เตือน 'ยาอี' รูปแบบใหม่บดใส่ซองเกลือแร่ - คอลลาเจน - กาแฟ
เตือนประชาชนระวัง "ยาอี" รูปแบบใหม่บดใส่ซองเกลือแร่ ซองคอลลาเจน ซองกาแฟ ป.ป.ส.ตรวจสอบพบแอคเคาท์ในประเทศเพื่อนบ้านโพสต์ขายบนโซเชียลมีเดีย ย้ำอย่าแชร์ อย่าโพสต์ โทษหนักจำคุก 2 ปี ปรับ 2 แสนบาท
เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2566 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้รับรายงานถึงสถานการณ์ยาเสพติดที่ขณะนี้มีรูปแบบและช่องทางการขายที่เปลี่ยนไป โดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ตรวจสอบพบการโพสต์จำหน่าย"ยาอี"ที่บดบรรจุในซองผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเกลือแร่ ซองคอลลาเจน และซองกาแฟ ในโซเชียลมีเดีย
โดยบัญชีหรือแอคเคาท์ผู้ใช้ TikTok ในประเทศเพื่อนบ้าน มีการโฆษณาแจ้งเบอร์โทรศัพท์ WhatsApp เป็นช่องทางติดต่อ ซึ่งแม้ในโพสต์จะไม่แจ้งการมีบริการส่งเข้าประเทศไทย แต่พบว่ามีสมาชิกผู้ใช้ TikTok จากประเทศไทยเข้าไปติดต่อซื้อด้วย
“นายกรัฐมนตรีห่วงใยต่อสถานการณ์การค้ายาเสพติดที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบไป จึงกำชับให้ ป.ป.ส. สำนักงานตำรวจแห่งชาติติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด และย้ำเตือนประชาชนอย่าเข้าไปเกี่ยวข้อง อย่าสั่ง อย่าโพสต์ อย่าแชร์โฆษณายาเสพติด เพราะหากตรวจสอบพบการโพสต์ที่เข้าข่ายเป็นโฆษณายาเสพติดก็มีโทษหนัก จำคุก 2 ปี ปรับ 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการขายและกระทำใดใดที่แม้จะทำในประเทศเพื่อนบ้านแต่หากเป็นกรณีคนไทยเข้าไปเกี่ยวข้องก็ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายยาเสพติดของไทยมีโทษหนักทั้งจำทั้งปรับและยึดทรัพย์สิน” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ก็ได้มีคำเตือนเกี่ยวกับความร้ายแรงของยาอีที่ถูกลักลอบบรรจุลงในแพคเพจของผลิตภัณฑ์ต่างๆ และวางขายในช่องทางโซเชียลมีเดียในขณะนี้ว่า สามารถทำลายระบบประสาท การหลั่งสารต่างๆตามธรรมชาติของร่างกายผิดปกติ ผู้ใช้ติดต่อกันจะเกิดอารมณ์เศร้าหมองหดหู่ ซึมเศร้า อาจเป็นโรคจิตประเภทซึมเศร้า และมีแนวโน้มการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนปกติ และยังทำให้การนอนหลับผิดปกติ หากเป็นตัวยาที่มีส่วนผสมยาเสพติดหลายชนิด มีความเข้มข้น หรือเสพพร้อมกับดื่มแอลกอฮอล์หรือเสพยาชนิดอื่นร่วมด้วย อาจทำให้เกิดอาการช็อก และเสียชีวิตได้
ทั้งนี้ แนะนำให้พ่อแม่ ผู้ปกครองสอดส่องบุตรหลานที่มีการใช้สื่อโซเชียลมีเดียเพื่อป้องกันการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด หากพบว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงและพบสิ่งต้องสงสัย ควรพูดคุยด้วยเหตุผลไม่ใช้ความรุนแรง บอกกล่าวถึงผลเสียต่อสุขภาพรวมถึงอันตรายที่จะตามมา และรีบพาไป พบแพทย์เพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา
สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 หรือเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง หรือ หาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th