ศึกสองขั้วชิงเก้าอี้ ‘นายกฯ’ จุดแข็ง-จุดอ่อน “ประยุทธ์” VS “แพทองธาร”

ศึกสองขั้วชิงเก้าอี้ ‘นายกฯ’  จุดแข็ง-จุดอ่อน “ประยุทธ์” VS “แพทองธาร”

ศึกสองขั้วชิงเก้าอี้ ‘นายกฯ’ จุดแข็ง-จุดอ่อน “ประยุทธ์” VS “แพทองธาร” ลุ้นสูตรจับขั้วตั้งรัฐบาลใหม่ โอกาสพรรคร่วมข้ามขั้ว

อีก 7 วัน คนไทยจะได้เข้าคูหากาบัตรเลือกตั้ง เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางของประเทศ ผ่านตัวแทนจากพรรคการเมืองที่เสนอตัวอาสาเข้ามาแก้ไขปัญหาของประชาชนและชาติบ้านเมือง 

ปรากฎการณ์เลือกตั้งครั้งนี้ เป็นอีกครั้งที่สภาพการเมืองไทย ถูกแบ่งเป็น “สองขั้ว” อย่างชัดเจน ขั้วหนึ่งถูกเรียกว่า “อนุรักษนิยม” อีกขั้วหนึ่งถูกเรียกว่า “เสรีนิยม” จนอาจไม่มีที่ยืนสำหรับการพรรคการเมืองที่พยายามจะเดินสายกลาง ก้าวข้ามความขัดแย้ง

พรรคการเมืองใน “ขั้วอนุรักษนิยม” ประกอบด้วย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นต้น โดยแต่ละพรรคมีจุดเด่น-จุดด้อย แตกต่างกันออกไป

กระแส พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ถือว่ายังยืนหนึ่งใน “ขั้วอนุรักษนิยม” และปิดประตูจับมือกับ “ขั้วเสรีนิยม” ซึ่งแตกต่างจากพรรคประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ที่พร้อมเป็นตัวเลือกเติมเสียงให้ได้ทั้งสองขั้ว

พรรคการเมืองใน “ขั้วเสรีนิยม” ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ เป็นต้น ขั้วนี้ก็มีจุดเด่น-จุดด้อย แตกต่างกันไปเช่นกัน

แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย แม้จะเป็นคนรุ่นใหม่ แต่แนวทางการเมืองยังต้องพิงหลัง “โทนี่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจจะไปได้ไม่สุดขั้ว เนื่องจากมีเงื่อนไขของผู้เป็นพ่อ เป็นตัวประกัน

แตกต่างจาก “ทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล ถึงจะลดเพดานบินลง เพื่อปูทางให้ “พรรคสีส้ม” ได้มีโอกาสร่วมจัดตั้งรัฐบาลในขั้วเสรีนิยม แต่ความระแวงของ “หัวขบวนอนุรักษนิยม” ไม่เคยลดลง

แม้กระแสของ “พิธา-ก้าวไกล” จะมาแรง แต่กระแส “แพทองธาร-เพื่อไทย” ก็ยังแรงไม่น้อยไปกว่ากัน และแคนดิเดตนายกฯ หญิง ยังได้เปรียบที่ฐานเสียงของเพื่อไทย มีมากกว่าก้าวไกล ทำให้ “แพทองธาร” ยังยืนหนึ่งใน “ขั้วเสรีนิยม”

ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้ จึงถูกคาดหมายว่า จะมีเพียง “สองคน-สองขั้ว” เท่านั้น ที่มีโอกาสชิงเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี” ท่ามกลางแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากหลายพรรคการเมือง

โดยเริ่มเห็นความชัดเจนแล้วว่า “พล.อ.ประยุทธ์” คือ เบอร์หนึ่ง “ขั้วอนุรักษนิยม” และ “แพทองธาร” เบอร์หนึ่ง “ขั้วเสรีนิยม” ที่ทั้งคู่มีเดิมพันสูงพอๆ กัน ในศึกเลือกตั้งครั้ังนี้ 

ศึกสองขั้วชิงเก้าอี้ ‘นายกฯ’  จุดแข็ง-จุดอ่อน “ประยุทธ์” VS “แพทองธาร”

“กรุงเทพธุรกิจ” เปรียบเทียบข้อดี ข้อเด่น ความได้เปรียบเสียเปรียบของว่าที่นายกฯ คนที่ 30 ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ และ แพทองธาร เพื่อประเมินแนวโน้มการเลือกตั้ง การจับขั้วจัดตั้งรัฐบาล เพื่อสะท้อนภาพการเมืองก่อนและหลังการเลือกตั้ง

จุดแข็ง : แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง “พล.อ.ประยุทธ์” มีประสบการณ์บนเก้าอี้นายกฯ เข้าปีที่ 9 แม้จะถูกค่อนขอดจากคนบางกลุ่ม แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า มีผลงานเชิงประจักษ์อยู่ไม่น้อย อาทิ การยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ  เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีจุดยืนเกี่ยวกับการปกป้องสถาบันฯ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ มีฐานกองเชียร์ บวกกับท่าทีแข็งกร้าว ดุดัน เอาจริงเอาจัง และตรงไปตรงมา ส่งผลให้เจ้าตัวมีแฟนคลับที่ชื่นชอบในตัวตนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ที่กระแสไม่มีแผ่ว

ศึกสองขั้วชิงเก้าอี้ ‘นายกฯ’  จุดแข็ง-จุดอ่อน “ประยุทธ์” VS “แพทองธาร”

สำหรับบทบาทภายในพรรครวมไทยสร้างชาติ พล.อ.ประยุทธ์สามารถคอนโทรลทุกอย่างได้เกือบทั้งหมด แตกต่างจากบทบาทในพรรคพลังประชารัฐ แม้จะพยายามส่งทีมเข้าไปร่วมขับเคลื่อนงานพรรค แต่ไม่สามารถผ่านด่าน “เด็กลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคไปได้  เมื่อตัดสินใจมาตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติเอง พล.อ.ประยุทธ์ จึงมีจุดแข็ง ที่ไม่มีใครเข้ามาแทรกแซงได้

อุ๊งอิ๊ง “แพทองธาร” ถือเป็น “คนรุ่นใหม่” มีแนวคิด มีไอเดีย ที่คนไทยโหยหาจากผู้นำยุคใหม่ อย่างไรก็ตามจุดแข็งที่สุดของ “แพทองธาร” คือกระแสของบิดา “ทักษิณ” ผู้เป็นแบ็คอัพให้ลูกสาว เคยประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายใหม่ๆ ให้กับประเทศ ซึ่งหลายนโยบายถูกต่อยอดเรื่อยมา จนถึงทุกวันนี้ ที่สำคัญนโยบายของ “ทักษิณ” ยังอยู่ในใจคนไทยหลายคน

ขณะเดียวกัน การคอนโทรลลูกพรรคเพื่อไทย ก็เป็นเอกภาพมากขึ้น ภายใต้การนำของ “แพทองธาร” เพราะไม่ต้องมีคนกลาง-ตัวเชื่อมมาคอยแปลงสารจากคำสั่งของคนแดนไกล และหากเกิดปัญหาภายในพรรค “แพทองธาร” ย่อมสามารถทุบโต๊ะเคาะจบได้ทันที จึงเป็นจุดแข็ง ที่มีได้เพียงคนเดียว ขณะเดียวกันก็เป็นจังหวะที่เธอได้เริ่มสร้างบารมีของตัวเอง ด้วยการเป็นผู้นำ

สำหรับลักษณะส่วนตัวของ “แพทองธาร” ไม่ใช่คนยอมใครง่ายๆ หนักเอา เบาสู้ แม้จะต้องอุ้มท้องหาเสีย หรือการแถลงข่าวกอบกู้กระแสพรรค ภายหลังคลอดเพียง 2 วัน “แพทองธาร” ไม่เคยใจเสาะ แถมยังอาสาทำด้วยตัวเอง

จุดอ่อน : ปฏิเสธไม่ได้ว่าการอยู่ในตำแหน่งนายกฯ ยาวนานเข้าปีที่ 9 ทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายในตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ พอสมควร จึงต้องการความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ คะแนนนิยมที่เคยสูงปรี๊ดในช่วงรัฐประหารใหม่ และในช่วงเลือกตั้งปี 2562 ค่อยๆลดน้อยลง พร้อมกับความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 

นอกจากนี้ยี่ห้อประยุทธ์ เวลานี้ก็ไม่ใช่คนกลางที่จะชูจุดขาย "สร้างความสงบ จบที่ลุงตู่" ได้อีก แต่กลับถูกมองว่า เป็นหนึ่งในเงื่อนไข ความขัดแย้ง ของการต่อสู้ทางการเมือง โดยเฉพาะ “คนรุ่นใหม่” หลากหลายกลุ่ม ไม่ใช่แค่ “กลุ่มราษฎร” เพียงกลุ่มเดียว ดังนั้นความหวังที่จะแต้มการเมืองจาก “คนรุ่นใหม่” ที่จะถ่ายโอนเป็นคะแนนเสียงให้ “พล.อ.ประยุทธ์-รทสช.” จึงแทบไม่มี

ภาพการเมืองระหว่าง 2 ตัวเลือกผู้นำคนต่อไป ต้องยอมรับว่า “ทักษิณ” เป็นทั้งจุดแข็ง และจุดอ่อนของ “แพทองธาร” เพราะแม้จะมีคนรักเยอะ แต่คนชังมีไม่น้อยเช่นกัน ที่สำคัญ “ทักษิณ” มีประเด็นเรื่องการกลับบ้าน-กลับประเทศไทย เป็นเดิมพันในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งจำเป็นต้องเปิดช่อง-เปิดดีลกับ “ขั้วขบวนอนุรักษนิยม”

จึงไม่แปลกที่ “แพทองธาร-เพื่อไทย” จะถูกไล่ต้อน ถามหาจุดยืน ในการจับมือกับ “ประวิตร-พลังประชารัฐ” จัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งคำตอบของ “แพทองธาร” ก็ยังคลุมเครือ ไม่มีความชัดเจนมากพอ ทำให้พรรคก้าวไกลเห็นช่อง ชิงธงประกาศ “มีลุง ไม่มีเรา  มีเรา ไม่มีลุง” ส่งผลให้กระแสเทไปที่พรรคก้าวไกล ตัดแต้ม “แพทองธาร-เพื่อไทย” ให้ลดน้อยถอยลง

ศึกสองขั้วชิงเก้าอี้ ‘นายกฯ’  จุดแข็ง-จุดอ่อน “ประยุทธ์” VS “แพทองธาร”

นอกจากนี้ “แพทองธาร” ยังโดนตั้งคำถามเรื่องประสบการณ์ เพราะการบริหารการเมือง ย่อมแตกต่างจากการบริหารธุรกิจอย่างแน่นอน เนื่องจากต้องประสานกับ “กลุ่มการเมือง-กลุ่มธรุกิจ-เครือข่ายอำนาจ” ที่มีผลประโยชน์แอบแฝงอย่างมหาศาล

นโยบายหลัก : 10 นโยบาย พร้อมทำทันทีของ “พล.อ.ประยุทธ์-รทสช.” ประกอบด้วย

1.เพิ่มสิทธิบัตรสวัสดิการพลัส เพิ่มสิทธิเดือนละ 1,000 บาท/คน กู้ฉุกเฉิน 10,000 บาท/คน 2.ตั้งกองทุนฉุกเฉินประชาชน วงเงิน 30,000 ล้านบาท 3.คืนเงิน 30% เงินสะสมชราภาพผู้ประกันตน มาตรา 33

4.แก้หนี้แช่แข็งหนี้ปลดหนี้ด้วยงาน 5.รื้อกฎหมาย ที่รังแกประชาชนและที่เป็นอุปสรรคการทำกิน 6.ลดหย่อนภาษี ค่ารักษาพยาบาลตนเองและพ่อ แม่รวมสูงสุด 60,000 บาท

7.เบี้ยตอบแทน อปพร. คนละ 1,000 บาท/เดือน 8.ออมเงินพร้อมลดหย่อนภาษีด้วยกองทุน LTF 9.ลดต้นทุน เกษตรกร ปุ๋ย น้ำมัน ไฟฟ้า ราคาถูก 10.ไม่เลิกเงินบำนาญ ให้ข้าราชการเลิกเงินสมทบ กบข. ได้ก่อน 30%

ด้าน “แพทองธาร-เพื่อไทย” มี 8 นโยบายหลัก ประกอบด้วย 1.ทุกครอบครัวมีรายได้ไม่น้อยกว่า 20,000 บาทต่อเดือน 2.เติมเงินให้ทุกคนใช้จ่ายใกล้บ้านผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลวงเงิน 10,000 บาท 3.ไทยเป็น Blockchain Hub และ FinTech Center ของอาเซียน

4.แก้ปัญหา PM2.5 ที่ทุกต้นตอ 5.เปิดประตูการค้า เสริมโอกาสการค้าต่างประเทศ 6.หนังสือเดินทางไทยเดินทางได้ทั่วโลก 7.ยกเลิกเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ สร้างทหารมืออาชีพสู่สังคม และ8.สิทธิความหลากหลายทางเพศ

ฐานเสียง : แฟนคลับของ พล.อ.ประยุทธ์ ส่วนใหญ่จะอยู่ช่วงอายุ “สูงวัย” เนื่องจากมีความผูกพันกับสถาบันหลักของชาติ ซึ่งเชื่อมั่นในจุดยืนอดีตนายทหาร ทำให้กลุ่มสูงวัยพร้อมเทใจให้พรรครวมไทยสร้างชาติ

ศึกสองขั้วชิงเก้าอี้ ‘นายกฯ’  จุดแข็ง-จุดอ่อน “ประยุทธ์” VS “แพทองธาร”

นอกจากนี้ ยังมีฐานเสียงค่อนข้างแข็งแกร่งในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีจำนวน ส.ส. 60 ที่นั่ง ซึ่งผลสำรวจของหลายสำนักโพลชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังยืนหนึ่ง ยึดหัวหาดพื้นที่ภาคใต้อย่างเหนียวแน่น

ส่วน แพทองธารพ่วงยี่ห้อ “ชินวัตร” มีฐานเสียงเหนียวแน่นและมั่นคงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (133 ที่นั่ง) ภาคเหนือ (37 ที่นั่ง) นอกจากนี้ ยังมีฐานเสียงจากมวลชนคนเสื้อแดง

โดยส่วนใหญ่แล้วฐานเสียงของ “แพทองธาร-เพื่อไทย” ยังอิงอยู่กับกลุ่มคนรักทักษิณ แม้จะมีความพยายามแย่งชิงฐานเสียง “คนรุ่นใหม่” จากพรรคก้าวไกล แต่ยังไม่สามารถทำให้เสียง “คนรุ่นใหม่” สวิงมาเลือก “แพทองธาร-เพื่อไทย” ได้มากพอตามที่วางเป้าหมายเอาไว้

แนวโน้มจับขั้วตั้งรัฐบาล : เป้าหมายของพล.อ.ประยุทธ์-รวมไทยสร้างชาติ คือการกวาดเก้าอี้ ส.ส. ให้ได้มากที่สุดใน “ขั้วอนุรักษนิยม” เพื่อแรงต่อรองทางการเมือง ต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิม

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังมีสัญญาลูกผู้ชายกับ “พี่ป้อม” ประวิตร ที่ให้คำมั่นระหว่างกันว่า รวมไทยสร้างชาติและพลังประชารัฐ พรรคใด ได้ ส.ส. มากกว่า ก็ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และมีโอกาสได้นั่งเก้าอี้นายกฯ 

อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องแย่งเก้าอี้ ส.ส. ในขั้วเดียวกัน โอกาสที่พรรคขั้วรัฐบาลเดิมจะรุกกินแดน “ขั้วเสรีนิยม” แทบไม่มี จำนวน ส.ส. ในถังเดิมจึงมีระหว่าง 220 - 250 ที่นั่งเท่านั้น ฉะนั้นการจะจับขั้วตั้งรัฐบาล ต้องอาศัยเสียง 250 ส.ว. มาช่วยเกื้อหนุนอีกคำรบหนึ่ง

สำหรับ “แพทองธาร-เพื่อไทย” โจทย์ใหญ่ต้องชนะเลือกตั้งแลนด์สไลด์ อย่างน้อยต้องได้ ส.ส. 253 ที่นั่งขึ้นไป เพื่อจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว และกดดันไม่ให้ 250 ส.ว. ต้องฝืนกระแสสังคม

หาก “เพื่อไทย” ได้ ส.ส. น้อยกว่า 250 ที่นั่ง จะเปิดทางให้พรรคการเมืองอื่นมาจับมือตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคการเมืองในขั้วเสรีนิยม โฟกัสหลักมองไปที่ “ก้าวไกล” แต่เงื่อนไขการแก้ไขมาตรา 112 แม้จะไม่ทะลุฟ้า เสนอยกเลิกเหมือนก่อนการเลือกตั้ง

ศึกสองขั้วชิงเก้าอี้ ‘นายกฯ’  จุดแข็ง-จุดอ่อน “ประยุทธ์” VS “แพทองธาร”

ทว่า “หัวขบวนเพื่อไทย” ต้องรีเช็ค “หัวขบวนอนุรักษนิยม” ให้ดี เพราะการรวมขั้วกับ “ก้าวไกล” ไม่ต่างจากการเอาไฟมาอยู่ใกล้ตัว แต่ก็มีบางกระแสมองว่า “เพื่อไทย-ก้าวไกล” สามารถร่วมขั้วกันได้ โดยที่ “หัวขบวนอนุรักษนิยม” ยอมหลิ่วตา

นอกจากนี้ ยังมีสูตร “เพื่อไทย” จับมือกับขั้วรัฐบาลเดิม อาทิ พรรคพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา เพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้เช่นกัน โดยเฉพาะการร่วมมือกับ “พล.อ.ประวิตร-พลังประชารัฐ” ที่สามารถบวกเสียง 250 ส.ว. ในปีกของ พล.อ.ประวิตร พ่วงมาให้ด้วย

ทั้งหมด คือจุดแข็ง จุดอ่อน นโยบายหลัก ฐานเสียง และแนวโน้มการจับขั้วตั้งรัฐบาล ของสองคู่ชิง “นายกรัฐมนตรี” ตัวจริง โดยวัดกันระหว่าง “พล.อ.ประยุทธ์” กับ “แพทองธาร” แม้จะมีชื่อแคนดิเดตรายอื่น มีลุ้นเป็นตัวเลือกของขั้วตัวเอง แต่สมการทางการเมืองในขณะนี้่ ยังโฟกัสไปที่ผู้นำสองขั้วตัวจริงเท่านั้น