ชนักปักนักเลือกตั้งในมือ กกต. ปมหุ้น “อุ๊งอิ๊ง” ส่อซ้ำรอย “ธนาธร”
ประเด็นของ “อุ๊งอิ๊ง” อาจมีข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากของ “ธนาธร” เพราะ “เอสซี แอสเสท” รับรู้กันโดยทั่วไปว่า ทำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก ขณะที่ “วีลัค มีเดีย” ทำธุรกิจด้านสื่อสิ่งพิมพ์โดยตรง ดังนั้นต้องรอวัดใจการตีความของ กกต.ว่าจะมองเรื่องนี้อย่างไร
โค้งสุดท้ายนับเวลาถอยหลังอีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ จะถึงวันกำหนดอนาคตประเทศไทย เลือกตั้ง 2566 ในวันที่ 14 พ.ค.
ทุกพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ต่างระดมทุกสรรพกำลัง “กระแส-กระสุน” หว่านลงทุนพื้นที่ หวังได้รับชัยในศึกครั้งนี้
อย่างไรก็ดีในช่วงที่ผ่านมา นโยบายหาเสียงแต่ละพรรคการเมือง รวมถึงการลงพื้นที่ของผู้สมัคร ส.ส.บางแห่ง มีเหตุการณ์ฉาวโฉ่เกิดขึ้น จนโดนยื่นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อดำเนินการตรวจสอบว่า เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และตามกฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมืองหรือไม่
ปัจจุบันเรื่องร้องเรียนทุจริตเลือกตั้ง เบื้องต้นมีเข้ามาไม่ต่ำกว่า 50 เรื่อง โดยเรื่องที่ร้องเรียนมากที่สุดคือ การทำลายป้ายหาเสียง การหาเสียงหลอกลวง การใช้รถหาเสียงผิดประเภท เป็นต้น แต่ละเรื่องอนุกรรมการสืบสวนไต่สวนระดับจังหวัด อยู่ระหว่างการกำลังดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนส่งความเห็นและรายงานขึ้นมายังสำนักงาน กกต.กลาง
ประเด็นใหญ่ที่น่าจับตาคือ กรณี “ปกรณ์ มหรรณพ” กกต.เอ่ยปากเองว่า ในอีก 1-2 วันนี้ กกต. จะเปิดเผยมติบางอย่างออกมา โดยผู้สื่อข่าวพยามสอบถามว่า มติดังกล่าวจะมีผลอย่างหนึ่งอย่างใดกับพรรคการเมืองหรือไม่ นายปกรณ์ยิ้ม แต่ไม่ตอบคำถามนี้ของสื่อมวลชนแต่อย่างใด
ทำให้เกิดการตีความกันต่าง ๆ นานาว่า อาจจะมี “บิ๊กเซอร์ไพรส์” ลงดาบพรรคการเมืองใหญ่พรรคใดพรรคหนึ่งหรือไม่
ขณะที่คำร้องที่ร้ายแรงถึงขั้น “ยุบพรรค” นั้น ปัจจุบันมีเข้ามาเพิ่มเติมหลายเรื่องด้วยกัน กรณีล่าสุดคือ “แชทไลน์หลุด” ที่มีการกล่าวหาว่า “บุคคลภายนอก” ระดับ “นักการเมืองดัง” เข้าไป “ครอบงำ” 2 พรรคการเมืองใหญ่ฝ่ายค้าน ได้แก่
1.กรณีแชทไลน์หลุดอ้างว่ามาจาก “คนแดนไกล” เป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับ “คนเสื้อแดง” ร่วมกันกับพรรคการเมืองใหญ่ สร้างปรากฎการณ์แลนด์สไลด์ในศึกเลือกตั้งครั้งนี้
2.กรณีแชทไลน์หลุด “ศาสดาองคาพยพสีส้ม” ส่งไลน์ชี้นำสมาชิกพรรคดัง ให้ช่วยเหลือกลุ่ม “ม็อบ 3 นิ้ว” รวมถึงเรียกร้องให้มีการเสนอกฎหมายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
โดย 2 ประเด็นนี้ปัจจุบันถูก “นักร้อง” ยื่นเรื่องต่อสำนักงาน กกต.เพื่อดำเนินการตรวจสอบแล้ว
กรณีถัดมาคือ ตรวจสอบการดีเบตของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล และ “หมอมิ้ง” นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการนโยบาย พรรคเพื่อไทย ที่มีการกล่าวหาว่า กกต.เปลี่ยนแปลงสูตรคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งถือว่าเป็นการพูดที่สร้างความเข้าใจผิดต่อการทำหน้าที่ของ กกต.
โดย กกต.รวบรวมหลักฐานทั้งหมดไว้เรียบร้อยแล้ว และจะมีการพิจารณาหลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลงเพราะไม่ต้องการให้การพิจารณาของ กกต. มีผลอย่างหนึ่งอย่างใดกับการเลือกตั้ง ส่วนจะถึงขั้นแจ้งความดำเนินคดีหรือไม่จะต้อง รอ มติจาก กกต. ก่อน โดยจะต้องพิจารณาจากข้อมูลที่ฝ่ายกฎหมายของ กกต. ส่งมา
สำหรับคำร้องกล่าวหา “พรรคใหญ่” ทั้งฝ่ายรัฐบาลเดิม-ฝ่ายค้านเดิม มีหลายคำร้องด้วยกัน ที่ได้รับการจับตาจากสาธารณชน หนีไม่พ้นกรณี “กระเป๋าเงินดิจิทัล” 1 หมื่นบาทของ “เพื่อไทย” ว่าจะใช้เงินงบประมาณจากไหน หามาได้จริงตามที่อ้างหรือไม่ แม้ในชั้นการหาเสียง กกต.จะออกมาการันตีว่า ไม่เข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง เนื่องจาก กกต.ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบว่า นโยบายใดทำได้หรือไม่ได้
แต่ยังมีประเด็นที่ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีต กกต.ให้ความเห็นว่า นโยบายหาเสียงแต่ละพรรคการเมือง กกต.สามารถตรวจสอบในประเด็นหาเสียง “หลอกหลวง” ได้อยู่ ดังนั้นเรื่องนี้คงต้องรอดูกันอีกสักระยะ
ประเด็นถัดมา “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย แคนดิเดตนายกฯของพรรค ถูก “นักร้อง” ยื่นตรวจสอบปมถือหุ้นบริษัท เอสซี แอสเสท จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,216,149,807 หุ้น โดยอ้างว่าวัตถุประสงค์การทำธุรกิจของ “เอสซี แอสเสท” อย่างน้อย 5 ข้อ อาจเข้าข่ายเป็นกิจการสื่อมวลชน
เรื่องนี้ถูกบางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าอาจซ้ำรอยกรณี “ธนาธร” ที่ถือหุ้นบริษัท วีลัค มีเดีย จำกัด ที่มีวัตถุประสงค์ทำกิจการสื่อ แม้ว่าจะเลิกทำไปแล้ว แต่ยังไม่แจ้งจดทะเบียนเสร็จชำระบัญชีให้เรียบร้อย จึงเข้าข่ายถือครองหุ้นสื่อ ส่งผลให้ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้ “ธนาธร” พ้นตำแหน่ง ส.ส.เมื่อช่วงปี 2562
อย่างไรก็ดีประเด็นของ “อุ๊งอิ๊ง” อาจมีข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากของ “ธนาธร” อยู่บ้าง เพราะกรณี “เอสซี แอสเสท” รับรู้กันโดยทั่วไปว่า ทำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก ขณะที่ “วีลัค มีเดีย” ทำธุรกิจด้านสื่อสิ่งพิมพ์โดยตรง ดังนั้นต้องรอวัดใจการตีความของ กกต.ว่าจะมองเรื่องนี้อย่างไร
นอกจากกรณี “อุ๊งอิ๊ง” แล้ว ยังมีผู้สมัคร ส.ส.อีกอย่างน้อย 130 คน ถูก กกต.กล่าวหาปมถือหุ้นสื่อด้วย ตามที่ “ชาญชัย อิสระเสนารักษ์” ผู้สมัคร ส.ส.นครนายก เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อ้างถึง ภายหลังเจ้าตัวโดน กกต.นครนายก ตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ปมถือหุ้น “เอไอเอส” ที่ไปลงทุนทำสื่อในบริษัทลูก กระทั่งวานนี้ (2 พ.ค.) ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง คืนคุณสมบัติเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเช่นเดิม
ขณะที่คำร้องกล่าวหายุบพรรคเดิม ตามข้อมูลที่ “แสวง บุญมี” เลขาธิการ กกต.เปิดเผยช่วงเดือน มี.ค. 2566 พบว่า กกต.มีมติตีตกไปแล้วอย่างน้อย 61 เรื่อง หากนับเฉพาะพรรคใหญ่จะเหลือคำร้องกล่าวหา “ยุบพรรค” ได้แก่ พรรคเพื่อไทย อยู่ระหว่างพิจารณา 6 เรื่อง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อยู่ระหว่างพิจารณา 3 เรื่อง
โดยคำร้องกล่าวหายุบพรรคเพื่อไทย เช่น การยอมให้นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคชี้นำครอบงำ การดำเนินกิจการพรรค ทั้งจากเหตุมีจดหมายน้อยมาช่วยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงราย คลิปลับพูดคุยชี้นำสมาชิกพรรคในงานเลี้ยงวันเกิดของนายเกรียง กัลป์ตินันท์ กรณี พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี อ้างถูกนายทักษิณปลดออกจากการเป็นสมาชิกพรรค คลิปงานเลี้ยงพรรคเพื่อไทยที่ชูคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร เป็นหัวหน้าพรรค และแนวทางการทำให้พรรคชนะแบบแลนสไลด์ การปรากฏข้อความบนเว็บไซต์ของพรรคเพื่อไทย ชวนประชาชนรวมพลไล่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นต้น
ส่วนคำร้องกล่าวหายุบพรรค พปชร. เท่าที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อคือกรณี ปรากฏแชทไลน์หลุดมีการจ่ายเงินให้กับพรรคเล็ก ช่วงยุทธการ “เลื่อยขาเก้าอี้นายกฯ” ระหว่างศึกซักฟอกปี 2565 เป็นต้น
ทั้งหมดคือคำร้องกล่าวหา “นักเลือกตั้ง” ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันกาบัตร 14 พ.ค.นี้ ใครจะลิ่วหรือร่วง ต้องจับตาการวินิจฉัยของ กกต.กันต่อไป