ภูมิใจไทยฝ่ากระแส "เขย่ารูหนู" มิตรเทียม-ศัตรูแท้ ดับฝัน "100 +"
"อนุทินโพล" เดิมพันเป้าส.ส.ภูมิใจไทยทะยานแตะ3หลัก เปิดทาง "ตัวแปร" สูตรจับขั้ว ฝ่ากระแส "มิตรเทียม-ศัตรูแท้” รอบทิศ
ศึกเลือกตั้งรอบนี้ ที่จะรู้ผลแพ้ชนะในอีกราวๆ 1 เดือนข้างหน้า “ค่ายภูมิใจไทย” วางเดิมพันสูงลิบในการอัพเกรดจากพรรคขนาดกลาง 51 เสียง จากรอบที่แล้ว ประกาศศักดาสู่พรรคขนาดใหญ่แตะ 100
ตอกย้ำชัดด้วย “ปฏิญญาบุรีรัมย์” กลางงานวันเกิด เนวิน ชิดชอบ เมื่อ 4 ต.ค.2565 นับเป็นการตอกย้ำการออกสู่หน้าฉากการเมืองของ “พี่ใหญ่แห่งค่ายสีน้ำเงิน” เพื่อสานฝันของตนเองในการปั้นพรรคภูมิใจไทยขึ้นแท่นพรรคแกนนำรัฐบาล ดันน้องรักอย่าง “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล มีโอกาสขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาลสักครั้งในชีวิต
ทว่า ด้วยกติกาการเลือกตั้งครั้งนี้ บัตร 2 ใบ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หาร 100 รอบนี้ภูมิใจไทยประเมินลำดับเซฟโซนปาร์ตี้ลิสต์ไว้ที่ 12-15 ที่นั่ง ฉะนั้นยุทธ์ศาสตร์ของ “ค่ายสีน้ำเงิน” รอบนี้จึงต้องเจาะไปที่ ส.ส.เขตให้ได้อย่างน้อย 70-80 ที่นั่ง
เมื่อเจาะลึกรายภาคพบว่า จุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ค่ายภูมิใจไทยจะต้องตีเมืองขึ้นให้ได้มากที่สุด ลำดับแรกคือ ภาคอีสาน รอบนี้มี ส.ส.เพิ่มจาก 126 ที่นั่ง เป็น 132 ที่นั่ง โดยเฉพาะโซนอีสานใต้ ได้แก่ จ.บุรีรัมย์ บ้านเกิดนายใหญ่ 10 ที่นั่ง โดยเฉพาะ เขต 2 ซึ่งถือเป็นกล่องดวงใจ โดย “เนวิน” ส่งลูกชายหัวแก้วหัวแหวน “นก” ไชยชนก ชิดชอบ ลงชิงในเขตดังกล่าว
จ.ศรีษะเกษ 9 ที่นั่ง ภูมิใจไทยมี ส.ส.เดิม 2 ที่นั่ง คือ เขต 1 สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ และเขต 4 อาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ รอบนี้ดูด จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ธีระ ไตรสรณกุล ผ่องศรี แซ่จึง สามี ปวีณ แซ่จึง ลงแทน
รอบนี้ค่ายสีน้ำเงินหวังตอกเสาเข็มเมืองศรีษะเกษ ตอกย้ำด้วยการปูนบำเหน็จล่วงหน้า ด้วยเก้าอี้ “ปาร์ตี้ลิสต์” ลำดับเซฟโซน ให้กับ “กวาง”ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลูกสาว "วิชิต ไตรสรณกุล" นายก อบจ. บ้านใหญ่ศรีสะเกษ ขยับจากลำดับ 30 ในรอบที่แล้ว ขึ้นมาอยู่ลำดับที่ 9 ยังไม่นับรวมโควตารัฐมนตรีที่รออยู่เบื้องหน้า
ทว่า ค่ายสีน้ำเงินยังต้องฝ่ากระแสคู่แข่งโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่ขอล้างแค้นเปิดปฏิบัติการ “ไล่หนู-ตีงู” ไปก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ ยังมี อุบลราชธานี 11 ที่นั่ง ภูมิใจไทยดูด 2 ส.ส.เดิม ทั้ง แนน บุณย์ธิดา สมชัย ลูกสาว “พ่อใหญ่อิสระ สมชัย” จากค่ายสีฟ้า มาสวมเสื้อสีน้ำเงิน ธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ จากค่ายพลังประชารัฐ ผนึก สุพล ฟองงาม และครอบครัวจินตะเวช ในสายของตุ่น จินตะเวช วัดพลังบ้านใหญ่กัลป์ตินันท์ และ“เฮียกุ่ย” ชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ จากค่ายเพื่อไทย
ไม่ต่างจากโซนริมโขง โดยเฉพาะ จ.นครพนม 4 ที่นั่ง ซึ่งถือเป็นเดิมพันครั้งสำคัญของ “ครูแก้ว” ศุภชัย โพธิ์สุ รอบนี้เจ้าตัวส่ง พูนสุข โพธิ์สุ ลงชิงเขต 1 เขตเดิมของตัวเอง
ขณะที่ “ศุภชัย”ประกาศเปิดศึกค่ายนายใหญ่ดูไบ โดยขยับมาลงเขต 2 ชนกับ “ดร.เดือน” มนพร เจริญศรี สายตรง “มาดามแจ๋น” พวงเพ็ชร ชุนละเอียด แห่งค่ายเพื่อไทย
ไม่ต่างจาก 16 ที่นั่ง เมืองย่าโม ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขสำคัญ มีผลต่อสูตรการเมืองในอนาคต ทั้งยังเป็นเดิมพันของบรรดาพรรคการเมืองแทบทุกพรรคที่จ้องเจาะ 16 ที่นั่ง ไม่เว้นแม้แต่ค่ายภูมิใจไทย ในวันที่ไร้แม้ทัพคนสำคัญ อย่าง “กำนันป้อ” วีระศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล ที่ย้ายไปเข้าค่ายนายใหญ่ดูไบ
รอบนี้ ส.ส.เดิม ภูมิใจไทย ทั้ง พรชัย อำนวยทรัพย์ สมศักดิ์ พันธ์เกษม สุชาติ ภิญโญ ผนึก 2 ตระกูลเจ้าถิ่น ทั้ง บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ อดีตคนคุ้นเคย และพลพีร์ สุวรรณฉวี รักษาที่นั่งเมืองย่าโมหวังตุนแต้มให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันภูมิใจไทยยังต้องฝ่าด่านคู่ต่อสู้ทั้งพลังประชารัฐ เพื่อไทย รวมไทยสร้างชาติ หรือแม้แต่ชาติพัฒนากล้า
ย้อนกลับไปการเลือกตั้งปี 62 ส.ส.เมืองย่าโมมี 14 เก้าอี้ พลังประชารัฐครองแชมป์กวาดได้มากที่สุด 6 เพื่อไทย 4 ภูมิใจไทย 3 และชาติพัฒนา 1
ารเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ค่ายพลังประชารัฐยังมีวิรัช รัตนเศรษฐ เป็นหัวหน้าทีม ขณะที่ค่ายเพื่อไทย มี ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค ผนึกกำลังกับกำนันป้อ วีรศักดิ์ ที่ขน 3 ส.ส. ภูมิใจไทย ย้ายมารวม
ขณะที่ชาติพัฒนากล้า ที่มี กรณ์ จาติกวณิช เป็นหัวหน้าหน้าพรรค สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ผู้มากบารมีในเขตเลือกตั้ง อ.เมือง ในเขตเลือกตั้งที่ 1 และเขต 2 ที่คราวนี้ส่งน้องชาย “เทวัญ ลิปตพัลลภ” ลงเขต 1 และ ส.ส.หนึ่งเดียวแชมป์ตลอดกาล 5 สมัย ส.ส.วัชรพล โตมรศักดิ์ ที่รอบนี้ลงชิงเก้าอี้ใน 2 เขตอีกครา
ขณะที่ ภาคเหนือ เป้าหมายของภูมิใจไทยอยู่ที่เหนือสุดแดนสยาม คือ จ.เชียงราย ซึ่งดูดบ้านใหญ่ รังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ อดีตส.ส.พร้อมทีมท้องถิ่นทั้ง นายก นก-อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายก อบจ.เชียงราย และประธานเล็ก-สุธีระพงศ์ วันไชยธนวงศ์ ประธานสภา อบจ.เชียงราย หวังผลจากแต้มสนามท้องถิ่นที่มีเป็นทุนเดิม นอกจากนี้ ยังมีสามารถ แก้วมีชัย เจ้าถิ่น ที่ขยับขึ้นปาร์ตี้ลิสต์ เป็นตัวหนุนอีกแรง
นอกจากนี้ ยังมี 3 ที่นั่ง จ.พิจิตร ภูมิไทยไทยดึง 2 ตระกูลดังเมืองชาละวัน “ภัทรประสิทธิ์- ขจรประศาสน์” ประกาศกวาดยกจังหวัดแจก 1 โควตารัฐมนตรี เช่นเดียวกับ จ.พิษณุโลก เขต1 ที่ส่ง “ปาล์ม” บวรเดช หล้าแหล่ง อดีตผู้สมัครไทยรักษาชาติที่พอจะมีฐานเสียงอยู่ในมือ นอกจากนี้ เขต 3 นิยม ช่างพินิจ แชมป์เก่าย้ายจากเพื่อไทย มาสวมเสื้อภูมิใจไทย ยังมีฐานเสียงแน่นปึ้กที่ อ.บางระกำ อ.บางกระทุ่ม มานาน
ไม่ต่างจาก ภาคใต้ รอบนี้มี ส.ส.เพิ่มขึ้นจาก 50 เป็น 58 ที่นั่ง ในส่วนของภาคใต้ตอนบน เห็นทีจะมีแค่พัทลุง ที่ภูมิใจไทยพอฟัดพอเหวี่ยงกับคู่ต่อสู้ได้
ขณะที่จุดยุทธศาสตร์ของภูมิใจไทยในสนามภาคใต้รอบนี้ น่าจะอยู่ที่ “ภาคใต้โซนอันดามัน” กระบี่ 3 ที่นั่ง ตรัง 4 ที่นั่ง ภูมิใจไทยตั้งเป้าไว้ 1 ที่นั่ง พังงา 2 ที่นั่ง ภูเก็ต 3 ที่นั่ง ระนอง 1 ที่นั่ง และสตูล 2 ที่นั่ง รวมถึงจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะสงขลาที่รอบนี้มี ส.ส.ได้ 9 ที่นั่ง
ส่วน “33 ที่นั่งเมืองหลวง” ต้องจับตาจังหวะก้าวของ “บี”พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ แม่ทัพเมืองหลวง ศึกรอบนี้ภูมิใจไทยมี ส.ส.เมืองหลวงที่ดูดจากค่ายต่างๆ 8 คน อีกทั้งยังเอาจริงเอาจังกับสนามเมืองหลวงมากเป็นพิเศษยิ่งกว่าทุกครั้ง โดยส่งผู้สมัครครบทั้ง 33 เขต หวัง ทุบสถิติปักธงสนามเมืองหลวงเป็นครั้งแรก นับแต่ก่อตั้งพรรค
สมการต่างๆ เหล่านี้ นอกเหนือจะเป็นตัวส่งให้ “ค่ายสีน้ำเงิน” ผงาดจากพรรคขนาดกลางขึ้นแท่นสู่พรรคขนาดใหญ่ ตามที่นายใหญ่ภูมิใจไทยวาดฝันไว้แล้ว ตัวเลขที่จะรู้ผลแพ้ชนะในอีกราว 1 เดือนข้างหน้า ยังมีผลไปถึงสมการการเมืองในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะสูตรการชิงเกมจับขั้วตั้งรัฐบาล
โดยเฉพาะภาพล้อมวงกินข้าวระหว่าง อนุทิน “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รวมถึงแกนนำพลังประชารัฐ กลางป่ารอยต่อเมื่อช่วงกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา นับเป็นการตอกย้ำกลเกมการเมืองที่เกิดขึ้น
แม้กระทั่งท่าทีล่าสุดของ “เสี่ยหนู อนุทิน” ประกาศโนสน-โนแคร์ผลโพล ขอเชื่อ"อนุทินโพล" ภายใต้เป้าหมายภูมิใจไทยในการทะยานแตะ 3 หลัก
ทว่าตัวเลขต่างๆ เหล่านี้ถึงเวลาจริง อาจต้องไปวัดกันที่กระแสและกระสุน โดยเฉพาะสถานการณ์ของภูมิใจไทยยามนี้ที่กำลังเผชิญขวากหนามจากบรรดา “มิตรเทียม-ศัตรูแท้” ทั้งกระแสเขย่านโยบายกัญชา หวังสั่นคลอนคะแนนนิยม ยังไม่นับรวมวิบากกรรมคดีความของบรรดาแกนนำ โดยเฉพาะกรณีศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “รัฐมนตรีโอ๋” ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม หยุดปฏิบัติหน้าที่ กรณีถือหุ้น “หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น” ที่ไม่ต่างอะไรกับการเด็ดปีกแกนนำไปในคราวเดียวกัน
ฉะนั้น “ยุทธศาสตร์ภูมิใจไทย” ที่แต่เดิมวาดฝันสยายปีกเป็นพรรคแกนนำตามคอนเซป “มีรู...มีหนู” ของอนุทิน หมายถึง “ที่ไหนมีโอกาส ที่นั่นมีอนุทิน” แต่ถึงเวลาจริง อาจต้องไปลุ้นอีกหลายด่านที่กำลังเขย่ารูหนูอยู่ ณ เวลานี้