระบบรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการแบบเรียลไทม์หรือไม่ เพราะสิ่งที่ประชาชนอยากเห็น คือเมื่อแต่ละหน่วยนับคะแนนเสร็จแล้ว สามารถส่งคะแนนไปที่ กกต. ส่วนกลาง และรายงานได้ทันทีว่าแต่ละหน่วยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประชาชน เพราะถ้าคะแนนแบบเป็นทางการกับแบบไม่เป็นทางการ ไม่ได้แตกต่างกัน ประชาชนก็วางใจได้ แต่ถ้าคะแนนต่างกันมาก ประชาชนก็จะตั้งคำถาม ถือเป็นกระบวนการที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทำให้การเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรม
“นี่เป็นคำถามที่ กกต. ต้องตอบ ทั้งเรื่องการจัดการเลือกตั้งที่ทำให้ประชาชนยากลำบากในการใช้สิทธิ และการเปิดช่องให้เกิดการจัดการเลือกตั้งที่ไม่สุจริต ตอนนี้ กกต. ยังมีเวลาทำบัตรเลือกตั้งใหม่ ขอยืนยันว่าบัตร 400 เขต 400 แบบ สามารถทำได้” นายชัยธวัช กล่าว
ขณะที่นายสมชัย กล่าวว่า คนไทยนอกราชอาณาจักรมี 1.3 ล้านคน และคาดว่าน่าจะเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งราว 1 ล้านคน การเลือกตั้งปี 2562 มีผู้ใช้สิทธิประมาณ 1 แสนคน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศระบุว่าใช้สิทธิมาก แต่เรายังเห็นว่า จำนวนผู้ใช้สิทธิสามารถเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมได้ ถ้าหากกกต.และกระทรวงการต่างประเทศมีความตั้งใจ และจริงใจที่จะอำนวยความสะดวกให้ประชาชนมาใช้สิทธิ
นายสมชัย กล่าวอีกว่า ซึ่งในเรื่องของการลงทะเบียนขอใช้สิทธิ ขณะนี้ใช้ระบบการลงทะเบียนผ่านอินเตอร์เน็ตซึ่งอาจจะต้องมีการส่งหลักฐานต่างๆ กระทรวงการต่างประเทศควรอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการมีหลักฐานที่ครบถ้วน และเข้าถึงได้ง่าย ส่วนการไปใช้สิทธิกฎหมายกำหนดไว้ 3 รูปแบบ 1.ใช้สิทธิที่สถานทูต 2.หน่วยเลือกตั้งเคลื่อนที่ และ 3.ไปรษณีย์ ซึ่งรูปแบบที่ประชาชนใช้สิทธิมากที่สุดคือทางไปรษณีย์ น้อยที่สุดคือสถานทูต แต่ปัญหาขณะนี้คือสถานทูตหลายๆประเทศมีการออกประกาศ ยกเลิกการเลือกตั้งทางไปรษณีย์ เช่นมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ จอร์แดน อียิปต์ ลักเซมเบิร์ก และเนเธอร์แลนด์ ทำให้ประชาชนเข้าถึงการเลือกตั้งได้ยาก และยังพบว่าในบางประเทศกำหนดวันเลือกตั้งที่สถานทูตเป็นวันราชการ เช่นประเทศเบลเยียม และลักเซมเบิร์ก กำหนดเป็นวันอังคาร มาเลเซียกำหนดเป็นวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ กลายเป็นการจำกัดให้ประชาชนไม่สามารถมาใช้สิทธิ์ได้เพราะต้องเสียเวลาทำงาน นอกจากนี้ยังพบว่าประเทศที่กำหนดให้ใช้สิทธิทางไปรษณีย์มีการกำหนดวันส่งกลับบัตรเลือกตั้งจากประชาชนเร็วเกินไป ทั้งที่บัตรเลือกตั้งของกกต.จะส่งถึงสถานทูตในวันที่ 12 เม.ย. แต่กลับให้ประชาชนส่งกลับบัตรเลือกตั้งที่ตนเองได้ใช้สิทธิแล้วมายังสถานทูตในวันที่ 28 เม.ย.
ปัญหาคือบัตรที่ กกต.จะส่งถึงสถานทูต คือวันที่ 22 เม.ย.กว่าสถานทูตจะส่งให้กับคนไทยในต่างประเทศ อาจใช้เวลา 2-3 วัน บางทีกว่าจะถึงมือประชาชนอาจจะเลยกำหนดเวลาที่จะส่งกลับ ดังนั้นการกำหนดให้ส่งบัตรเลือกตั้งมายังสถานทูตในวันที่ 28 เม.ย.นั้นยังเร็วไป และอาจทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกมากเพียงพอ จึงต้องการให้ กกต.ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อแก้ไขใน 5 เรื่อง
1.ขอให้ประสานให้สถานทูต และสถานกงสุลทุกแห่ง ใช้วิธีการเลือกตั้งทางไปรษณีย์เป็นหลัก
2.การจัดเลือกตั้งที่สถานทูตหรือหน่วยเคลื่อนที่ให้จัดในวันหยุดเสาร์อาทิตย์
3.ขอให้ปรับเปลี่ยนกำหนดการส่งกลับบัตรเลือกตั้งมายังสถานทูตให้มีระยะเวลาที่ไม่เร่งรับเกินไป เช่น ขยายไปถึงวันที่ 4 พ.ค. เพราะสถานทูตยังมีเวลาอีก 10 วัน ที่จะส่งบัตรกลับประเทศไทยได้
4.ขอให้สถานทูตที่มีความพร้อมจัดให้มีการนับคะแนนได้ เพราะกฎหมายเลือกตั้งส.ส.ฉบับใหม่เปิดช่องไว้ ซึ่งก็จะแก้ไขปัญหาบัตรส่งกลับประเทศไทยไม่ทันเวลาได้ด้วย
5. ให้นำรายละเอียดการเลือกตั้งของคนไทยในต่างประเทศทั้งหมด เผยแพร่ในเว็บไซต์เพื่อให้ตรวจสอบได้
นายสมชัย กล่าวด้วยว่า หาก กกต.คิดที่จะปรับเปลี่ยนตามข้อเรียกร้อง เชื่อว่าสามารถทำได้ทันเวลา ไม่กระทบต่อแผนจัดการเลือกตั้งที่ได้วางไว้ ซึ่งหลังจากที่มีกระแสข่าวว่าทางสถานทูตไทยในเบลเยี่ยมกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันอังคาร 24 เม.ย. และมีการท้วงติงทางสถานทูตก็มีการปรับเปลี่ยนในทันที โดยให้การเลือกตั้งที่สถานทูตเป็นวันอาทิตย์ และเพิ่มรูปแบบการเลือกตั้งทางไปรษณีย์ กรณีนี้จึงเป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่าถ้ากกต.และกระทรวงการต่างประเทศตั้งใจที่จะแก้ไข สามารถปรับเปลี่ยนได้ทันที
ส่วน พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ในส่วนของประเทศที่เป็นโลกมุสลิม โดยเฉพาะประเทศมาเลเซียที่มีคนไทยไปประกอบธุรกิจตอนนี้มีจำนวนนับแสนคน และการที่สถานทูตมาเลเซียกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 27-28 เม.ย.นั้น โดยไม่คำนึงถึงบริบทวันที่มีการละศีลอด และวันที่ 22 เม.ย.เป็นฮาลีลายอ คนไทยในมาเลเซียถ้าเป็นมุสลิมส่วนใหญ่ก็ต้องเดินทางกลับประเทศไทย และจะอยู่ที่ไทยประมาณ 10 วัน ซึ่งมันจะคร่อมวันเลือกตั้ง ถ้าแบบนี้จะเป็นเหมือนการสกัดกั้น เพราะความเชื่อทางวัฒนธรรม ศาสนา พวกเขาต้องเดินทางกลับไทย ดังนั้นการกำหนดวันเลือกตั้งของสถานทูตมาเลเซียในวันดังกล่าว และการไปตัดสิทธิ์การลงเลือกตั้งทางไปรษณีย์ก็เหมือนเป็นการกลั้นแกล้งประชาชนคนไทยที่มีความตื่นตัวทางประชาธิปไตยสูง
อีกทั้งตนได้รับหนังสือร้องเรียนจากประธานสมาคมอาหารต้มยำที่มีสมาชิกเกือบ 3,000 คน ที่ขอเรียนร้องว่าให้มีการเลือกตั้งทางไปรษณีย์ที่มีการยกเลิกไป และขอให้เลื่อนวันเลือกตั้งออกไปเป็นวันหยุดราชการ เป็นวันที่ 4-5 เม.ย. และจะเห็นได้ว่าในขั้นตอนต่างๆจะเป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้ง เหมือนจะสื่อสารว่าประชาชนที่อยู่นอกประเทศคือจะมีแนวคิดเชิงประชาธิปไตยสูง เหมือนทราบมาว่าเขาจะเลือกพรรคฝ่ายค้าน ดังนั้นฝ่ายค้านเราเชื่อว่าเหมือนการสกัดกั้นบุคคลที่อยู่ต่างประเทศไม่ให้เข้ามาเลือกตั้ง