จัดกำลังเฉียด 3,000 นาย คุมเลือกตั้งล่วงหน้า ห่วง สยามพารากอน ใช้สิทธิแน่น
บช.น.เตรียมความพร้อม จัดกำลังเฉียด 3,000 นาย ดูแลเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พ.ค. 66 นี้ พบหลายพื้นที่มีผู้ใช้สิทธิหนาแน่น ห่วง "สยามพารากอน"
วันที่ 6 พ.ค. 2566 ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผบช.น. พร้อมด้วย พล.ต.ต.โชคชัย งามวงศ์ รอง ผบช.น. ร่วมกันแถลงการเตรียมความพร้อม การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 ในการเลือกตั้งล่วงหน้า วันที่ 7 พ.ค. 2566 พล.ต.ต.โชคชัย เปิดเผยว่า พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. สั่งการให้ตนรับผิดชอบการดำเนินการดังกล่าว
ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีหน่วยเลือกตั้งนอกเขต มี 55 แห่ง จำนวน 1,421 หน่วย
- มีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ 809,748 คน
- ใช้ตำรวจ รปภ.หน่วย 1,550 นาย
ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีหน่วยเลือกตั้งในเขต มี 44 แห่ง จำนวน 54 หน่วย
- มีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์ 4,329 คน
- ใช้ตำรวจ รปภ.หน่วย 62 นาย
นอกจากนั้นยังมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เป็นชุดเคลื่อนที่เร็ว ชุดสืบสวน หาข่าว ชุดป้องกันปราบปราม และชุดสอบสวนการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ตลอดจน ชุดอำนวยการจราจรสถานที่เลือกตั้ง เป็นต้น
รวมใช้กำลังพลตำรวจดูแลการเลือกตั้งล่วงหน้าจำนวนทั้งสิ้น 2,997 นาย
“ในวันเลือกตั้งล่วงหน้าดังกล่าวมีสถานที่เลือกตั้งหลายแห่งที่มีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าจำนวนมาก เช่น
- เขตเลือกตั้งที่ 14 เขตบางกระปิ สถานที่เลือกตั้ง บริเวณ ม.รามคำแหง มีผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า จำนวน 52,771 คน
- เขตเลือกตั้งที่ 2 เขตปทุมวัน สถานที่เลือกตั้ง ภายในห้างสยามพารากอน ชั้น 5 มีผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า จำนวน 40,750 คน
- เขตเลือกตั้งที่ 5 เขตห้วยขวาง สถานที่เลือกตั้ง บริเวณสำนักงานเขตห้วยขวาง มีผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า จำนวน 28,344 คน
- เขตเลือกตั้งที่ 6 เขตดินแดง สถานที่เลือกตั้ง อาคารกีฬาเวสน์ 2 สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง มีผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า จำนวน 25,383 คน
- เขตเลือกตั้งที่ 9 เขตบางเขน สถานที่เลือกตั้ง บริเวณสำนักงานเขตบางเขน มีผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า จำนวน 26,251 คน เป็นต้น"
ส่วนการรับแจ้งคดีเกี่ยวกับการทำลายป้ายหาเสียงนั้น พล.ต.ต.โชคชัย กล่าวว่า ตั้งแต่เดือน ก.พ. – ปัจจุบัน ในพื้นที่ บช.น.รับแจ้ง จำนวน 28 ราย เสร็จสิ้นแล้วจำนวน 10 ราย อยู่ระหว่างสอบสวน จำนวน 18 ราย ส่วนมูลเหตุส่วนใหญ่เป็นเรื่องเมาสุราและมีอาการทางจิต รวมถึงภัยธรรมชาติจากลมพัด ยังไม่มีรับจ้างวานทำลายป้ายแต่อย่างใด
เมื่อถามมีจุดที่น่ากังวลหรือไม่ พล.ต.ต.โชคชัย กล่าวว่า จุดที่น่ากังวลได้ดำเนินการตรวจสอบเป็นจำนวนมากในพื้นที่ ม.รามคำแหง พื้นที่สน.หัวหมาก มีการจัดเตรียมจุดจอดรถและรถรับส่ง แต่จุดที่น่ากังวลในพื้นที่สยามพารากอน พื้นที่ สน.ปทุมวัน ส่วนพื้นที่ตั้งสำนักงานเขตต่างๆ ได้จัดหาที่จอดรถให้โดยประสานกับภาคเอกชนหาพื้นที่จอดรถ ขอให้เตรียมความพร้อมในการเดินทาง ทั้งนี้ ฝากไปถึงผู้ที่คิดจะทำลายป้าย จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนด้านการข่าวฝ่ายสืบสวนไม่พบจะภัยคุกคามวันเลือกตั้ง ส่วนกลุ่มมวลชนเห็นต่างมีเกิดขึ้นบ้างแต่ไม่ถึงขั้นที่จะเป็นเหตุร้ายแรงแต่อย่างใด ได้กำชับการปฏิบัติฝ่ายสืบสวนดำเนินการตรวจสอบ ด้าน พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวว่า บช.น.ได้เตรียมความพร้อมและมีมาตรการดูแล รักษาความปลอดภัย มีการระดมกวาดล้างอาชญากรรมฯ ก่อนการเลือกตั้ง ในห้วงวันที่ 4 - 13 พ.ค.66
ผลการระดมกวาดล้างอาชญากรรม ก่อนการเลือกตั้ง ในห้วงวันที่ 4 - 5 พ.ค.66
- ความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทั่วไป 1,034 คดี 1,056 คน จับกุมบุคคลตามหมายจับ 236 คดี 231 คน
- ความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 88 คดี 88 คน ของกลาง
- อาวุธปืน (ไม่มีทะเบียน) 28 กระบอก
- อาวุธปืน (มีทะเบียน) 31 กระบอก
- เครื่องกระสุนปืน 2,437 นัด
- ยาบ้า 25,740 เม็ด
- ยาไอซ์ 196.14 กรัม
- เคตามีน 81,016.67 กรัม
- เฮโรอีน 8.06 กรัม
- โคเคน 1.37 กรัม
ทั้งนี้ ทาง ผบช.น. ได้กำชับการปฏิบัติเพื่อความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้ง สิ่งที่น่าเป็นห่วงกรณีการดูแลการจราจรสำหรับการเลือกตั้งล่วงหน้า มีการจัดที่จอดรถและประชาสัมพันธ์ อย่างพื้นที่ห้างสยามพารากอน มีการจัดที่จอดรถบริเวณสนามศุภฯ เพิ่มเติม
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนให้ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยขอฝากประชาสัมพันธ์
ข้อกฎหมายที่มักพบเป็นความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ได้แก่
1.เล่นหรือจัดให้มีการการเล่นการพนันขันต่อใดๆ เกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง
2.ขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิดในเขตเลือกตั้ง ระหว่างเวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวันคือวันที่ 6 พ.ค.66 จนถึงเวลา 18.00 น. ของวันเลือกตั้งในวันที่ 7 พ.ค.66
3.นำบัตรเลือกตั้งที่ออกเสียงลงคะแนนแล้วแสดงต่อผู้อื่น เพื่อให้ทราบว่าตนได้ลงคะแนนเลือกหรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด
4.ระหว่างการออกเสียงลงคะแนน ห้ามใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใด ถ่ายภาพบัตรเลือกตั้ง เพื่อให้เห็นเครื่องหมายลงคะแนนในคูหาเลือกตั้ง
5.ห้ามจงใจทำเครื่องหมายโดยวิธีใดไว้ที่บัตรเลือกตั้ง นอกจากเครื่องหมายที่ลงคะแนน
6.ห้ามนำบัตรเลือกตั้งใส่ในหีบบัตรเลือกตั้ง โดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือกระทำการใดในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อแสดงว่ามีผู้มาแสดงตนเพื่อออกเสียงลงคะแนน โดยผิดไปจากความจริง หรือกระทำการใดอันเป็นเหตุให้มีบัตรเลือกตั้งเพิ่มขึ้นจากความจริง
หากพบเห็นผู้กระทำความผิดสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือแจ้งเรื่องร้องเรียน บช.น.ได้ตลอด 24 ชั่วโมง พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าว