“วัฒนา อัศวเหม” รีเทิร์น บ้านใหญ่ปากน้ำ รอวันล่มสลาย?
การเลือกตั้ง ส.ส.สมุทรปราการ ครั้งนี้ จะเป็นบททดสอบพลังบ้านใหญ่ปากน้ำ ในวันที่ไม่มีเอ๋ ชนม์สวัสดิ์ และการรีเทิร์นการเมืองของวัฒนา จะเป็นจุดเริ่มบทใหม่ หรือการล่มสลายของ “อัศวเหม”
นับแต่ปี 2551 "วัฒนา อัศวเหม" ออกจากเมืองไทยไปพำนักอยู่ในต่างแดน ก่อนที่ศาลฎีกาจะอ่านคำพิพากษาคดีทุจริตที่ดินคลองด่าน "บ้านม้าทองคำ" ย่านศรีนครินทร์ ก็เงียบเหงา ตรงกันข้าม "บ้านขาว" ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปากน้ำ อ.เมือง สมุทรปราการ กลายเป็นศูนย์กลางอำนาจท้องถิ่น หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “บ้านใหญ่ปากน้ำ”
บ้านใหญ่อัศวเหม ยุค "บ้านขาว“ ในนาม ”กลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า" เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ลูกชายคนเล็กของวัฒนา เปิดศักราชใหม่ วางตัวทายาทการเมืองรุ่น 3 ทั้งหลานพ่อ และลูกพี่ชาย ให้ก้าวเข้ามานำทัพสู้ศึกเลือกตั้ง 66
วัฒนา อัศวเหม มีลูกชาย 3 คนคือ พิบูลย์ ดูแลธุรกิจน้ำมันของครอบครัว พูนผล อดีต ส.ส.สมุทรปราการ เสียชีวิตเมื่อปี 2558 และชนม์สวัสดิ์ อดีตนายก อบจ.สมุทรปราการ
ว่ากันว่า วัฒนา วางตัว พูนผล เป็นทายาททางการเมืองระดับชาติ และให้ เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ เล่นการเมืองท้องถิ่น แต่เมื่อพี่ชายเสียชีวิต และพ่อต้องลี้ภัยในต่างแดน เอ๋จึงกระโจนเข้ามานำทัพบ้านใหญ่เต็มตัว
หลังประมุขบ้านม้าทองคำ ไม่อยู่ในแผ่นดินไทย พูนผล อัศวเหม และชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ได้ร่วมกันขับเคลื่อนกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า ในการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับ
ทว่าในสนามระดับชาติ เกือบ 20 ปีที่ทำเนียบ ส.ส.สมุทรปราการ ไม่มีชื่อคนในตระกูลอัศวเหม กระทั่งการเลือกตั้ง 22 มี.ค.2562 ผู้สมัคร ส.ส.กลุ่มบ้านใหญ่ปากน้ำ สังกัดพรรคพลังประชารัฐ ได้รับเลือกเป็น ส.ส.สมุทรปราการ 5 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน
ชนม์สวัสดิ์รู้ดีว่า ชัยชนะของบ้านใหญ่ครั้งนี้มาพร้อม กับสัญญาณการเปลี่ยนแปลงในสมุทรปราการ การทำงานการเมืองของบ้านใหญ่ปากน้ำต้องปรับตัว เพื่อความอยู่รอด
ช่วงปี 2563-2564 ถือว่าเป็นยุคทองของ สะใภ้อัศวเหม โดย ประภาพร อัศวเหม ภรรยาพูลผล อัศวเหม เป็นนายกเทศมนตรีนครสมุทรปราการ และนันทิดา แก้วบัวสาย คู่ชีวิตชนม์สวัสดิ์ เป็นนายก อบจ.สมุทรปราการ รวมถึง พิม อัศวเหม ลูกสาวประภาพร เป็น ส.อบจ.สมุทรปราการ เขต อ.พระสมุทรเจดีย์ และชนม์ทิดา อัศวเหม ลูกสาวชนม์สวัสดิ์-นันทิดา เป็นเลขานุการนายก อบจ.สมุทรปราการ
สมัยที่ตระกูลอัศวเหม เข้าร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ ชนม์สวัสดิ์ ส่ง ประภาพร อัศวเหม ภรรยาของพูลผล เข้าเป็นกรรมการบริหารพรรค และมอบให้ อัครวัฒน์ อัศวเหม หลานชายวัฒนา นำทีมลงสมัคร ส.ส.สมุทรปราการ เมื่อปี 2562
ช่วงหลัง คนปากน้ำจะทราบดีว่า เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ พยายามปั้นหลานสาว พิม อัศวเหม ลูกสาวของประภาพร เป็นทายาททางการเมือง คู่กับ เพลง-ชนม์ทิดา อัศวเหม ดังนั้นในการเลือกตั้งปี 2566 พิม อัศวเหม จึงมีชื่ออยู่ในลำดับที่ 8 ของผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และเพลง ชนม์ทิดา ก็อยู่ในลำดับที่ 5 ของผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย
ส่วนอัครวัฒน์ อัศวเหม ต่อศักดิ์ อัศวเหม และวรพร อัศวเหม หลานชายวัฒนา ก็ดูแลทีม ส.ส.ปากน้ำ สวมเสื้อพลังประชารัฐ ลงสนามป้องกันแชมป์สมัยหน้า
ทว่า การจากไปอย่างกระทันหันของ เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ ย่อมส่งผลกระทบกับเครือข่ายอำนาจภายใน จ.สมุทรปราการ เพราะเขาคือผู้นำหลังฉาก คุมเกม คุมฐานเสียง คุมหัวคะแนน จนพรรคพลังประชารัฐคว้าเก้าอี้ ส.ส. มาได้ 6 ที่นั่ง
มาเที่ยวนี้สมุทรปราการ ยิ่งเป็นความหวังของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่หมายมั่นจะกวาดเก้าอี้ที่เพิ่มเป็น 8 ที่นั่งยกจังหวัด
โดยบ้านใหญ่อัศวเหม ได้เปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.ครบแล้ว โดยมีคู่แข่งสำคัญคือพรรคเพื่อไทย ที่เกณฑ์ขุนพลเก่ากลับมารวมพล “ประชา ประสพดี” จับมือกับ “วรชัย เหมะ” ร่วมกันดึงมวลชนคนเสื้อแดง หวังยึดเมืองปากน้ำกลับมาจากบ้านใหญ่ “อัศวเหม”
เขต 1 อ.เมืองสมุทรปราการ (เฉพาะ 5 ตำบล) “อัครวัฒน์ อัศวเหม” อดีต ส.ส.สมุทรปราการ เจอคนหน้าใหม่ “นิวัฒน์ เทียนปั่น” พรรคเพื่อไทย ตัวแทน “นพ.วัลลภ ยังตรง” อดีต ส.ส.สมุทรปราการ
เขต 2 อ.เมืองสมุทรปราการ (เฉพาะ 5 ตำบล) “ยงยุทธ สุวรรณบุตร” อดีต ส.ส.สมุทรปราการ ชนคู่ปรับเก่า “ภิญโญ กิจเลิศไพโรจน์” ลูกชายของ “สงคราม เลิศกิจไพโรจน์” ที่เลื่อนชั้นไปปาร์ตี้ลิสต์ แต่อีกสายในพรรคเพื่อไทยมองว่า “ประชา-วรชัย” ยอมให้ “ภิญโญ” ลงในพื้นที่ที่โอกาสชนะมีน้อย กันท่าไม่ให้ “สงคราม” มาชิงเก้าอี้รัฐมนตรี หากพรรคเพื่อไทยยึดเมืองปากน้ำได้
เขต 3 อ.เมืองสมุทรปราการ (เฉพาะ 3 ตำบล)“ภริม พูลเจริญ” อดีต ส.ส.สมุทรปราการ เหนื่อยแน่ เนื่องจาก “ประเสริฐ ชัยกิจเด่นนภาลัย” มีดีกรีอดีต ส.ส.สมุทรปราการ 4 สมัย ขอทวงคืนเก้าอี้ ส.ส.
เขต 4 อ.บางพลี (เฉพาะ 2 ตำบล) “วรพร อัศวเหม” อดีตประธานสภาเทศบาลตำบลบางปู ย้ายมาลงเขตนี้ โดยมี “สุนทร ปานแสงทอง” รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นพี่เลี้ยง เจอกับ “สัมฤทธิ์ เหมะ” ภรรยา “วรชัย” อดีต ส.ส.สมุทรปราการ และแกนนำ นปช. ขณะเดียวกันยังมี “วุฒินันท์ บุญชู” แชมป์เก่าจากพรรคก้าวไกล ที่วางฐานเสียงไว้ค่อนข้างดี พร้อมชักธงรบอีกคน
เขต 5 อ.เมืองสมุทรปราการ (เฉพาะ 1 ตำบล)อ.บางพลี (ยกเว้น 2 ตำบล) และ อ.บางเสาธง(เฉพาะ 1 ตำบล) “จาตุรนต์ นกขมิ้น” ลูกชายของ “ทรงชัย นกขมิ้น” นายก อบต.ราชาเทวะ แข่งกับคนหน้าใหม่พรรคเพื่อไทย อย่าง “นิธิพล บุญเพ็ชร”
เขต 6 อ.พระประแดง (ยกเว้น 1 ตำบล) “ฐาปกรณ์ กุลเจริญ” อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พบคู่ปรับเก่า “นฤมล ธารดำรง” อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย
เขต 7 อ.พระสมุทรเจดีย์ และ อ.พระประแดง (เฉพาะ 1 ตำบล) “ต่อศักดิ์ อัศวเหม” ลง ส.ส.เขตครั้งแรก เจอจอมเก๋า “ประชา ประสพดี” อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ทว่าแชมป์เก่าอย่าง “ไพลิน เทียนสุวรรณ” อดีต ส.ส.สมุทรปราการ ไม่ธรรมมาเช่นกัน โดยมี “เสธ.อ้น” พล.อ.กนิษฐ์ ชาญปรีชญา เป็นพี่เลี้ยง
เขต 8 อ.บางบ่อ และ อ.บางเสาธง (ยกเว้น 1ตำบล) “กรุงศรีวิไล สุทินเผือก” อดีต ส.ส.สมุทรปราการ ชนคนกันเอง “สลิลทิพย์ สุขวัฒน์” อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย
ขณะเดียวกัน พรรคก้าวไกล คาดหวังเอาไว้สูงเช่นกัน เนื่องจากสภาพพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ติดเขตแดน กทม. บางส่วนมีความเป็นคนเมือง บางส่วนเป็นกลุ่มแรงงาน จึงทำให้ “ก้าวไกล” มีโอกาสได้เก้าอี้ ส.ส.
ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล ประกอบด้วย เขต 1 พนิดา มงคลสวัสดิ์ เขต 2 รัชนก สุขประเสริฐ เขต 3 พิชัย แจ้งจรรยาวงศ์ เขต 4 วุฒินันท์ บุญชู เขต 5 นิตยา มีศรี เขต 6 วีรภัทร คันธะ และเขต 7 บุญเลิศ แสงพันธุ์
สภาพบ้านใหญ่ปากน้ำ ความหวังของพลังประชารัฐ เมื่อไร้แม่ทัพที่คอยบัญชาการนักรบในพื้นที่ และในระยะยาว“อัศวเหม” สุ่มเสี่ยงที่จะเสียการนำใน จ.สมุทรปราการได้ และอาจเป็นโอกาสให้หลายพรรค โดยเฉพาะคู่แข่งสำคัญเจาะฐาน ในจังหวะที่ระส่ำระสาย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า บ้านใหญ่รุ่น 3 บารมีไม่มากพอที่จะคอนโทรลสนามใหญ่ได้ทั้งระบบ “อัครวัฒน์-ต่อศักดิ์-วรพร” ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. สมุทรปราการ บารมียังไม่แข็งกล้า เช่นเดียวกับ “ตู่” นันทิดา แก้วบัวสาย นายก อบจ.สมุทรปราการ สะใภ้บ้านใหญ่ ที่ความเก๋าเกมยังห่างชั้น
จึงไม่แปลกที่เบอร์หนึ่ง “วัฒนา อัศวเหม” ผู้ยิ่งใหญ่เมืองปากน้ำตัวจริง จะตัดสินใจเดินเกมเร็ว โดยปล่อยคลิปเสียงเสียง 1 นาที 10 วินาที เพื่อส่งสัญญาณ
“ทิศทางการเมืองทั้งท้องถิ่น และระดับชาติ เราจะเดินหน้าต่อไปอย่างเข้มแข็ง ไม่อ่อนล้า หรือท้อถอย ขอพี่น้องชาวสมุทรปราการจงยึดมั่น และเชื่อในผลงานของทีมบริหารของเรา เราจะได้ร่วมงานเพื่อท้องถิ่น และเพื่อชาติของเราอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน ผมจะดูแลอย่างเข้มแข็ง และใกล้ชิดกว่าเดิม ผมระลึกถึงเสมอ ถึงผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และเครือข่ายองค์กรต่างๆ ที่ยังมุ่งมั่นให้โอกาสเราทำงานมาเสมอ ขอให้เชื่อมั่นว่า เราจักร่วมงานกันต่อไป ไม่สะดุดและขาดตอน ผมจะทำงานกับทุกฝ่าย ด้วยวัยและประสบการณ์ ผมเห็นว่า ความร่วมมือทั้งความคิด และการกระทำจะช่วยบ้านเมืองได้มากกว่า และจะขอนำทีมสมุทรปราการก้าวหน้า ขอโอกาสทำงานทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติต่อไป”
ความเคลื่อนไหวของ “วัฒนา” บ่งบอกชัดเจนว่า ออกอาการหวั่นไหวไม่น้อย เพราะนับถอยหลังเลือกตั้งที่เป็นเดิมพันใหญ่ของตระกูล องคาพยพจะเสียขวัญไม่ได้ ดังนั้น ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ เขาจึงประกาศจุดยืนออกโรงบัญชาการด้วยตัวเอง แม้จะปักหลักใช้ชีวิตอยู่นอกประเทศ
การเลือกตั้ง ส.ส.สมุทรปราการ ครั้งนี้ จะเป็นบททดสอบพลังบ้านใหญ่ปากน้ำ ในวันที่ไม่มีเอ๋ ชนม์สวัสดิ์ และการรีเทิร์นการเมืองของวัฒนา จะเป็นจุดเริ่มบทใหม่ หรือการ “ล่มสลายของอัศวเหม”