ตรวจแถว"กองทัพ-กำลังพล" "เลิกเกณฑ์ทหาร" ทำได้-ขายฝัน
เปรียบเทียบตัวเลขย้อนหลัง ผู้สมัครใจเป็นทหารสูงสุดปี 2560 และลดลงต่อเนื่องในปีถัดมา ส่วนปีนี้ขึ้นมา 40% ในขณะที่ความต้องทหารกองประจำการของกองทัพไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
การตรวจเลือกทหารจะเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อ 19 เม.ย.นี้ แต่ “กองทัพ” ยังอุบเงียบถึงตัวเลขความต้องการชายไทยเข้ามาเป็นทหารกองประจำการประจำปี 2566 แต่หันมาตีปี๊บยอดผู้สมัครใจกว่า 25,000 คน
ปัจจัยหนึ่งอาจมองได้ว่าต้องการลดเงื่อนไขประเด็นการเมือง ท่ามกลางบรรยากาศหาเสียงเลือกตั้งที่ชูนโยบาย “ยกเลิกเกณฑ์ทหาร” อาทิ
“พรรคเพื่อไทย” เสนอยกเลิกการบังคับเกณฑ์ให้เป็นไปโดยสมัครใจทันที โดยการเปิดกว้างให้การสมัครทหารออนไลน์และไม่กำหนดเป้าหมายการรับ และปรับลดงบประมาณกลาโหมลง 10% เพื่อนำไปใช้ตั้งกองทุนสนับสนุนธุรกิจคนรุ่นใหม่ เพื่อให้งบประมาณที่ใช้เหมาะสมสอดคล้องกับความเป็นจริง
“พรรคก้าวไกล” เสนอยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ให้ใช้ระบบสมัครใจร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยประกาศว่าเดือน เม.ย.นี้จะมีการเกณฑ์ทหารครั้งสุดท้าย เพราะนโยบายของพรรคทำให้เกิดผลการปฏิบัติได้ด้วยการแก้ไขกฎหมาย
โดยมีผู้สมัครและแกนนำพรรคไปรณรงค์ทำกิจกรรมถึงหน่วยตรวจเลือก ตอกย้ำเป็นนโยบายลำดับต้นๆ ที่พรรคได้ปักธงในเรื่องนี้
ส่วนต้นตำรับผู้จุดประกายแนวคิดนี้ “พระเนติวิทย์ จรณสมฺปนฺโน” สร้างแรงกดดันให้ “กองทัพ” ต่อเนื่อง หลังไม่เดินทางมาจับ “ใบดำ-ใบแดง” เพราะหมดสิทธิผ่อนผัน เพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการบังคับเกณฑ์ทหารเมื่อ 8 ปีที่แล้ว อีกทั้งยังมีกิจธุระติดสอบพระบาลีประโยค 1-2 และเตรียมลาสิกขาภายในสิ้นเดือน เม.ย. เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย
ส่วน “กองทัพบก” ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามประชาสัมพันธ์ตอกย้ำถึงหน้าที่ชายไทยตามรัฐธรรมนูญ ในการมีส่วนร่วมดูแลบ้านเมือง พร้อมยก “สิทธิ-สวัสดิการ” ต่างๆ ต่อยอดสู่การเป็นทหารอาชีพ ทั้งนักเรียนนายสิบทหารบก ทหารอาสา รวมถึงได้รับโควตาการสอบเข้าเป็นบุคลากรของกองทัพ หวังสร้างแรงจูงใจให้สมัครใจเป็นทหาร แนวทางที่เชื่อว่าจะนำไปสู่การยกเลิกเกณฑ์ทหารในอนาคต
ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่ามีจำนวนประชากรที่ทำบัตรประชาชนในแต่ละปีประมาณ 1 ล้านคน เป็นชายไทยที่ต้องเข้าตรวจเลือกทหารกองเกินประมาณปีละ 5 แสนคน กองทัพต้องการชายไทยเข้ามาเป็นทหารกองประจำการปีละประมาณ 1 แสนคน/ปี คิดเป็น 1 ใน 5 ยอดรวมทั้งหมด
พร้อมจัดสรรให้กองบัญชาการกองทัพไทยประมาณ 1,900 นาย กองทัพบก 70,000 นาย กองทัพอากาศ 13,000 นาย กองทัพเรือ 6,000 นาย ส่วนที่เหลือให้แก่กระทรวงกลาโหม เพื่อใช้ปฏิบัติหน้าที่ด้านความมั่นคง และรักษาอธิปไตยรอบประเทศ รวมถึงช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัย
จากข้อมูลย้อนหลัง พบชายไทยสมัครใจเข้ารับใช้ชาติมีระดับตัวเลขดังต่อไปนี้ ปี 2557 จำนวน 35% ปี 2558 จำนวน 44% ปี 2559 จำนวน 47% ปี 2560 จำนวน 49% ปี 2561 จำนวน 45% ปี 2562 จำนวน 38% ปี 2563 จำนวน 41% ปี 2564 จำนวน 29% ปี 2565 จำนวน 28% ล่าสุดปี 2566 จำนวน 40 %
ส่วนตัวเลขความต้องการของกองทัพคิดตัวเลขกลมๆ ปี 2560 จำนวน 1.03 แสนคน ปี 2561 จำนวน 10.4 แสนคน ปี 2562 จำนวน 10.2 แสนคน ปี 2563 จำนวน 9.2 หมื่นคน ปี 2564 จำนวน 1.1 แสนคน ปี 2565 จำนวน 7.5 หมื่นคน ปี 2566 จำนวน 9.3 หมื่นคน
ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขย้อนหลัง ยอดผู้สมัครใจเป็นทหารสูงสุดในปี 2560 และลดลงต่อเนื่องในปีถัดมา ล่าสุดปี 2566 ขึ้นมา 40% อีกครั้ง ในขณะที่ความต้องทหารกองประจำการของกองทัพไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
"ทหารรุ่นใหม่คิดตรงกันว่าสถานการณ์บริบทสังคมเปลี่ยน เนื่องจากเทคโนโลยีเปลี่ยน ภาพความมั่นคง และกองทัพก็ต้องเปลี่ยนตาม แต่จะเปลี่ยนอย่างไร เพื่อรับมือกับสถานการณ์ความมั่นคงที่จะเกิดขึ้น ถ้ามีวิสัยทัศน์ที่ดีจะปรับได้เร็ว เพราะอำนาจรัฐ อำนาจเงินอยู่ในมือ แต่เราไม่มีนโยบายที่เข้มแข็ง ให้เกิดความชัดเจน เป็นรูปธรรม ทุกวันนี้จึงไม่คืบหน้า” แหล่งข่าวกองทัพบก ระบุ
ด้าน พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ชี้แจงว่า กองทัพไม่ได้ต่อต้านแนวคิดยกเลิกเกณฑ์ทหาร แต่เมื่อมีผู้สมัครน้อยไม่ต้องตามเป้าที่กองทัพต้องการ ก็ต้องเรียกเกณฑ์ทหาร เข้าใจว่าเป็นช่วงเลือกตั้ง แต่ละพรรคมีเคมเปญหาเสียงเพื่อแสดงจุดยืนนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองที่มีกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกัน แต่ยืนยันว่ากองทัพเป็นของประชาชน และเป็นทหารอาชีพ เราพร้อมทำงานทุกพรรคการเมือง ตามนโยบายไม่ว่าพรรคไหนเป็นรัฐบาลก็แล้วแต่
“ส่วนตัวดีใจที่พรรคการเมืองให้ความสนใจกองทัพและเสนอเข้ามาปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงกองทัพ ต้องยอมรับว่าสถานการณ์โลกและความมั่นคงของภูมิภาคในปัจจุบันเปลี่ยนไป จึงมีความจำเป็นที่กองทัพจะต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง การปฏิรูปกองทัพจึงเป็นเรื่องสำคัญ และเดินหน้ามาต่อเนื่อง อาจจะมีติดขัดบ้างในเรื่องของงบประมาณและการสนับสนุน หรือล่าช้า แต่เราก็ขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด ไม่ใช่ว่ากองทัพไม่ทำอะไรเลย”
พล.อ.คงชีพ กล่าวว่า หลังเลือกตั้ง นโยบายหาเสียงแต่ละพรรคการเมืองจะมีความชัดเจนมากขึ้น คงมีโอกาสทำงานร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ดังนั้น การปฏิรูปกองทัพ เราต้องการความชัดเจนด้านนโยบายรัฐบาล ต้องการการสนับสนุนจากสภาฯ เพราะเป็นเรื่องของกฎหมายและงบประมาณ หลังเลือกตั้งเมื่อมีการฟอร์มรัฐบาลและบริหารงาน เรื่องนโยบายหาเสียงเกี่ยวกับกองทัพคงได้พูดคุยเป็นทางการ เพราะถือรับผิดชอบของรัฐบาล
“เราเห็นภัยคุกคามเกิดขึ้นเป็นอย่างไร อะไรที่ทำให้เกิดความไม่มั่นคง ถือเป็นเรื่องสำคัญ เราต้องมากำหนดเกณฑ์เสี่ยงขั้นต่ำที่ยอมรับได้ร่วมกัน ว่าควรมีกองทัพหรือกำลังทหาร ควรมีจำนวนเท่าไรไว้รับมือภัยคุกคามเหล่านั้น และหากเกิดความเสียหาย รัฐบาลชุดนั้นต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นผู้กำหนดให้กองทัพมีขนาดเท่านี้ ดังนั้น ความเข้าใจบริบทความมั่นคง ต้องลึกซึ้ง ภัยคุกคามทำให้ประเทศล่มสลายได้”
ดังนั้น การยกเลิกเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนมาสมัครใจ 100% คงต้องไปลุ้นว่ารัฐบาลชุดใหม่จะผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมได้หรือไม่