"ก้าวไกล"ลุ้นยึดเมืองหลวงเกินครึ่ง "เพื่อไทย"หวังฐาน สก.กวาด 20 ที่นั่ง
ก้าวไกล-เพื่อไทย ปิดสนาม 33 เขตกทม. กก.ลุ้นยึดเมืองหลวงเกินครึ่ง พท.หวังฐาน สก.กวาด 20 ที่นั่ง “อนุรักษ์นิยม” 3 พรรค "พปชร.-รทสช.-ปชป.ตัดกันเอง
33 ที่นั่ง พื้นที่ “เมืองหลวง” ทุกพรรคการเมืองหวังแย่งชิงเก้าอี้ ส.ส. มาครอบครอง เพราะมีศักดิ์ศรีเป็นเดิมพัน บางพรรคหวังพึ่งกระแส บางพรรคตัวผู้สมัครทำพื้นที่ได้ดี แต่การเลือกตั้งทุกคน “คนกรุง” เดาใจยากสุด ผลการเลือกตั้งหักปากกาเซียนเกือบทุกครั้ง
ยิ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ 14 พ.ค. 2566 การแบ่งขั้ว “อนุรักษ์นิยม” กับ “เสรีนิยม” ชัดเจนกว่าทุกครั้ง แม้กระภาพรวมของ “เพื่อไทย-ก้าวไกล” จะมาแรง แต่ไม่สามารถประมาท “รวมไทยสร้างชาติ-ประชาธิปัตย์” ได้ เนื่องจากฐานคะแนนของ “อนุรักษ์นิยม” ในบางเขตมีสูงลิบเช่นกัน
- พรรคเพื่อไทย
คาดหวังว่าจะกวาด ส.ส. กทม.20 ที่นั่ง ต่อยอดความสำเร็จที่จากการเลือกตั้ง สก. เมื่อปี 2565 ซึ่งคว้ามาได้ 20 ที่นั่ง โดยต้องรักษาเก้าอี้เดิม 7 ที่นั่งเอาไว้ให้ได้ อาทิ “สุรชาติ เทียนทอง” เขตหลักสี่ “จิรายุ ห่วงทรัพย์” เขตคลองสามวา “พลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ” เขตคันนายาว เป็นต้น
ขณะเดียวกันมีหลายเขตที่ต้องทวงเก้าอี้คืน อาทิ “วิชาญ มีนชัยนันท์” เขตมีนบุรี รวมถึงพื้นที่ที่หลบเขตให้กับอดีตพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งไปเทคะแนนให้กับอดีตพรรคอนาคตใหม่ จึงคาดหวังว่า โอกาสที่จะได้ ส.ส. กทม. 20 ที่นั่ง มีความเป็นไปได้
- พรรคก้าวไกล
กระแสแรงในเขตเมือง การเลือกตั้งปี 2562 อดีตพรรคอนาคตใหม่คว้ามาได้ 8 ที่นั่ง แต่กลายร่างเป็น “ส.ส.งูเห่าสีส้ม” หลายคน มาเที่ยวนี้คาดหวัง ส.ส. กทม. 12-14 ที่นั่ง โดยมั่นใจว่า แชมป์เก่า อาทิ ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร อดีต ส.ส.กทม. จะรักษาเก้าอี้ไว้ได้
ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ใน กทม.พรรคก้าวไกล เชื่อมั่นว่าจะเก็บได้ราว 10 ที่นั่ง เนื่องจากยังเชื่อฐานเสียงในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 โดยทั้ง 30 เขต กทม. อดีตพรรคอนาคตใหม่ไม่เคยได้คะแนนต่ำกว่าลำดับที่ 3 ในทุกเขต โดยมีคะแนนป็อปปูล่าร์ 804,272 เสียง
- พรรคประชาธิปัตย์
คาดหวังจะคืนชีพจากการสูญพันธุ์ให้ได้ เนื่องจากปี 2562 แพ้ทุกเขตในกทม.เรียกว่าสอบตกยกจังหวัด ไม่ได้เก้าอี้ ส.ส. แม้แต่ที่นั่งเดียว รอบนี้มั่นใจว่าจะได้ ส.ส. 5 ที่นั่ง โดยมี “สุวัฒน์ ม่วงศิริ” “สากล ม่วงศิริ” “วณิชชา ม่วงศิริ” และ “กิตพล เชิดชูกิจกุล” เป็นตัวความหวัง
- พรรครวมไทยสร้างชาติ
มั่นใจว่าคะแนนจาก “กลุ่มอนุรักษ์นิยม” จะเทใจให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯ โดยคาดหวังเอาว่าจะได้ ส.ส. กทม. อย่างน้อย 5 ที่นั่ง อาทิ อรพินทร์ เพชรทัพ ชื่นชอบ คงอุดม ประสิทธิ์ มะหะหมัด ฐิติภัตร์ โชติเดชาชัยนันต์ เป็นต้น
- พรรคพลังประชารัฐ
แชมป์เก่าปี 2562 กวาด ส.ส. กทม.13 ที่นั่ง แต่เที่ยวนี้แทบจะไม่มีโอกาสรักษาแชมป์ ตัว ส.ส. กระจัดกระจายไปสังกัดใหม่ มีเพียง ศิริพงษ์ รัศมี แชมป์เก่าเขตหนองจอก ที่เป็นความหวังหนึ่งเดียว
- พรรคภูมิใจไทย
ต้อนอดีตส.ส. พลังประชารัฐ เพื่อไทย เข้าสังกัดหลายคน แต่กระแสพรรคในเขตเมืองติดลบ ทำให้โอกาสปักธง กทม.มีน้อย หวังสู้เต็มที่เพียง 2 คน ประกอบด้วย กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา และ ประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ
“กรุงเทพธุรกิจ” ชำแหละพื้นที่รายเขต เพื่อให้เห็นภาพรวม ความได้เปรียบ เสียเปรียบ ของแต่เขตในกทม. เพื่อประเมินทิศทางการเลือกตั้งสนามกทม.ที่นับถอยหลังอีกเพียงสัปดาห์
เขต 1 แชมป์เก่า “กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ” ย้ายค่ายจากพลังประชารัฐ มาสังกัดเพื่อไทย มีฐานเสียงส่วนตัวและกระแสพรรคช่วยประคับประคอง แต่เขต 1 เลือด “อนุรักษนิยม” เข้มข้น อาจจะเป็นอุปสรรค
ทำให้ “เจิมมาศ จึงเลิศศิริ” อดีต ส.ส. หลายสมัยจากประชาธิปัตย์ ที่แต้มการเมืองส่วนตัวยังมีอยู่ มีลุ้นขึ้นมาแย่งเก้าอี้ เช่นเดียวกับ “พลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์” จากรวมไทยสร้างชาติ หวังพึ่งกระแส “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในฐานะยืนหนึ่งอนุรักษ์นิยม
เขต 2 ศึก 5 หญิง ต้องห้ำหั่นกันหนัก “อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์” อดีต ส.ส. จากประชาธิปัตย์ สู้กับแชมป์เก่า “พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์” จากค่ายพลังประชารัฐ ย้ายเข้าพรรคภูมิใจไทย โดยทั้งคู่มีฐานคะแนนเดียวกัน แถมยังมี “ศิรินันท์ ศิริพานิช” จากรวมไทยสร้างชาติ มาแบ่งแต้มอีกคน
ฝั่ง “เสรีนิยม” มี “ลีลาวดี วัชโรบล” จากเพื่อไทย “ธิษะณา ชุณหะวัณ” จากก้าวไกล ขอท้าชิง หากฝั่งตรงข้าม คะแนนถูกหารออกไปเยอะ “ลีลาวดี-ธิษะณา” มีหวังคว้าเก้าอี้ ส.ส.
เขต 3 พรรคเพื่อไทย หมายมั่นปั้นมือให้ “เพ็ญพิสุทธิ์ จินตโสภณ” เข้าวิน เพราะเช็คลิสต์แล้ว คู่แข่งไม่ถือว่าเป็นสายแข็งมากนัก คู่ชกที่สมน้ำสมเนื้อ มองไปที่ “จรยุทธ จตุรพรประสิทธิ์” จากก้าวไกล ที่กระแสมาแรง แต่ไม่ประมาท “เนวินธุ์ ช่อชัยทิพย์” จากรวมไทยสร้างชาติ ซึ่งขยันลงพื้นที่มาสักระยะหนึ่งแล้ว
เขต 4 สู้กันหนักสุดพื้นที่หนึ่งในสนาม กทม. แชมป์เก่า “กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา” ย้ายจากพลังประชารัฐ เข้าสังกัดภูมิใจไทย แม้ฐานเสียงจะแน่นปึ้ก แต่เจอคู่แข่งสายแข็งอย่าง “เอิร์ธ” ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง จากประชาธิปัตย์ ที่มี “สก.ต่าย” สุชัย พงษ์เพียรชอบ คอยบริหารแต้มการเมืองอยู่เบื้องหลัง
“กรณิศ” เป็นความหวังสูงสุดคนหนึ่งของพรรคภูมิใจไทย ที่ต้องการปักษ์ธงพื้นที่ กทม.ให้ได้ ไม่ต่างจาก “พงศกร” เป็นความหวังสูงสุดของค่ายประชาธิปัตย์ ที่ต้องการทวงคืนเก้าอี้ ส.ส. กทม. ศึกชิงคลองเตยครั้งนี้ จึงรับประกันความเดือด
เขต 5 แชมป์เก่า “ประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ” ย้ายจากเพื่อไทย เข้าสังกัดภูมิใจไทย มีลุ้นรักษาแชมป์ แต่กระแสภูมิใจไทยในกทม.ไม่ค่อยสู้ดี เปิดทางให้ “ขจรศักดิ์ ประดิษฐาน” จากเพื่อไทย “เฉลิมชัย กุลาเลิศ” ที่กระแสพรรคอยู่ในแดนบวก จึงต้องวัดกันว่า ความนิยมบุคคลในตัว “ประเดิมชัย” จะสู้กระแสพรรคได้หรือไม่
เขต 6 พื้นที่ความหวัง ของรวมไทยสร้างชาติ โดยส่ง “อรพินทร์ เพชรทัต” ลูกสาวของ “อนงค์ เพชรทัพ” สก.ดินแดง แถมยังเป็นพื้นที่เก่าของ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ “อรพินทร์” จึงมีเดิมพันหนัก ถูกสั่งห้ามแพ้
สำหรับคู่แข่งมองไปที่ “ภาดาท์ วรกานนท์” จากภูมิใจไทย และ “ธนา ชีรวินิจ” จากประชาธิปัตย์ ซึ่งมีดีกรีอดีต ส.ส. พ่วงท้ายอยู่ทั้งคู่ คะแนนนิยมส่วนตัวจึงพอมีอยู่
เขต 7 มี “ชื่นชอบ คงอุดม” จากรวมไทยสร้างชาติ ลูกชาย “ชัชวาลล์ คงอุดม” ผู้มากบารมีพื้นที่เตาปูน-บางซื่อ เป็นตัวเต็ง ฐานจัดตั้งค่อนข้างปึ้ก หากมีกระแส “ประยุทธ์” มาเสริมเพิ่มเติม โอกาสค่อนข้างสูง แต่ให้จับตา “รัฐพงษ์ ระหงส์” จากเพื่อไทย “ภัสริน รามวงศ์” ที่กระแสพรรคเป็นแรงหนุน มีโอกาสเข้าวินเช่นกัน
เขต 8 “สุรชาติ เทียนทอง” จากเพื่อไทย ทำพื้นที่อย่างต่อเนื่อง บวกกับกระแสเพื่อไทยคอยเกื้อหนุน ทำให้ยากที่คู่แข่งจะมาชิงพื้นที่ แต่ให้จับตา “มือปราบหูดำ” พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ จากประชาธิปัตย์ ซึ่งลงพื้นที่สม่ำเสมอเช่นกัน จะสามารถเบียดทำแต้มแทรกมาได้มากน้อยแค่ไหน
เขต 9 แชมป์เก่า “อนุสรณ์ ปั้นทอง จากเพื่อไทย คะแนนนิยมยังเหนียวแน่น แต่พื้นที่ถูกซอยย่อย เฉือนจุดแข็งไปเยอะมาก แถมมี “ศุภณัฐ มีนชัยนันท์” หลานชาย “วิชาญ มีนชัยนันท์” จากก้าวไกล แม้จะลงสนามครั้งแรก แต่ภาพลักษณ์คนรุ่นใหม่ไฟแรงเด่นชัด
เขต 10 ศึกชิงทุ่งดอนเมือง “เดอะเก่ง” การุณ โหสกุล เผาบ้านเก่าเพื่อไทย ซบไทยสร้างไทย ตาม “สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ฐานการเมืองค่อนข้างเหนียวแน่น แต่กระแสเพื่อไทยก็ไม่เบา และตัวบุคคล “สุธนพจน์ กิจธนาพิทักษ์” ก็ประมาทไม่ได้
ว่ากันว่า “สุธนพจน์” มือเติบไม่น้อย จึงพร้อมสู้หมดหน้าตักเช่นกัน แม้ “การุณ” อาจได้เปรียบอยู่เล็กน้อย
เขต 11 “สมชาย เวสารัชตระกูล” จากไทยสร้างไทย เป็นตัวเต็ง-ตัวยืน เนื่องจากมีเงาของ “อนุดิษฐ์ นาครทรรพ” อดีต ส.ส. สายไหม หลายสมัยคอยบริหารจัดการอยู่เบื้องหลัง แม้ “เอกภพ เหลืองประเสริฐ” ผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด จากภูมิใจไทย มีฐานแฟนคลับจากเพจมาแบ็คอัพ แต่สู้ความแข็งแกร่งของ “สมชาย-อนุดิษฐ์” ได้ยาก
เขต 12 “ญาณกิตติ์ ห่วงทรัพย์” น้องชาย “จิรายุ ห่วงทรัพย์” จากเพื่อไทย อาศัยฐานเสียงของ “อนุสรณ์ ปั้นทอง” เจ้าของพื้นที่เดิม จึงมีลุ้นเข้าวิน แต่ต้องแข่งกับ “ประเวศร์ วัลลภบรรหาร” จากไทยสร้างไทย เนื่องจากแขวงออเงิน เป็นพื้นที่เชื่อมต่อของเขตสายไหม ซึ่งเป็นฐานเสียงของ “อนุดิษฐ์”
เขต 13 แม้ “สกาวใจ พูนสวัสดิ์” จะลงสนามการเมืองครั้งแรก แต่ถูกมองว่าเป็นตัวเต็ง เพราะมีกระแสพรรคเพื่อไทยช่วย แถมแขวงคลองกุ่ม ยังเป็นพื้นที่ของ “เสี่ยเอก” พลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ” เพื่อนรักที่จะแชร์แต้มมาให้ โดยมี “กษิดิ์เดช ชุติมันต์” แชมป์เก่าที่ย้ายจากพลังประชารัฐ มาสังกัดภูมิใจไทยเป็นคู่แข่งสำคัญ
เขต 14 แชมป์เก่า “ฐิติภัตร์ โชติเดชาชัยนันต์” ย้ายจากพลังประชารัฐ มาสังกัดรวมไทยสร้างชาติ สนามส.ส.ได้ “ส.สมหมาย” สมหมาย สกุลเมตตา โปรโมเตอร์มวยชื่อดังกลับมาช่วย หลังต้องแยกกันเดินสนาม สก. เพราะ “ส.สมหมาย” อาสาช่วยทีมรักษ์กรุงเทพของ “บิ๊กวิน” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ทำให้ฐานเสียงของ “ฐิติภัตร์” กลับมาปึ้กเหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม ต้องจับตา “พงศกร รัตนเรืองวัฒนา” จากเพื่อไทย และ “สิริลภัส กองตระการ” จากก้าวไกล ที่กระแสพรรคมาแรง มีโอกาสเบียดเข้าป้ายได้เหมือนกัน
เขต 15 แชมป์เก่าหลายสมัย “เสี่ยเอก” พลภูมิ วิภัตภูมิประเทศ จากเพื่อไทย คะแนนนิยมส่วนตัวสูงมาก ทำพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคู่แข่งไม่มีเบอร์ใหญ่มาสู้ เขตนี้ “พลภูมิ” มั่นใจว่า ชนะแบบแบเบอร์
เขต 16 ตัวเต็ง ต้องยกให้ “จิรายุ ห่วงทรัพย์” อดีต ส.ส. หลายสมัย ฐานเสียงยังปึ้ก ผนึกกับกระแสพรรคเพื่อไทยอยู่ในแดนบวก จึงมีโอกาสสูงที่จะรักษาเก้าอี้เอาไว้ได้ แต่อาจจะต้องระวังคู่แข่งรุ่นใหม่ไฟแรง “ทนายบอน” ณัฐนันท์ กัลป์ยาศิริ จากรวมไทยสร้างชาติ ซึ่งขยันลงพื้นที่อย่างหนัก
เขต 17 พื้นที่ความหวังหนึ่งเดียวของพรรคพลังประชารัฐ “ศิริพงษ์ รัสมี” แชมป์เก่า ที่มีหลายพรรคตามจีบ แต่ยังรักมั่นคงกับ “พล.อ.ประวิตร” คะแนนนิยมของ “ศิริพงษ์” ในเขตหนองจอก มีสูงกว่าผู้สมัครทุกคน คาดว่าจะสามารถฝ่าดงกระแสไปได้ไม่ยาก
เขต 18 พรรคกระแสแรง สู้กันเองระหว่าง “ไพโรจน์ อิสระเสรีพงษ์” จากเพื่อไทย “ธีรัจชัย พันธุมาศ” จากก้าวไกล แต่ห้ามมองข้าม “พีระพงษ์ รัสมี” ลูกชาย “ศิริพงษ์” จากพลังประชารัฐ ที่ถ่ายโอนคะแนนพื้นที่หนองจอกให้กันได้
เขต 19 ถึงเวลาทวงคืนเก้าอี้ สำหรับ “วิชาญ มีนชัยนันท์” จากเพื่อไทย อดีต ส.ส. กทม. เขตมีนบุรี หลายสมัย หลังสอบตกไปเมื่อปี 2562 โดยแพ้ให้กับ “ชาญวิทย์ วิภูศิริ” ซึ่งเที่ยวนี้เจ้าตัวไม่ขอลงชิงเก้าอี้ “วิชาญ” จึงมีโอกาสเข้าวิน แบบไร้คู่แข่ง
เขต 20 “ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์” จากเพื่อไทย ตีตราจองเก้าอี้ ส.ส. เขตลาดกระบังอีกสมัย มั่นใจจากในฐานเสียงที่เหนียวแน่น และกระแสพรรคเพื่อไทยคอยเกื้อหนุน ไม่ว่ามองเหลี่ยมไหนโอกาสที่ “ธีรรัตน์” จะสอบตกแทบไม่มีมี
เขต 21 พื้นที่ความหวังของพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจาก “กิตพล เชิดชูกิจกุล” อดีต สก. มีฐานเสียงมั่นคง แม้จะต้องสู้กับ “ประสิทธิ์ มะหะหมัด” แชมป์เก่าที่ย้ายค่ายจากพลังประชารัฐ ซบรวมไทยสร้างชาติ ซึ่งคาดว่า “กิตพล-ประสิทธิ์” จะขับเคี่ยวกันอย่างหนัก
เขต 22 แชมป์เก่า “ร.ต.ต.มณฑล โพธิ์คาย” หนึ่งในงูเห่าสีส้ม ที่ย้ายจากอดีตพรรคอนาคตใหม่ เข้าสังกัดภูมิใจไทย โอกาสรักษาเก้าอี้มีน้อยมาก โดยมี “ธกร เลาหพงศ์ชนะ” จากเพื่อไทย “สุภกร ตันติไพบูลย์ธนะ” จากก้าวไกล ก้าวขึ้นมาท้าชิง ขณะเดียวกันมี “จักรวี วิสุทธิผล” จากประชาธิปัตย์ เป็นตัวสอดแทรก
เขต 23 พรรคก้าวไกล เททิ้ง “สมเกียรติ ถนอมสินธุ์” เจ้าของพื้นที่เดิม ส่ง “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ แกนนำกลุ่มราษฎร ลงชิงแทน ทำให้ “สมเกียรติ” ต้องระหกไปอยู่กับพรรคชาติไทยพัฒนา โอกาสรักษาเก้าอี้จึงมีน้อย ทำให้ “กวีวงศ์ อยู่วิจิตร” จากเพื่อไทย มีโอกาสลุ้นเข้าวิน
เขต 24 “เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร” จากก้าวไกล ยังเป็นตัวเต็ง เนื่องจากลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และมีผลงานผลักดันกฎหมายสุราก้าวหน้า ส่วน “ศิลปวิชญ์ น้อยสมมิตร” จากเพื่อไทย หวังจะเบียดเข้าป้าย แต่ค่อนข้างยากพอสมควร
เขต 25 ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย-ก้าวไกล กระแสค่อนข้างแรง จึงค่อนข้างได้เปรียบคู่แข่ง โดย “กิตติพล รวยฟูพันธ์” จากเพื่อไทย “แอนศิริ วลัยกนก” จากก้าวไกล มีโอกาสคว้าเก้าอี้ ส.ส.
เขต 26 “สุวัฒน์ ม่วงศิริ” จากประชาธิปัตย์ หวังถอนแค้นทวงเก้าอี้ ส.ส. กลับมาให้ได้ การเลือกตั้ง สก. พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าตระกูลม่วงศิริ ที่ยึดเก้าอี้ สก. มาได้ มีโอกาสต่อยอดความสำเร็จ โดยมี “ศรัณยสัณฑ์ วีรกุลสุนทร” เพื่อไทย และ “ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์” จากก้าวไกล เป็นคู่แข่งที่น่ากลัว
เขต 27 “สากล ม่วงศิริ” จากประชาธิปัตย์ หมายมั่นปั้นมือกลับมานั่งเก้าอี้ ส.ส. ปิดจุดอ่อนจากความพ่ายแพ้เมื่อปี 2562 แทบทุกจุด แต่แชมป์เก่า “ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์” จากก้าวไกล มีผลงานในสภาโดดเด่น มีฐานเสียงเหนียวแนน มีกระแสพรรคมาช่วย ทั้ง “สากล-ณัฐชา” จึงสู้กันมันส์หยด
เขต 28 แชมป์เก่า “วัน อยู่บำรุง” ลูกชาย “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” ตกที่นั่งลำบากพอสมควร กระแสคนบางบอน อยากลองของใหม่มาแรง ทำให้ “รักชนก ศรีนอก” จากก้าวไกล ก้าวมาท้าชิงเต็มตัว ด้าน “วณิชชา ม่วงศิริ” จากประชาธิปัตย์ ต้องการสอดแทรกชิงเก้าอี้เช่นกัน
เขต 29 “กฤชนนท์ อัยยปัญญา” จากเพื่อไทย ถือตั๋วช้างเบียด “ผอ.หมู” เกรียงไกร จงเจริญ จนต้องมาสมัครในนามรวมไทยสร้างชาติ ทั้งคู่ต้องวัดกำลังภายในกันอย่างหนัก โดยมี “ทิสรัตน์ เลาหพล” จากก้าวไกล เป็นตัวสอดแทรก
เขต 30 “สุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา” จากเพื่อไทย วัดกระแสกับ “ธัญธร ธนินวัฒนาธร” จากก้าวไกล ซึ่งต้องจับตาโค้งสุดท้ายความนิยมของพรรคเพื่อไทย-ก้าวไกล ใครจะแรงกว่ากัน
เขต 31 “จิรวัฒน์ อรัญยกานนท์” จากเพื่อไทย มีโอกาสเข้าวินสูงกว่าใคร โดยมี “สิริน สงวนสิน” จากก้าวไกล รอจังหวะเสียบ โดยมีคะแนนตามติด
เขต 32 “วิลาศ จันทร์พิทักษ์” อดีต ส.ส. หลายสมัย จากประชาธิปัตย์ มีฐานคะแนนส่วนตัวพอสมควร สู้กับ “อารุม ตุ้มน้อย” จากเพื่อไทย และ “ปวิตรา จิตตกิจ” จากก้าวไกล เที่ยวนี้ ผู้สมัครต้องลุ้นกระแสพรรคกันหนัก
เขต 33 “จักรพันธ์ พรนิมิต” แชมป์เก่าย้ายจากพลังประชารัฐ สวมเสื้อภูมิใจไทย แม้ฐานเสียงเดิมยังอยู่ แต่กระแสสู้พรรคอื่นไม่ได้ มีโอกาสที่ “ธิติวัฐ อดิศรพันธ์กุล” จากเพื่อไทย “พงศ์พันธ์ ยอดเมืองเจริญ” จากก้าวไกล จะลุ้นเบียด เช่นเดียวกับ “รัดเกล้า สุวรรณคีรี” ลูกสาว “ไตรรงค์ สุวรรณคีรี” จากรวมไทยสร้างชาติ แอบลุ้นกระแส “ประยุทธ์” จะเทมาช่วยเช่นกัน
ทั้งหมดคือสถานการณ์ศึกชิง “เมืองหลวง” ที่ทุกพรรคมีเดิมพันศักดิ์ศรี ที่จะต้องชิงเก้าอี้ ส.ส. มาให้ได้ ทั้ง "ขั้วเสรีนิยม" คู่เดือดอย่าง “เพื่อไทย-ก้าวไกล” ที่กระแสแรง ไม่มีแผ่ว ก็หวังจะปิดสนามแข่ง
ขณะที่ขั้วอนุรักษนิยมที่ต้องแชร์กันหลายพรรค “พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ” พรรคพี่พรรคน้อง ก็หวังให้คะแนนอนุรักษ์นิยมไหลมาที่ตัวเอง โดยเฉพาะพรรคน้องที่มีกระแส“ประยุทธ์” เป็นจุดขาย ขณะที่ “ประชาธิปัตย์” ก็ตั้งความหวังกับผู้สมัครรุ่นเก๋า ส่วน “ภูมิใจไทย” ก็มุ่งมั่นอยากปักษ์ธง กทม.ให้ได้สักที่นั่ง
เกมเดือดในโค้งสุดท้าย ทำให้การช่วงชิง 33 เก้าอี้ กทม. ต้องสู้กันหนัก ชนิดไม่มีใครยอมใคร