‘นโยบาย’ และที่มาของ ‘รายได้’ สิ่งที่พรรคการเมืองไม่พูดถึง
พรรคการเมืองควรจะพิจารณาถึงฐานะการเงินการคลังของประเทศ ที่จะนำมาใช้ผลักดันนโยบายต่างๆ ว่ามีเพียงพอหรือไม่ ที่สำคัญ.. นอกจากจะมุ่งแข่งขันนโยบายสิทธิรักษาพยาบาลแล้ว ก็ควรมองถึง “การสร้างเสริมสุขภาพ” ด้วย
ใกล้เลือกตั้งแล้วประชาชนจะเห็นพรรคการเมืองต่างๆ ทยอยนำ “นโยบาย” ที่ใช้หาเสียงออกมานำเสนอต่อประชาชน ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ “ประชานิยม” เน้นที่แก้ปัญหาปากท้อง จับต้องได้ง่าย เข้าถึงจิตใจเป็นรูปธรรมภายใน 4 ปีที่อยู่ในวาระ
ไม่ว่าจะเป็นประเด็น ระบบสุขภาพไทย ส่วนใหญ่ล้วนยังมุ่งไปที่การเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการรักษา แต่ไม่ได้พูดถึงที่มาของงบประมาณที่จะนำมาใช้ผลักดันนโยบายและภาระงบประมาณประเทศ ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงที่รัฐจะไม่มีเงินจ่าย จากการที่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทย คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพี อยู่ในระดับสูงจนชนเพดาน
ตัวอย่างนโยบายสาธารณสุขของพรรคการเมืองต่างๆ ที่หยิบมาใช้หาเสียง “เลือกตั้ง 2566” อาทิ ใช้บัตรประชาชนใบเดียว ตรวจสุขภาพฟรี, รักษาฟรี, ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทั่วไทย, นโยบายเพิ่มคุณภาพ 30 บาทรักษาทุกโรคเป็น 30 พลัส, นโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาฟรี, ศูนย์ฉายรังสีมะเร็งฟรี เป็นการจัดตั้งศูนย์ฉายรังสีรักษาโรคมะเร็งฟรี 1 จังหวัด 1 ศูนย์ ให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น และจัดตั้งศูนย์ฟอกไตฟรีทุกอำเภอ ภายใน 4 ปี และศูนย์ดูแลผู้ป่วยประคับประคอง สิทธิในการตายดี กองทุนผู้ป่วยติดเตียง 9,000 บาทต่อคน
ไม่แปลกที่ “นโยบายสาธารณสุข” ส่วนใหญ่ของแต่ละพรรคการเมือง จะเลือกหยิบยกประเด็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์และมุ่งแข่งขันกันในเรื่องการดูแลรักษาพยาบาลให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีประชาชนใช้สิทธิมากที่สุดราว 50 ล้านคน เพราะเป็นสิ่งที่ประชาชนจะมองเห็นผล เห็นภาพ เข้าถึงสิทธิและประโยชน์ที่จะได้รับอย่างชัดเจน หากได้รับการตอบรับในแนวคิดเหล่านี้ ก็ไม่ยากที่จะทำให้พรรคนั้นๆ ได้จำนวนที่นั่งตามเป้าหมายที่วางไว้ได้
ทว่าอีกประเด็นหนึ่งที่พรรคการเมือง ในฐานะที่มาจากตัวแทนประชาชน อาสาเข้ามาบริหารประเทศ ควรจะพิจารณาก็คือฐานะการเงินการคลังของประเทศ และจำนวน “เงิน” ที่จะนำมาใช้ผลักดันสนองนโยบายต่างๆ ให้เป็นจริงด้วย ว่ามีเพียงพอหรือไม่ ที่สำคัญนอกจากจะมุ่งแข่งขันนโยบายเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการรักษายามเจ็บป่วยแล้ว ก็ควรมองถึงเรื่อง “การสร้างเสริมสุขภาพการป้องกันโรค” ที่เป็นการป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยเป็นสำคัญด้วย
เพราะแนวคิดส่งเสริม “การป้องกัน” มากกว่า “การรักษา” นอกจากจะดีต่อประชาชนที่จะมีสุขภาพที่ดีแล้ว ยังจะมีผลต่องบประมาณประเทศด้วย ถ้าคนป่วยน้อยลง ค่าใช้จ่ายในการรักษาก็จะไม่เพิ่มขึ้น ขณะที่ในอนาคตจะต้องเตรียมงบประมาณไว้ดูแลรองรับผู้สูงอายุที่จะมีอาการเจ็บป่วยตามวัยอยู่แล้วด้วย
แต่ก็สามารถเข้าใจได้ว่านโยบายการส่งเสริมการป้องกันโรค อาจจะจับต้องยาก การพูดให้ประชาชนเห็นผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นก็ทำได้ยาก และกว่าจะเห็นผลก็ต้องใช้เวลา อาจมากกว่า 4 ปี ที่รัฐบาลใหม่จะอยู่ในวาระ จึงไม่ค่อยจะมีพรรคการเมืองนำเสนอนโยบายนี้ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่ดีและเป็นประโยชน์ในระยะยาว