ปธ.กกต.กำชับ 5 ประสานต้านทุจริตเลือกตั้ง 66 เปิด 3 ปัจจัยให้ ปชช.ชี้เป้า
กกต.ประชุมร่วมหน่วยงานเกี่ยวข้อง บูรณาการด้านการข่าว-ป้องปรามทุจริตเลือกตั้ง 66 เน้นเจาะข้อมูลลึก “อิทธิพร” กำชับเข้ม 5 ประสานต้านทุจริต ชี้เป้าประชาชนทำ 3 ปัจจัยทำเลือกตั้งโปร่งใส สุจริต เที่ยงธรรม
เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2566 ที่ห้องประชุม 502 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. เป็นประธานในพิธีเปิดประชุมชี้แจงแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ในการแสวงหาข้อมูลข่าวสารและการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในการเลือกตั้ง 2566 โดยมีนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวรายงาน
ผู้เข้าประชุมทั้งหมด 2,113 คน ประกอบด้วย ผู้ตรวจการเลือกตั้ง 423 คน ชุดเคลื่อนที่เร็ว 400 ชุด ประจำ 400 เขตเลือกตั้ง จำนวน 1,239 คน ผู้บริหารกลุ่มภารกิจสืบสวน ไต่สวน วินิจฉัย และดำเนินคดีในศาล และชุดปฏิบัติการข่าว (ส่วนกลาง) 11 ชุด ชุดละ 3 คน จำนวน 66 คน ผอ.กกต.ประจำจังหวัด และ ผอ.กกต.กทม. รวม 77 คน รอง ผอ.กกต.ประจำจังหวัด และรอง ผอ.กกต.กทม. จำนวน 77 คน และชุดปฏิบัติการข่าว (ส่วนจังหวัด) 77 ชุด ชุดละ 3 คน จำนวน 231 คน
นายอิทธิพร กล่าวว่า สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบ ประกาศหรือมติ กกต. ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ในการแสวงหาข้อมูลข่าวสารและการป้องกันปราบปรามการทุจริตแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็ว ตามคำสั่ง กกต. ที่ 657/2566 ลงวันที่ 21 เมษายน 2566 เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.เกี่ยวกับการเลือกตั้ง การสนับสนุนการเลือกตั้ง เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.ในการป้องปรามและหาข่าวเกี่ยวกับการกระทำความผิดในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย นอกจากนี้ยังเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อวางแผนปฏิบัติหน้าที่และลงพื้นที่ระหว่างผู้ตรวจการเลือกตั้ง ชุดเคลื่อนที่เร็ว ชุดปฏิบัติการข่าวทั้งส่วนกลางและส่วนจังหวัด และผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดและกรุงเทพมหานคร เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ตามที่ กกต. มอบหมายภารกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และชอบด้วยกฎหมายต่อไป
นายอิทธิพร กล่าวอีกว่า สำหรับชุดเคลื่อนที่เร็วซึ่งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ อยากขอให้ช่วยรวบรวมพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นในการกระทำความผิด การบันทึกภาพทั้งภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหว เสียง ซึ่งการรวบรวมพยานหลักฐานเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะการได้พยานหลักฐานที่ชัดเจนและครบถ้วน จะทำให้การสรุปสำนวนเพื่อการวินิจฉัยเป็นไปได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ รวมทั้งเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายอีกด้วย ทั้งนี้ การทำงานต้องอาศัยคนที่อยู่ในพื้นที่ตระเวนหาข่าวเคลื่อนที่เร็ว และติดตามตรวจสอบว่ามีการกระทำผิดจริงหรือไม่ แนะนำว่าการหาข้อมูลในทางลับได้จากผู้ขับวินจักรยานยนต์ พ่อค้าแม้ค้าขายผลไม้ คนขายลูกชิ้นทอด ซึ่งจะมีความใกล้ชิดกับคนในพื้นที่
ประธาน กกต. กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญประการหนึ่ง ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด ต้องมีความชำนาญในพื้นที่ เป็นอย่างดี ส่วนชุดเคลื่อนที่เร็วก็ต้องมีความเชี่ยวชาญเส้นทางในพื้นที่และให้เข้าถึงพิกัดนั้นได้โดยเร็ว เพื่อใช้เวลาน้อยที่สุดไปยังสถานที่เกิดเหตุ ทั้งนี้มีกรณีตัวอย่าง การบูรณาการโดยตรงระหว่าง ชุดเคลื่อนที่เร็วกับผู้ตรวจการเลือกตั้ง ซึ่งจะมีการทำงานด้วยกันตลอดเวลาและประชุมร่วมมือกันในการสร้างความคุ้นเคยในการลงพื้นที่ ขณะเดียวกันประชาชนที่เป็นหัวใจหลักของการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น หากเราจะเชิญชวนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ในการเลือกตั้ง มีมาตรการและบทบัญญัติบางอย่าง ที่จะทำให้ประชาชนมีความกล้าในการเข้ามาทำงาน ช่วยในการตรวจสอบการเลือกตั้ง
นายอิทธิพร กล่าวด้วยว่า ขอให้แกนนำ 5 ประสานต้านทุจริต ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ชุดเคลื่อนที่เร็ว ได้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่า มีปัจจัยหลัก 3 ประการ ดังนี้
ประการที่ 1 การชี้เบาะแสการกระทำ ความผิด ว่ามีสิทธิที่จะได้รับเงินรางวัล กฎหมายกำหนดว่าถ้ามีผู้ให้เบาะแสที่นำไปสู่การดำเนินการ ในขั้นสามารถลงโทษ ผู้กระทำคิดได้ก็มีสิทธิจะได้รับเงินรางวัล
ประการที่ 2 ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเลือกตั้งซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่เป็นพลเมืองดีแล้ว สามารถที่จะมาขอให้เราคุ้มครองพยานได้ เพราะอาจหวาดระแวงเกรงกลัว อิทธิพลในพื้นที่ ตอนนี้กฎหมายติดอาวุธให้ กกต. สามารถจัดระบบคุ้มครองพยาน ที่ผ่านมาก็ให้การคุ้มครองบุคคลที่ให้ข้อมูลเป็นพยานไปแล้ว ประมาณ 30 กว่าคน
ประการที่ 3 คือ ถ้าหากผิดไปแล้วแต่กลับใจ กกต.อาจจะกันไว้เป็นพยานคดีเลือกตั้ง ซึ่งทราบดีว่าหาพยาน บุคคลได้ยาก จึงเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีส่วนกระทำความผิดแต่กลับใจ ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลที่สำคัญ ที่นำไปสู่การนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ กกต.อาจจะพิจารณาการกันบุคคลนั้นไว้เป็นพยานได้ หมายความว่า ไม่ต้องรับความผิด ในคดีที่ได้กระทำ