"แฮกเกอร์ 9 near - คณะความมั่นคงพิเศษ" เรื่องซับซ้อนในกองทัพ

"แฮกเกอร์ 9 near - คณะความมั่นคงพิเศษ" เรื่องซับซ้อนในกองทัพ

"กองทัพ ปฏิบัติการอะไรบางอย่างกับพรรคก้าวไกลแน่นอน และยังกระทำต่อ นักสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ นักกิจกรรมอื่นๆ มาหลายปีแล้ว"

อาจเป็นเพราะสถานการณ์ที่กำลังเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง ทุกสายตาจึงโฟกัสไปที่การหาเสียงของพรรคการเมือง จึงทำให้ ประเด็น "แฮกเกอร์ 9 near" จ.ส.ท.เขมรัตน์ บุญช่วย สังกัด กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) ผู้ต้องหาในความผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะถูกกลบไปด้วยกระแสทางการเมือง

โดยคดีนี้มีความคืบหน้า โดยพนักงานสอบสวน พึ่งยื่นฝากขัง จ.ส.ท.เขมรัตน์ เป็นผลัดที่ 2 อีก 12 วัน หลังครบพลัดแรก เมื่อ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา พร้อมคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากสอบสวนพยานไม่แล้วเสร็จ ทั้ง การรอวัตถุพยาน ตรวจสอบลายนิ้วมือ ประวัติต่างๆ 

"ย้อนปมแฮกเกอร์ 9 near" ก่อนหน้านี้ 2 เดือน ปรากฎเป็นข่าวที่อยู่ในความสนใจของสังคม หลังออกมา ประกาศว่ามีข้อมูลประชาชน 55 ล้านคน พร้อมขู่เรียกค่าไถ่หากไม่ยอมจ่ายเงินจะเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล นำมาซึ่งคำถามมากมายต่อระบบการเก็บข้อมูลของหน่วยงานรัฐว่ารัดกุมเพียงใด

ส่วนโปรไฟล์ที่ใช้เป็นภาพสามเหลี่ยมคว่ำสีส้ม มีตัวอักษรภาษาไทยเขียนว่า “ก้าวใกล้” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์คล้ายคลึงกับโลโก้ “พรรคก้าวไกล” ที่สำคัญผู้ก่อเหตุยังเป็นทหาร สังกัดกรมการขนส่งทหารบก จึงทำให้ถูกโยงไปเป็นประเด็นการเมืองในช่วงใกล้เลือกตั้งอย่างเลี่ยงไม่ได้

รังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ค่อนข้างเซอร์ไพรส์ ทำไมแฮกเกอร์ถึงพยายามใช้โลโก้ ที่อาจทำให้คนนึกถึงพรรคก้าวไกล ซึ่งตนก็ไม่รู้ว่าเจตนาหวังทำให้คนเข้าใจผิดว่าพรรคก้าวไกลอยู่เบื้องหลัง หรือเป็นการวางงาน เพื่อต้องการดิสเครดิตพรรคก้าวไกล

แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือข้อมูลของประชาชน ที่หลุดออกไป มิจฉาชีพสามารถนำไปต่อยอดได้ ซึ่งไม่รู้ว่าการจัดการข้อมูลของภาครัฐเป็นอย่างไร ระบบป้องกันรัดกุมเพียงใด และมีผู้อยู่เบื้องหลังแฮกเกอร์คนนี้หรือไม่ ซึ่งข้อสงสัยทั้งหมดนี้อาจจะหายไปในสายลม ไม่ได้คำตอบอะไรกลับมา ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย หากเรื่องนี้จะเงียบหายไป

รังสิมันต์ โรม ระบุอีกว่า ในฐานะมีประสบการณ์ในการขึ้นศาลทหาร ซึ่งกรณีแฮกเกอร์แบบนี้ ควรจะขึ้นศาลพลเรือน แต่ก็เข้าใจว่าเขาเป็นทหาร แต่ก็ห่วงว่ากระบวนการสืบสวนสอบสวนที่จะขยายผล จะทำได้หรือไม่ กับการตรวจสอบภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่เป็นเช่นนี้ อย่างไรก็ตามแม้จะขึ้นศาลทหาร แต่ตำรวจก็สามารถดำเนินการสืบสวนสอบสวน ขยายผลต่อไปได้ เพียงแต่จะกล้าทำหรือไม่

และขอตั้งข้อสังเกตว่า มันเร็วเกินไปที่กองทัพบกจะออกมาปฏิเสธและชี้ว่าเป็นการกระทำส่วนบุคคล ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้มีการสืบสวนสอบสวนเชิงลึกเลย มีเพียงการตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบภายในแค่นั้นเอง ซึ่งยอมรับว่าในกองทัพมีความเป็นไปได้ หากจะมีจ่าสิบโท ที่มีความรู้ เก่ง เรื่องเหล่านี้ แต่ต้องมีการตรวจสอบว่า เขาใช้เครื่องมือพิเศษอะไรมาแฮกข้อมูล เป็นเครื่องมือของกองทัพด้วยหรือไม่

แม้จ่าสิบโทคนนี้ จะสังกัดกรมการขนส่ง แต่ถูกส่งตัวไปช่วยงานในส่วนไหนของกองทัพหรือไม่ เพราะเขาเก่งเรื่องเหล่านี้ ถึงสามารถใช้เครื่องมือบางอย่าง หรือเป็นเครื่องมือเฉพาะที่กองทัพมี เข้าถึงข้อมูลละเอียดอ่อนของประชาชน สิ่งเหล่านี้กองทัพต้องไปดูด้วย ไม่เช่นนั้นเราจะมั่นใจได้อย่างไร ที่บอกว่าเป็นเรื่องตัวบุคคล แสดงว่าระบบที่กองทัพมี มันป้องกันอะไรไม่ได้ ถึงมีบุคคลแบบนี้ คำถามก็คือ จะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่เกิดกรณีเช่นนี้อีก

 

“ส่วนตัวผมเชื่อว่ามีคนอยู่เบื้องหลัง แฮกเกอร์ 9 near ไม่ได้มีเพียงจ่าสิบโทคนเดียว แต่อาจมีคนเกี่ยวข้องที่มียศสูงมากกว่าจ่าสิบโทหรือไม่ ผมว่ามันมีเรื่องซับซ้อนเกิดในกองทัพแน่นอน แล้วบังเอิญไปหรือไม่ ที่มาเกิดในช่วงใกล้เลือกตั้ง

มีคนพูดว่าเป็นการวางงาน จะดำเนินการบ้างอย่างกับพรรคก้าวไกลหลังเลือกตั้ง ซึ่งส่วนตัวผมก็มองในหลายๆ มุม เพียงแต่ยังสงสัยว่า ถ้าวางงานให้พรรคก้าวไกล ทำไมถึงใช้ชื่อและภาพโปรไฟล์ที่ใกล้เคียงกับชื่อและสัญลักษณ์ของพรรค ซึ่งดูก็ไม่ค่อยเนียนเท่าไหร่ ส่วนจะทำสำเร็จหรือไม่ ผมไม่แน่ใจ แต่ที่แน่ๆ ความเสียหายเกิดขึ้นกับประชาชนมีแน่นอน” รังสิมันต์ โรม กล่าว พร้อมเชื่อมั่นว่า

กองทัพปฏิบัติการอะไรบางอย่างกับพรรคก้าวไกลแน่นอน และยังกระทำต่อ นักสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ นักกิจกรรมอื่นๆ มาหลายปีแล้ว ที่ได้ยินมาก็ยังมีเรื่อง “คณะความมั่นคงพิเศษ” ตนมองว่ากองทัพไม่ควรใช้ภาษีประชาชน และเครื่องมือใดๆ มาดำเนินการในกิจการลักษณะเช่นนี้กับประชาชนเสียเอง

รังสิมันต์ โรม ย้ำว่า ทุกวันนี้กองทัพเหลือเครดิตน้อยมากที่จะปฏิเสธเรื่องเหล่านี้ เพราะที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลมีหลักฐานมากมาย ที่กองทัพเองก็ถูกจับได้คาหนังคาเขา ตั้งแต่การทลายรังไอโอ สร้างเฟกนิวส์ กระทำต่อผู้เห็นต่างทางการเมือง ที่ใช้ Group LINE ในการสื่อสาร ตลอดจนถึงภาพถ่ายวีดีโอที่ยืนยันได้ ล่าสุด การรณรงค์ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ที่มีการสั่งห้ามใน LINE กลุ่ม ไม่ให้มารณรงค์ ซึ่งตนอยากชี้ให้เห็นว่า กองทัพตั้งปฏิบัติการบางอย่างต่อพรรคก้าวไกล แต่ทุกครั้งที่เกิดข้อครหา กองทัพก็จะให้เหตุผลว่า กองทัพไม่เคยคิดร้ายหรือทำอะไรพรรคก้าวไกล

แน่นอนว่า หากก้าวไกลเป็นรัฐบาล เราจะทลายเรื่องซับซ้อนที่เกิดในกองทัพ เราจะปฏิรูปกองทัพ ซึ่งเป็นนโยบายหนึ่งของพรรคที่ประกาศไว้ เราจะทำให้กองทัพกลับไปปฏิบัติหน้าที่ของตัวเอง คือป้องกันประเทศ ซึ่งก้าวไกลจะเข้ามาทำให้กองทัพบรรลุเป้าหมายนั้นให้ได้ นอกจากนี้จะเสริมสร้างให้กองทัพมีความพร้อมในเรื่องของการรบ ได้มาตรฐานสากล แต่กองทัพต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และไม่สร้างปฏิบัติการอะไรบางอย่าง เพื่อสร้างความขัดแย้งของคนในชาติ นี่คือสิ่งที่พรรคก้าวไกลจะเข้าไปบริหารจัดการ ไม่ให้เกิดซ้ำรอยเหมือนที่ผ่านมา”รังสิมันต์ โรม ระบุ

สอดคล้อง เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชื่อ ธนวรรธน์ สุวรรณปาล หรือ นายธนวรรธน์ สุวรรณปาล ครูทิว คุณครูสังคม-ประวัติศาสตร์ ผู้เคลื่อนไหวประเด็นด้านการศึกษา โพสต์ข้อความอ้างว่า มีชื่ออยู่ในบัญชีเฝ้าระวังของกองทัพ

โดยระบุว่า เป็นข้อมูลจากเอกสารประกอบการประชุม คณะความมั่นคงพิเศษ หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน เมื่อ 10 มี.ค.2565 ในหัวข้อ สรุปใจความได้ว่า

กองทัพได้มีการจำแนกกลุ่มคนเห็นต่าง แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม และ 1 ในนั้น คือกลุ่มนักวิชาการ ผู้นำทางความคิด 

โดยมีการประเมินนักวิชาการออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเห็นต่าง ให้เฝ้าสังเกต ติดตาม และกลุ่มเป็นกลางกับฝ่ายเรา อีกทั้งมีรายชื่อมหาวิทยาลัย สังกัดกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมถึงบัญชีหน่วยทหารทั่วประเทศที่รับผิดชอบเฝ้าระวัง

ทั้งหมดนี้ คือข้อครหาที่ฝ่ายการเมืองและนักวิชาการ ตั้งข้อสังเกตถึงปฏิบัติการบางอย่าง ที่เชื่อว่ามีอยู่จริงใน “กองทัพ” กระทำต่อผู้เห็นต่างทางการเมือง ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กันต่อไป