กกต. กับ เส้นทางเสี่ยงคุก? | กันต์ เอี่ยมอินทรา
ถ้าพูดกันถึงความเสี่ยงในการติดคุกติดตะรางจากการปฎิบัติหน้าที่ (โดยมิชอบ) แล้วนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) น่าจะเป็นหนึ่งในเส้นทางอาชีพที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง
เพราะทุกสายตาก็ล้วนเฝ้าดูเฝ้าจับตาการทำงานของ กกต. อันเนื่องมาจากเป็นผู้รักษากฎกติกาและอำนวยการเลือกตั้งให้เที่ยงธรรมมากที่สุด และบทเรียนในอดีตก็ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า มีความพยายามจากฝ่ายผู้กุมอำนาจทางการเมืองเพื่อเข้าแทรกแซง กกต. เพื่อให้คุณให้โทษกับคู่แข่ง และหาก กกต. ไม่เข้มแข็ง ยอมโอนอ่อนผ่อนตามอำนาจนั้น ผลร้ายและความเสี่ยงก็จะตกสู่ตัว กกต. เอง
กรณีอดีต กกต. 3 คน ได้แก่ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ นายปริญญา นาคฉัตรีย์ และนายวีระชัย แนวบุญเนียร ที่ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก อันเนื่องมาจากการเอื้อประโยชน์แก่พรรคการเมืองอย่างไม่ถูกต้อง ถูกตัดสินจำคุกคนละ 3 ปีและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี ถือเป็นกรณีศึกษาที่ไม่ควรมองข้าม
อดีต กกต. ทั้ง 3 คนนี้ ถือเป็นข้าราชการประจำที่ล้วนประสบความสำเร็จในเส้นทางอาชีพ พล.ต.อ.วาสนา เป็นข้าราชการตำรวจที่ไม่ได้จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ แต่ก็ไต่เต้าในสายราชการจนเป็นระดับพลตำรวจเอก และผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และยังทะยานสู่ตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.)
ส่วนนายปริญญาและนายวีระชัย เป็นอดีตข้าราชการกระทรวงมหาดไทย มีการศึกษาที่โดดเด่นจบการศึกษาจากเมืองนอก และได้ดีจนเป็นถึงผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงฯ ผ่านประสบการณ์การเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดี และรองปลัดมหาดไทย
เป็นที่น่าเสียดายอย่างมากที่ชื่อเสียงคุณงามความดีที่สั่งสมมาตลอดระยะเวลาราชการรับใช้ประเทศนั้น ถูกบดบังด้วยคำพิพากษาให้ติดคุกกลายเป็นนักโทษชาย เสื่อมเสียชื่อเสียงไม่เพียงเฉพาะกับตัวเอง แต่ยังรวมถึงวงศ์ตระกูล
คุ้มหรือไม่ ที่ผลงานประวัติที่ดี ตลอดจนความมุ่งมั่นอดทนในการรับใช้ประเทศอย่างยาวนานหลายสิบปี จะแลกมาด้วยชื่อเสียจากการโอนอ่อนผ่อนตาม และความไร้สามารถในการทัดทานอำนาจของฝ่ายการเมืองจนทำให้เกิดความไม่เที่ยงธรรม ไม่สุจริตในการทำงาน ระหว่างการสวมหัวโขนช่วงสั้น ๆ ในฐานะ กกต.
คุ้มหรือไม่ ที่จะให้ประวัติศาสตร์จารึกไว้ว่า ชื่อนามสกุลบุคคลเหล่านี้คือ ความอับอายในช่วงมืดมิดของประชาธิปไตย?
ในปัจจุบัน ถือเป็นการยากที่จะเอาผิดกับ กกต. เพราะมีกฎหมายคุ้มครองการทำหน้าที่ของ กกต. อยู่ “หากได้กระทำโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครอง ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง” ซึ่งหากสรุปโดยนัยคือ จำเป็นต้องหาหลักฐานพิสูจน์เจตนาที่ “ไม่สุจริต” นั้นให้ได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ยาก แต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้
เสียงบ่นแห่งความไม่พอใจกับการทำงานที่ผิดพลาดของ กกต. เริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ และถูกจับตาจับผิดมาโดยตลอด ตั้งแต่การเลือกตั้งใหญ่คราวก่อน ซึ่งก็มีหลายฝ่ายยังคงกังขากับการทำหน้าที่ และการคิดคะแนนจนกระทั่งการคำนวณสูตรการคำนวณ ส.ส. ซึ่งก็เป็นบทเรียนให้กับทั้ง กกต. พรรคการเมือง และประชาชน
เสียงบ่นแห่งความไม่พอใจในการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันอาทิตย์ (7 พ.ค.) ที่ผ่านมา ถูกสะท้อนผ่านแคมเปญ “ร่วมกันลงชื่อถอดถอน กกต.” ผ่าน change.org ซึ่งขณะนี้ได้มีผู้ลงเสียงสนับสนุนแคมเปญนี้แล้วกว่า 1,263,285 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 10 พ.ค.)
ประชาชนทุกคนล้วนให้กำลังใจ กกต. เพื่อให้ทำงานได้อย่างโปร่งใสเที่ยงธรรม ขณะเดียวกับ ประชาชนก็จับตาทุกฝีก้าวของ กกต. เพื่อให้ทำงานอย่างโปร่งใสเที่ยงธรรมเช่นกัน